xs
xsm
sm
md
lg

เพลงป็อป-ฮิปฮ็อปครองตลาดคนรุ่นใหม่ ลาววิตกรำวงหมอลำหมดค่า

เผยแพร่:

เวียงจันทน์ – ฉากความบันเทิงของลาวต้องสั่นสะเทือนอย่างแรง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการก่อเกิดของดนตรีป็อปและฮิปฮ็อปในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ จนทำให้ผู้ผลิตเพลงพื้นเมืองหวั่นเกรงจะสูญเสียตลาดให้กับดนตรีแนวใหม่ ปัจจุบันแฟนเพลงเก่าแก่หนาแน่นในต่างจังหวัดเท่านั้น

ถ้าไม่โชคร้ายจริงๆ ผู้ที่ไปเยือนนครหลวงเวียงจันทน์จะมีโอกาสได้ยินเพลงป็อปและฮิปฮ็อปจากวิทยุ ร้านเบียร์ สถานบันเทิง หรือแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น ในทุกแห่งหนของนครหลวงเวียงจันทน์ จะได้ยินเพลงวัยรุ่นหลายแนวจากวิทยุ ทุกเพลงล้วนมีเนื้อหาของความรักและการอก ทั้งในสไตล์เพลงเต้นรำ และแบบช้าๆ ซึ้งๆ

ปัจจุบันผู้ที่มีวัยเลย 30 ปีไปแล้ว อยากจะดื่มด่ำเพลงลาวพื้นเมืองและแนวรำวงในที่สาธารณะ มีโอกาสสูงที่จะถูกบรรดาวัยกระเต๊าะเรียกว่า พวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี และเพลงประเภทนี้ก็หาฟังได้ยากเต็มทนบนคลื่นวิทยุเอฟเอ็มของลาว ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานด้วยว่า ปัจจุบัน มีไนต์คลับและสถานบันเทิงยามค่ำคืนไม่กี่แห่งที่ยังจัดให้มีการรำวงพื้นเมืองอยู่ เว้นแต่ในงานของทางราชการ และงานแต่งงาน เท่านั้น ดนตรีป็อปและฮิปฮ็อป กำลังเปลี่ยนนครหลวงเวียงจันทน์ให้เป็นสถานบันเทิง ที่ผู้คนจะสนุกสนานกับงานคอนเสิร์ต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว

เพลงที่ฮิตกระหึ่มเมืองในตอนนี้คือ ‘นายหินสม’ ขับร้องโดยวง Overdance เป็นเพลงแร็พเต้นรำ เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กหนุ่มในชนบทที่หมายปองสาวน้อยในเมืองแต่ก็หวั่นว่าจะช้ำรัก อีกเพลงหนึ่งที่กำลังนิยมคือ ‘คนซวย’ โดยวง The Cells เป็นเพลงสนุกสนานเกี่ยวกับผู้หญิงลาวที่มีความรักอันยิ่งใหญ่ให้กับชายผอมสูง เพลงนี้ได้รับเสียงกรี๊ดจากแฟนเพลงรุ่นเยาว์ได้มากทีเดียว

ส่วนนักร้องที่โด่งดัง ก็อย่างเช่น ติ่ง ไพลาวัน (Ting Phaylavanh) จากค่ายวาเลนไทน์มิวสิค และนักร้องหลายคนจากค่ายลาวอาร์ทมีเดีย (Lao Art Media) นอกจากนี้ อเล็กซานดร้า (Alexandra) ก็เป็นหนึ่งในนักร้อนสุดฮ๊อตในวงการเพลงลาววันนี้

เพลงฮิ๊ปฮ๊อปของลาว ยังฮิตไปถึงภาคอีสานของไทย วง Overdance, อเล็กซานดร้า และนักร้องคนอื่นๆ ต่างขึ้นเป็นข่าวพาดหัวใหญ่ในสื่อไทย และได้ออกสัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะได้เห็นศิลปินลาวปรากฏในสื่อโทรทัศน์ประเทศอื่น

ครั้งหนึ่งวัยรุ่นลาวเคยข้ามโขงมาชมคอนเสิร์ทของนักร้องไทยที่ จ.หนองคาย แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว หนุ่มสาวลาวนิยมชมคอนเสิร์ทที่เวียงจันทน์

หลายฝ่ายวิตกว่าปรากฏการณ์เช่นนี้จะทำให้เพลงพื้นเมือง (หมอลำ) อาจจจะถึงกับถูกกลืนไปแต่ “เวียงจันทน์ไทมส์” กล่าวว่า เพลงป็อปและฮิปฮ็อปคงจะยังไม่สามารถครองตลาดเพลงลาวได้ทั้งหมด

นางตุ้ย แม่ค้าขายซีดีและวีซีดี ในตลาดเช้า บอกว่า แม้เพลงวัยรุ่นลาวจะได้รับความนิยมสูง บนคลื่นวิทยุและสถานบันเทิงต่างๆ แต่ตอนนี้ก็ยังขายเพลงพื้นเมืองได้มากกว่าเพลงวัยรุ่น และคนลาวในต่างประเทศยังนิยมสั่งซีดีและวีซีดีเพลงพื้นเมืองลาวอยู่

นางตุ้ยบอกว่าคนลาวจำนวนมากยังรักเพลงพื้นเมือง คนลาวกว่าค่อนยังชอบฟังเพลงหมอลำพร้อมกับรำไปด้วย แม้ว่าในสายตาของผู้เฒ่าผู้แก่การรำวงจะเปลี่ยนไป เมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน

เมื่อก่อนหากชายหนุ่มปรารถนาจะรำวงหญิงสาว อย่างแรกเขาต้องมอบพวงมาลัยให้เธอก่อน และสาวรำวงจะต้องคอยอยู่หน้าเวที ทว่าในปัจจุบันธรรมเนียมเหล่านี้หายไปหมดแล้ว บ่อยครั้งที่คนหนุ่มเลือกที่จะรำวงกับเพื่อนชายแทนที่จะเป็นหญิงสาว

คนลาวที่เกิดก่อนปี 2518 ยังคงนิยมฟังดนตรีพื้นเมือง ชาวบ้านนาควาย (Ban Nakhuay) ซึ่งกำลังมองหาดนตรีแนวรำวง บอกว่า เธอไม่ชอบฟังเพลงวัยรุ่นเพราะมันน่าปวดหัว

“ฉันไม่เข้าใจว่าลูกๆ ฟังกันได้อย่างไร ฉันตามเขาไม่ได้หรอก” เธอบอกและหัวเราะ เธอยังคงฟังเพลงพื้นเมืองและบางครั้งก็มีโอกาสโชว์ลูกคอร้องตามงานรื่นเริงในหมู่บ้าน

สำหรับคนลาวจำนวนมาก เพลงพื้นเมืองไม่เพียงให้ความสำราญ แต่ยังทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในประเทศชาติ เพลงส่วนใหญ่บรรยายถึงวิถีชีวิตในชนบท ที่ซึ่งชาวบ้านได้รื่นรมย์กับแมกไม้และป่าเขา

นายลาแก้ว สิหลิมะโนไท ผู้อำนวยการเพลงลาว กล่าวว่า นักแต่งเพลงลาวในอดีตมีจินตนาการที่ดีมาก เพลงลาว อย่าง “เกี้ยวสาวแคมงึม” หรือ “กุหลาบปากซัน” ล้วนเป็นเพลงรักอมตะ

แม้ว่าเพลงพื้นเมืองลาวจะมีฐานที่แข็งแกร่ง แต่ก็มีความหวั่นเกรงกันว่า เพลงที่อ่อนหวานเหล่านี้ อาจจะถูกท้าทายในอนาคตอันใกล้ เมื่อลาวเข้าร่วมกับประชาคมอื่นๆ ในภูมิภาคกว้างขวางยิ่งขึ้น และมีดนตรีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น คนนิยมฟังเพลงเดิมๆ น้อยลง

“ฟังเพลงเดิมๆ ตลอดเวลาก็น่าเบื่อเหมือนกัน” แม่ค้ารุ่นเยาว์ในตลาด ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตามจากความเห็นของสาธารณชนพบว่า เพลงพื้นเมืองลาวยังคงครองความนิยมส่วนใหญ่ในตลาดเพลง เพลงวัยรุ่นก็จะนิยมในหมู่วัยรุ่นเท่านั้น ตามเมืองใหญ่ๆ อย่างเวียงจันทน์ สะหวันนะเขต และจำปาสัก

นายลาแก้ว หนึ่งในโปรดิวเซอร์เพลงพื้นเมืองลาว บอกว่า ชาวลาวส่วนอื่นๆ ยังคงฟังเพลงพื้นเมืองลาว คนอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เป็นแฟนเหนียวแน่นกับเพลงแนวเดิม ซึ่งยังคงขายดีอย่างที่เคยเป็นมา

“หากคุณไปต่างจังหวัด คุณจะรู้ว่า คนลาวยังคงฟังเพลงพื้นเมืองลาวกันอยู่”
กำลังโหลดความคิดเห็น