ฮานอย - ในปัจจุบันประชาชนเวียดนามราว 850 ครอบครัวในภาคกลางของประเทศกำลังใช้หม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์ แทนการใช้ฟืนหรือถ่านเป็นเชื้อเพลงอย่างที่คุ้นเคย นี่เป็นฝีมือของนักวิทยาศาสตร์ 2 นาย
นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โครงการประยุกต์ใช้เครื่องทำความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ขององค์การ Solar Serve โดยนายเยวืองเติ่นบิ๊ก (Duong Tan Bich) ชาวเวียดนาม กับนายโยฮานส์ แวน บี๊ค (Johannes Van Beek) ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ
ในการประดิษฐ์หม้อหุงข้าวสุริยะ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เป็นพลังงานทดแทนถ่านกับไม้ฟืน
นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองนาย สามารถฝ่าอุปสรรสำคัญต่างๆ ที่เมื่อก่อนนี้จะไม่สามารถควบคุมได้ เช่น แสงแดดกับความชื้น และได้ประดิษฐ์หม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์ต้นแบบขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในเวียดนาม
ในปีพ.ศ. 2547 นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองได้ประดิษฐ์หม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์แบบที่ 2 ขึ้นมา ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือของวิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งนครด่าหนัง หม้อรูปทรงโค้งมนสามารถให้ความร้อนสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองนายประดิษฐ์หม้อหุงข้าวรุ่นใหม่จำนวน 50 ใบแรก จากนั้นก็นำไปให้ชาวนาในเขตภาคกลางของประเทศทดลองใช้ โดยไม่คิดมูลค่า บุคคลทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากทางการของจังหวัด ซึ่งตระหนักดีว่าหากป่าในอาณาบริเวณถูกทำลายลง ทุกคนก็จะต้องเผชิญหน้ากับภัยแห้งแล้งอย่างแสนสาหัส
ก่อนหน้านี้หม้อหุงข้าวสุริยะของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองนาย ถูกนำออกแจกจ่ายชาวบ้านที่ยากไร้ในเขตนครด่าหนัง จ.กว่างนาม และ จ.นิงทวน ไปแล้ว ซึ่งชาวบ้านบอกว่า หม้อสุริยะทำให้สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลงได้อย่างน้อยเดือนละ 200,000 ด่ง (ประมาณ 13 ดอลลาร์สหรัฐ)
ชาวบ้านกล่าวว่า มีเพื่อนบ้านของเขากับคนอื่นๆ หลายร้อยคนได้รับหม้อหุงข้าวสุริยะไป หลังจากไปลงทะเบียนรับการอบรมวิธีการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หม้อหุงข้าวสุริยะจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวบ้านที่ห่างไกลความเจริญ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ทางการในนิคมต่างๆ เพื่อขอการสนับสนุนโครงการประหยัดพลังงาน
ต่างกับในประเทศจีนที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งดานการเงินและการตลาด ในขณะนี้มีหม้อหุงข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ใช้อยู่ในจีนราว 65,000 ใบแล้ว
นายบิ๊กกับนายแวนบี๊คกล่าวว่า หม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์นี้มีส่วนในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอย่างมาก พวกเขาอยากให้ฝ่ายต่างๆ มีส่วนร่วมในการนำไปประดิษฐ์ และเผยแพร่ให้แพร่หลาย จึงไม่นำไปจดสิทธิบัตรในเรื่องการออกแบบ
"ผมหวังและอยากจะเห็นชาวเวียดนามทั้งประเทศ นำสิ่งประดิษฐ์นี้ไปประดิษฐ์เองเพื่อใช้งาน เพื่อที่จะไม่ต้องไปตัดไม้ทำลายป่า หรือสร้างความสกปรกขึ้นในสิ่งแวดล้อม ในการแสวงหาเชื้อเพลิง" นายบิ๊กกล่าวกับหนังสือพิมพ์แถ่งเนียน
ขณะนี้องค์การโซล่าร์เสิร์ฟ มีแผนที่จะผลิตหม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์ราว 100,000 ใบ เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านท้องถิ่นต่างๆ ทั่งประเทศ