ผู้จัดการรายวัน - ลาวกำลังเผชิญกับปัญหาสถานบันเทิง ร้านอาหาร และนักดนตรีต่างหันไปให้ความนิยมกับเพลงต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศไทย ที่เข้าไปตีตลาดในทุกหัวระแหง คนวงการดนตรีลาวระบุปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากศิลปินชอบคิดกันว่าหากใครเล่นเพลงต่างประเทศได้จะได้รับคำชมเชยจากผู้ฟัง พร้อมกับแนะให้เอาอย่าง รมว.ต่างประเทศ ที่ขึ้นเดี่ยวเพลง "กุหลาบปากซัน" ในงานเลี้ยงรัฐมนตรีอาเซียน
หนังสือพิมพ์ "เวียงจันทน์ใหม่" สื่อของทางการนครหลวงเวียงจันทน์ ได้ตีพิมพ์บทความวิพากษ์เรื่องดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ "ควรมีความภาคภูมิใจในเพลงของบ้านเรา" ซึ่งมีเนื้อหาว่าในปัจจุบันตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ศูนย์การแสดงสินค้ามักจะนิยมเปิดเพลงต่างประเทศ ทั้งๆ ที่วงการเพลงของลาวก็มีการพัฒนาไปเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
บทความที่เขียนโดย "ปันยา พันทะพานิด" ได้ตั้งข้อสังเกตว่าสถานีวิทยุของลาวต่างเปิดเพลงจากศิลปินของลาวทั้งกลุ่มและเดี่ยวอยู่ตลอด แต่กลับไม่มีวงดนตรีตามผับแกะเนื้อร้องและทำนองมาเล่นกัน ผิดกับเพลงจาก "อีกฟากหนึ่งของฝั่งโขง" ที่ออกวางแผงเพียงไม่กี่วัน นักดนตรีก็สามารถร้องและเล่นได้ตรงกับต้นฉบับทีเดียว
"ทั้งๆ ที่เพลงลาวที่คนหนุ่มสาวนิยมฟังก็มีมากมาย แต่ไม่นำมาเปิด หรือยังไม่ให้ความสำคัญ จนบางครั้งหลงคิดไว้ว่ากำลังเดินอยู่ในร้านที่ฝั่ง (โขง) ทางด้านโน้น" บทความในเวียงจันทน์ใหม่อ้างถึงบรรดาร้านค้าที่ยังนิยมเปิดเพลงไทย
บทความได้อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายเขียนเพ็ด ทิบพะมอน มือคีย์บอดวง "เทกโน" ซึ่งเล่นประจำอยู่ตามบาร์ในนครหลวง โดยนายเขียนเพ็ดให้ความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนักดนตรีนั้น เป็นการหลงระเริงคิดว่าการนำเพลงต่างชาติมาเล่นเป็นความโก้หรู ส่วนการร้องและเล่นเพลงลาวถือว่าเป็นการล้าสมัย
ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานและยังคงแพร่ขยายในหมู่วงดนตรีที่เล่นสดตามร้านที่มีวัยรุ่นไปใช้บริการจำนวนมาก เนื่องจากบางวงไม่มีโอกาสได้ผลิตอัลบั้มของตัวเอง หรือนักร้องบางคนก็เคยออกอัลบั้มมาแล้วแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงนำเพลงที่โด่งดังอยู่แล้วมาร้องเล่นก็จะมีคนรับฟังมากกว่า
"การร้องและเล่นเพลงลาวนั้นนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความภูมิใจแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมเพลงลาวอีกด้วย รวมถึงยังเป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาติลาว คนลาวที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ขณะที่การนำเพลงต่างชาติมาเล่นโดยไม่ให้ผิดโน้ตแม้แต่ตัวเดียวที่คนเล่นถือว่าเป็นการดีเด่นต่างหากที่เป็นสิ่งที่ผิด เพราะนอกจากจะไม่มีความนิยมในชาติของตนแล้ว บางทีเจ้าของเพลงตัวจริงอาจยืนยิ้มอยู่ข้างหลังก็เป็นได้" ในตอนท้ายของบทความได้ระบุ
นอกจากปัญหาการนำเพลงต่างประเทศมาเล่นแล้ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการก่อเกิดของดนตรีป็อปและฮิปฮ็อปในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ จนทำให้ผู้ผลิตเพลงพื้นเมืองหวั่นเกรงจะสูญเสียตลาดให้กับดนตรีแนวใหม่ โดยปัจจุบันแฟนเพลงเก่าแก่หนาแน่นในต่างจังหวัดเท่านั้น
ผู้สื่อข่าว "ผู้จัดการรายวัน" ที่เดินทางไปติดตามทำข่าวการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในเวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวว่า ไม่ว่าจะเดินไปตามตลาดอย่างตลาดเช้าหรือตลาดสดที่อยู่ใกล้เคียง ก็จะได้ยินบรรดาพ่อค้าแม่ขายนั่งฟังเพลงไทยและร้องตามอย่างมีความสุข
บรรดาร้านขายซีดีหรือเทปเพลงเกือบทุกร้านจะมีเพลงไทยขายอยู่บนแผง และมีจำนวนมากกว่าเพลงของลาวเสียอีก บางร้านถึงกับรับทำแผ่นก็อบปี้ทั้งเพลงไทย เพลงภาษาอังกฤษ และเพลงลาวออกวางจำหน่ายแบบโจ๋งครึ่ม โดยไม่เกรงกลัวต่อเรื่องลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
ส่วนร้านอาหารหรือผับที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปกินดื่มอยู่เป็นจำนวนมากก็จะเปิดเพลงภาษาอังกฤษ เพื่อเอาใจลูกค้าซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ขณะที่ผับใต้โรงแรมล้านซ้างซึ่งมีการเล่นดนตรีสด แม้จะมีการเล่นเพลงพื้นเมืองของลาวบ้าง แต่ก็ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับเพลงต่างประเทศ
หนังสือพิมพ์ "เวียงจันทน์ไทมส์" เคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันผู้ที่มีวัยเลย 30 ปีไปแล้วที่อยากจะดื่มด่ำเพลงลาวพื้นเมืองและแนวรำวงในที่สาธารณะ มีโอกาสสูงที่จะถูกบรรดาวัยกระเตาะเรียกว่าพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี และเพลงประเภทนี้ก็หาฟังได้ยากเต็มทนบนคลื่นวิทยุเอฟเอ็มของลาว
อย่างไรก็ตาม ลาวยังมีบุคคลในวงการเมืองที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กรุ่นใหม่ อย่างนายสมสะหวด เล่งสะหวัด รัฐมนตรีต่างประเทศของลาว ที่เป็นคนหนึ่งซึ่งชื่นชอบการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ และในงานเลี้ยงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ได้ขึ้นเวทีไปวาดลวดลายเพลง "กุหลาบปากซัน" ให้กับรัฐมนตรีและผู้แทนจากประเทศอื่นๆ ได้รับฟัง และในการประชุมอีกหลายๆ ครั้งที่ รมว.ต่างประเทศมักจะนำเพลงลาวเพลงนี้ไปเผยแพร่อยู่เสมอ
นอกจากนี้ในค่ำคืนดังกล่าวทางการลาวยังเชื้อเชิญให้บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนของบางประเทศขึ้นไปฟ้อนรำวงแบบดั้งเดิมร่วมกับสาวลาว จนเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาคนที่มาร่วมประชุมเป็นอย่างมาก