xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อไหม? ในลาวมีมนุษย์อาศัยอยู่ 5 แสนปีมาแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงเทพฯ- ในเวลา 30 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบใหม่ ในลาวได้พยายามเก็บรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งทำให้ทราบว่าในดินแดนที่เป็นประเทศลาวในปัจจุบันนี้ เคยมีการค้นพบกะโหลกศีรษะมนุษย์โบราณที่มีความเก่าแก่ถึง 500,000 ปี

กะโหลกของมนุษย์โบราณดังกล่าวถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่เป็นดินแดนแขวงหัวพันในภาคเหนือของประเทศในปัจจุบัน แต่กะโหลกชิ้นนั้น รวมหลักฐานสำคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ จำนวนมากถูกนำออกจากประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยเจ้าอาณานิคมจากตะวันตก

แต่ในวันนี้ในแขวงต่างๆ ของลาวเหนือจรดใต้ ก็ยังร่ำรวยไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่เพิ่งค้นพบใหม่ๆ ในช่วง 30 ปีหลัง ซึ่งรวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ที่ถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่อยู่บนหน้าผาริมฝั่งแม่น้ำโขงทางภาคกลางของประเทศ

จากการตรวจสอบอายุด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ได้พบว่า โครงกระดูกชิ้นนี้มีอายุราว 10,000 ปี และได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติลาว ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์

มันบอกให้รู้ว่าอาณาเขตที่เป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทุกวันนี้ เป็นดินแดนที่มีมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ติดต่อกันมาตั้งแต่ 500,000-10,000 ปีมาแล้ว กะโหลกศีรษะชิ้นนั้นอาจจะใหม่กว่า “มนุษย์ปักกิ่ง” หรือ “มนุษย์ชะวา” แต่ก็ร่วมสมัยหรือเก่าแก่พอๆ กับโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่บ้านเก่า อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

นอกจากนั้นยังมีการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ และขวานโบราณในแขวงสะหวันนะเขตด้วย รวมทั้งเสาหินขนาดใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 2,500-3,000 ปี ที่ถูกค้นพบอยู่ในแขวงหัวพันเมื่อ 30 ปีแล้วด้วย

เมื่อปีที่แล้วนักโบราณคดีลาวได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ถูกฝังอยู่บนหน้าผาหินในเมืองคำเกิด แขวงบอลิคำไซ อันเชื่อว่าโครงกระดูกดังกล่าวน่าจะเป็นของบุคคลระดับผู้นำเพราะถูกฝังไว้บนหน้าสูง นับเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในลาวก็ว่าได้

การสำรวจที่ยอดเยี่ยมอีกงานหนึ่งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาก็คือ การค้นพบเมืองโบราณในเวียงจันทน์ และเสดถาปุระ (Sethapoura) ในแขวงจำปาสัก ซึ่งพบกำแพงเมืองเก่าที่สร้างขึ้นจากอิฐดินเผา และหิน อันเป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่จริงของเมืองเสดถาปุระว่าก่อตั้งในศตวรรษที่ 5 ระหว่างยุคชาวเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับผู้ที่สร้างวัดภู

นายบุนเฮือง แสงสีแสงปะเสิด (Mr Bouanheuang Sengsisengpaseuth) ผู้ช่วยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) กล่าวว่า พวกเขากำลังทำการสำรวจบริเวณฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพราะได้มีบันทึกเกี่ยวกับโบราณคดีระบุไว้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มานานกว่า 10,000 ปี

“เราพบหิน กระดูกสัตว์ อันเป็นหลักฐานว่ามีมนุษย์ยุคโบราณอาศัยอยู่ในถ้ำ อีกทั้งยังพบสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นในบริเวณเฉพาะแขวงหลวงพระบางเพียงอย่างเดียว 57 แห่ง” นายบุนเฮือง กล่าว

ทั้งนี้นักโบราณคดีลาว ได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับองค์การองค์การร่วมมือทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ภายใต้การสนับสนุนจากผู้นำ และรัฐบาล ในการผลักดันให้เมืองหลวงพระบาง และวัดภู ในแขวงจำปาสักเข้าเป็นหนึ่งในสถานที่มรดกโลกในปี 2540 และ 2543 รวมทั้ง “ทุ่งไหหิน” ภาชนะที่มีอายุระหว่าง 2,500-3,000 ปี ด้วย

ถึงแม้ว่านักโบราณคดีต้องเผชิญกับความท้าทาย และความยากลำบากเพราะขาดเงินทุนในการสนับสนุน พวกเขาก็ไม่เคยหยุดการทำงาน ตรงกันข้ามพวกเขากลับพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ นำมาบูรณะ และอนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าของชาติ

"ทางพรรค และรัฐบาลต่างก็กำลังพยายามเรียกร้องให้ชาวบ้านร่วมมือกันเพื่อช่วยปกป้อง และอนุรักษ์ทรัพย์สมบัติของชาติ ซึ่งคิดว่าประชาชนลาวก็คงเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของวัตถุ และแหล่งทางโบราณคดีเหล่านั้นแล้ว" นายบุนเฮือง กล่าว.




กำลังโหลดความคิดเห็น