ผู้จัดการรายวัน- ในช่วง 2 ปีมานี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมกับเจ้าหน้าที่ทางการจังหวัดต่างๆ ตามแนวชายแดนติดกับกัมพูชาได้พบหลุมฝังศพของทหารเวียดนามที่เสียชีวิตในกัมพูชาจำนวน 11,380 แห่ง แต่เจ้าหน้าที่ก็เพิ่งจะเก็บกระดูกและเศษซากอื่นๆ ของทหารหาญเหล่านั้นจากหลุมศพได้เพียง 1,599 หลุมเท่านั้น
นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เพิ่งจะสามารถระบุชื่อและตัวตนของทหารที่เสียชีวิตได้เพียง 46 กรณี เรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงนี้ได้รับการเปิดเผยระหว่างการประชุมสรุปและทบทวนการปฏิบัติงานร่วมกันในช่วงปี 2547-2548 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าววีเอ็นเอของทางการเวียดนาม
การประชุมจัดขึ้นในเมืองนครด่าหนัง (Danang) โดยการเป็นประธานของนายพลโทอาวุโส เหวียนวันริง (Nguyen Van Rinh) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการค้นหาศพทหารที่เสียชีวิต เพื่อจะนำอัฐิและเศษสิ่งของต่างๆ ของผู้ตายกลับบ้านเกิด
คณะกรรมการได้ตั้งเป้าที่จะนำกระดูกของทหารที่เสียชีวิตกลับจากกัมพูชาไห้ได้ 1,650 กรณีในช่วงฤดูแล้งปี 2548-2549 นี้
พล.ท.เลข่าเฟียว (Le Kha Phieu) อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เคยเปิดเผยในปี 2532 เมื่อครั้งเวียดนามถอนทหารชุดสุดท้ายออกจากกัมพูชาว่า มีทหารเวียดนามเสียชีวิตกว่า 50,000 คน ระหว่างปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ ในนั้นกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากเหตุเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไข้มาลาเรีย
ในช่วงนั้น พล.ท.เลข่าเฟียว ยังมียศเป็น พลตรี ในตำแหน่งรองหัวหน้ากรมใหญ่การเมืองกองทัพประชาชนเวียดนาม
เวียดนามส่งกองทัพข้ามพรมแดนเข้ากัมพูชา และสามารถรุกเข้ายึดกรุงพนมเปญได้ในวันที่ 7 ม.ค. 2522 รัฐบาลและพลพรรคของระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยของพวกคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมาที่รู้จักกันในชื่อ "เขมรแดง" ต้องถอยร่นเข้าเขตป่าเขา เริ่มทำสงครามกองโจรต่อต้านเวียดนาม
กองทัพเวียดนามก็ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงสามารถถอนตัวออกมาได้ โดยที่ยังไม่สามารถกำจัดกองกำลังของฝ่ายเขมรแดงลงได้
สถานการณ์การเมืองโลกที่เปลี่ยนไปในช่วงนี้ ประกอบกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นผู้นำของคอมมิวนิสต์อีกค่ายหนึ่ง ได้ทำให้ทุกฝ่ายหันมาออมชอมกัน และให้องค์การสหประชาชาติเข้าไปจัดการกับปัญหากัมพูชาฝนปี 2533 ซึ่งนำมาสู่การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2536
การค้นหาศพของทหารเวียดนามที่เสียชีวิตและนำกลับบ้าน ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้.