xs
xsm
sm
md
lg

"จำปาลาว" เถื่อนลักลอบส่งไทย เหตุ "ลีลาวดี" ต้นใหญ่ขาดแคลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน - พ่อค้า-นักธุรกิจและวงการไฮโซของไทยเห่อต้นจำปาลาว ดอกไม้ประจำชาติของลาว แห่สอบถามสถานทูตหาทางนำเข้าทั้งๆ ที่ทางการลาวห้ามส่งออก เพราะเกรงชาวบ้านจะบุกรุกวัดหรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อขุดต้นไม้ประจำชาติส่งขายไทย ซึ่งราคาขายอาจจะสูงถึงต้นละแสนบาท ที่ชายแดนหนองคายเปิดให้สั่งจองกันเป็นล่ำเป็นสัน

เรื่องราวดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากนายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ของไทยประจำกรุงเวียงจันทน์ รวมทั้งผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในประเทศไทย

นายเฉลิมพลเปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่ามีพ่อค้าต้นไม้และนักธุรกิจที่มีฐานะของไทยจำนวนมากติดต่อไปยังสถานทูตไทย เพื่อให้ช่วยหาพ่อค้าชาวลาวที่เพาะพันธุ์ต้นจำปาลาวขายหรือแหล่งขายต้นจำปาลาวขนาดใหญ่ แต่ทางด้านสถานทูตได้แจ้งกลับไปว่าการกระทำดังกล่าวผิดต่อกฎหมายของลาว

นายบุนเทียน แก้วสีพา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ประจำสถานทูตลาวในกรุงเทพฯ กล่าวต่อ "ผู้จัดการรายวัน" ว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไม่อนุญาตให้นำต้นจำปาลาวออกนอกประเทศ เนื่องจากเป็นต้นไม้ประจำชาติ และเชื่อว่าที่มีมาจำหน่ายในประเทศไทยนั้นเป็นการค้านอกระบบ

นายบุนเทียนกล่าวว่าสาเหตุที่ทางการลาวห้ามส่งออกนั้น นอกจากจะไม้ชนิดนี้จะเป็นไม้ที่มีเกียรติเป็นของคู่ชาติลาวแล้ว ทางการยังเกรงว่าหากอนุญาตให้มีการส่งออกอาจจะมีคนแอบไปขุดตามวัดหรือสถานที่ราชการที่มีต้นจำปาลาวปลูกอยู่จำนวนมาก

ในช่วงที่ดอกจำปาลาวถูกเรียกว่า "ดอกลั่นทม" นั้น ดอกไม้ชนิดนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ถึงแม้ว่าใบ ลำต้นและดอกจะมีความสวยงามก็ตาม เนื่องจากคนไทยเชื่อว่าชื่อ "ลั่นทม" นั้นไม่เป็นมงคล แต่หลังจากที่เปลี่ยนชื่อเป็นลีลาวดีทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

ตามราคาซื้อในตลาดปัจจุบันนั้น กิ่งชำต้นจำปาลาว 1 กิ่ง ราคาอาจอยู่ที่หลักร้อย ส่วนที่เป็นต้นแข็งแรงแล้วนั้นราคาจะอยู่ระหว่างต้นละ 5,000-30,000 บาทเลยทีเดียว ยิ่งถ้าหากลำต้นจำปาลาวอายุมากกว่า 30 ปี อาจจะมีราคาสูงนับแสนบาท

ในปัจจุบันตามโรงแรม สปา และรีสอร์ต นิยมนำ "ต้นลีลาวดี" ที่มีขนาดใหญ่ไปเป็นต้นไม้ประดับตกแต่ง ทำให้เกิดขาดตลาดในประเทศ ผู้ประกอบการจึงต้องหันไปพึ่ง "ต้นจำปา" ขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่พ่อค้ารายย่อยชาวลาวเองจำนวนไม่น้อยก็ลักลอบนำกิ่งชำออกมาขาย

พ่อค้าที่เพาะกิ่งชำลีลาวดีในกรุงเทพฯ รายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า เริ่มมีการเข้าไปนำต้นจำปาลาวเข้ามาขายในไทยเมื่อ 4-5 ปีนี่เอง โดยพ่อค้าที่รายย่อยจะซื้อต้นไม้จากต่างถิ่นแล้วนำเข้าสู่ตลาดในกรุงเทพฯ และต่อมาก็หาทางนำเข้าต้นลีลาวดีขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถจะหาต้นขนาดใหญ่ในประเทศสนองความต้องการของตลาดได้

สื่อของลาวเองก็ติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์เคยรายงานว่า ต้นไม้ประจำชาติของลาวกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งตามปกติแล้วคนลาวจะนำดอกไม้ดังกล่าวมาประดับตกแต่งในพิธีการ นำไปถวายพระ หรือ ใช้ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เท่านั้น

ชาวลาวเชื่อว่าหากปลูกต้นจำปาลาวเอาไว้จะทำให้อายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง จึงนิยมปลูกกันเป็นอย่างมากในบริเวณบ้าน ส่วนสถานที่ราชการและวัดของลาวมักจะปลูกไม้ชนิดนี้เพื่อให้ร่มเงาด้วยเช่นกัน ทำให้ในลาวมีต้นจำปาลาวที่มีขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตนครหลวงเวียงจันทน์

นอกจากจะนำต้นจำปาลาวไปประดับตกแต่งสวนแล้ว ดอกของมันยังนิยมนำไปชุบแป้งทอดเป็นอาหารขึ้นเหลา ภัตตาคารบางแห่งในกรุงเทพฯ มีเมนู "ดอกลีลาวดีทอด" ราคาค่างวดสูงถึงจานละ 300 บาท โดยหนึ่งจานมีเพียงแค่ 10 ดอกเท่านั้น

ดอกลีลาวดียังมีกลิ่นหอมละมุน ปัจจุบันเป็นที่นิยมนำไปสกัดเป็นส่วนผสมของเครื่องหอมในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกไม้และต้นไม้ชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดสูงขึ้นทุกวันๆ

ที่บริเวณจุดผ่อนปรนไทย-ลาว บ้านจุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการนำเข้าต้นจำปาลาวจากฝั่งลาว โดยวางจำหน่ายกิ่งชำตามทางเท้ากันอย่างคึกคัก นอกจากนี้ยังมีพ่อค้ารับจัดหาต้นจำปาตามขนาดที่ต้องการในฝั่งไทยอีกด้วย ทั้งนี้เป็นรายงานของ "ศูนย์ข่าวขอนแก่น/ผู้จัดการรายวัน"

แม่ค้าชาวลาวรายหนึ่งกล่าวว่า เธอจะตัดต้นจำปาให้ได้ขนาดแล้วนำลงเรือข้ามน้ำโขงมายังจุดนัดหมาย ซึ่งข้อตกลงในการซื้อขายสำคัญอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายผู้รับซื้อซึ่งเป็นคนไทยต้องนำรถไปรอรับต้นจำปาที่ริมตลิ่งฝั่งโขงและจ่ายเงินทันที โดยติดต่อค้าขายผ่านทางโทรศัพท์

"ถึงแม้การลักลอบขายต้นจำปาลาวจะเสี่ยง เพราะหากถูกจับได้จะต้องจ่ายค่าปรับหลายแสนกีบแต่เพราะราคาที่ล่อใจขายได้ครั้งละหลายพัน หลายหมื่นบาท ก็เป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า" แม่ค้าชาวลาวรายเดียวกันระบุ

นายคำภา ทะจุมพล เจ้าหน้าที่การค้าลาวของลาวที่ชายแดน จ.หนองคาย กล่าวกับ "ศูนย์ข่าวขอนแก่น/ผู้จัดการรายวัน" ว่า การนำต้นจำปาออกขายนั้นมีทั้งข้อดี คือถ้าจะมองในแง่การส่งเสริมเศรษฐกิจก็สามารถสร้างรายได้แก่ชาวลาวได้ดี แต่เนื่องจากต้นจำปาลาวเป็นต้นไม้ประจำชาติลาว เป็นของสูงที่ไม่สามารถนำมาค้าขายได้ จึงต้องมีการออกกฎหมายห้ามส่งออก


กำลังโหลดความคิดเห็น