ฮานอย- หลายฝ่ายระบุว่าเวียดนามกับสหรัฐฯ กำลังดำเนินการตระเตรียม เพื่อการเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งกำลังจะเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี และจะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในความสัมพันธ์ทางการทูตที่กระท่อนกระแท่นมานานกว่าทศวรรษ
การเยือนของนายฟานวันขาย (Phan Van Khai) กำลังจะเป็นครั้งแรกที่มีผู้นำรัฐบาลจากเวียดนามไปเยือนสหรัฐฯ นับตั้งแต่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง โดยสหรัฐฯ เป็นฝ่ายปราชัย
การเยือนครั้งประวัติศาสตร์นี้จะเป็นการฉลอง 10 ปี แห่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอดีตศัตรู ซึ่งนับแต่นั้นมาทั้งสองฝ่ายก็ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะลุ่มๆ ดอนๆ จากการถูกกล่าวหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม
เจ้าหน้าที่สถานทูตเวียดนามในสหรัฐกล่าวว่า การเดินทางเยือนของนายขายยังอยู่ระหว่างการเจรจาผ่านช่องทางทางการทูตของสองประเทศ โดยกำหนดการเดินทางอยู่ระหว่างช่วงเดือน พ.ค. และมิ.ย. ปีนี้
ในขณะที่กระทรวงการประเทศเวียดนามกลับปฏิเสธจะออกความเห็นกรณีดังกล่าว เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐในกรุงฮานอยที่กล่าวว่า ยังไม่มีการยืนยันแน่นอนเรื่องการเดินทางเยือนประเทศสหรัฐของนายกรัฐมนตรีเวียดนามในครั้งนี้ แต่ยอมรับว่ามีประชุมหารือกันจริง
กรรมการบริหารหอการค้าสหรัฐในกรุงฮานอย นายอะดัม ซิทคอฟ(Adam Sitkoff) กล่าวว่าการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีเวียดนามส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศ เรียกว่าแทบจะตั้งแต่ก้าวแรกที่นายฟานเหยียบแผ่นดินสหรัฐ
นายอะดัมกล่าวว่า ตัวแทนรัฐบาลของทั้งสองประเทศต่างสนับสนุนให้แผนการเดินทางครั้งนี้บรรลุผล ซึ่ง การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของชาวอเมริกัน การเยือนควรจะมีขึ้นก่อนวันครบรอบ 11 ปีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ฯ สองฝ่ายในเดือน ก.ค. ศกนี้
กว่า 3 ทศวรรษหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐก็ดูเหมือนจะอึมครึมมาตลอด โดยวันที่ 30 เม.ย.ศกนี้ เวียดนามจะฉลองครบรอบเหตุการณ์ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดนครไซง่อน ที่ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น นครโฮจิมินห์ เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ
กว่า 30 ปี ที่รัฐบาลของสหรัฐและเวียดนามพยายามอย่างหนักที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ทั้งสองประเทศทำความตกลงการค้า 2 ฝ่าย (Bilateral Trade Agreement ในปี 2543 ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกของสองประเทศก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดีเวียดนามยังคงต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization- WTO) ที่ยังอยู่ระหว่างการหารือ เนื่องจากเวียดนามยังเป็นประเทศที่ถูกกล่าวว่าริดรอนสิทธิมนุษยชนอยู่มากทั้งด้านศาสนาและการเมือง แต่พรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงฮานอยยังคงมีทีท่าเพิกเฉยต่อกรณีดังกล่าว
ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในฮานอยได้แสดงความสงสัยต่อเจตนาของฝ่ายสหรัฐฯ และ วิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้สิ่งที่พวกเขาเห็นว่าสหรัฐฯ กำลังแทรกแซงกิจการภายในของเวียดนาม
เมื่อปีที่แล้ว ทางการสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีเวียดนามในกลุ่มประเทศ “ที่น่าห่วงใยเป็นกรณีเฉพาะ” อันเนื่องมาจากประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา อันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งในทางทฤษฎีสามารถนำไปสู่การแซงชั่นได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่วงในในกรุงฮานอยที่ขอไม่ให้เปิดเผยชื่อหนึ่งกล่าวว่า การเยือนของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม มีส่วนอย่างมากที่ด้านหนึ่งจะขึ้นอยู่กับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และอีกด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายภายในของสหรัฐฯ
นายคาร์ล เธเยอร์ (Carl Thayer) ผู้เชี่ยวชาญเวียดนาม ชาวออสเตรเลีย จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ กล่าวว่าการเดินทางเยือนสหรัฐของนายฟาน ไม่ว่าจะมีขึ้นเมื่อไรก็ตาม จะเป็นการต่างตอบแทนกรณีที่เวียดนามมีความคืบหน้าจากการเจรจาด้านธุรกิจต่างๆ โดยแลกกับการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯ แสดงความห่วงใย
“นอกจากการเยือนจะเป็นสัญลักษณ์การฉลองครอบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันแล้ว การเยือนยังแสดงให้เห็นความเต็มใจของฝ่ายเวียดนาม ที่จะสนองตอบความห่วงใยด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย”
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า การเยือนดังกล่าวไม่ได้เป็นประเด็นที่ว่า จะมีขึ้นหรือไม่ แต่เป็นประเด็นที่ว่าเมื่อไรต่างหาก โดยชี้ให้เห็นการเยือนสหรัฐฯ ของนายเลวันบ่าง (Le Van Bang) ที่กำลังจะมีขึ้น
นายบ่างเป็นอดีตเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำกรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งในปัจจุบันเป็น รมช.ต่างประเทศคนหนึ่ง การเยือนของรัฐมนตรีเวียดนามผู้นี้ ว่ากันว่าก็เพื่อจะหารือเตรียมการให้กับการเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำเวียดนาม
การเดินทางเยือนสหรัฐของนายฟานวันขายในครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกลับหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เคยเดินทางเยือนเวียดนามในเดือน พ.ย. 2543
มีความเป็นไปได้ว่าประธานาธิดีบุชมีแผนจะเดินทางมาประเทศเวียดนามในปีหน้า เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (APEC เอเปก) ที่จะจัดขึ้นที่กรุงฮานอย
อย่างไรก็ดีการเดินทางเยือนของสหรัฐของนายฟานวันขายถือว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสองประเทศ.
(เรียบเรียงขึ้นใหม่จากรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี)