ชัดเจนและรุนแรงขึ้นทุกวันว่า ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อเมือง ทั้งในรูปแบบ “การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป” (slow onset events) เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และความแห้งแล้งยาวนาน และ “เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว” (extreme events) เช่น พายุฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน หรือคลื่นความร้อน อย่างกรณีที่กรุงเทพฯ เคยเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสติดต่อกันหลายวัน เมืองซึ่งเต็มไปด้วยคอนกรีต ตึกสูง และขาดพื้นที่สีเขียว ได้กลายเป็นจุดสะสมความร้อนและเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองได้เร่งให้เกิดวิกฤตภูมิอากาศกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนในเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่หนาแน่นในเมืองใหญ่ ซึ่งมี “คนจนเมือง” เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในวิกฤตนี้ เพราะพวกเขามักอาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ชุมชนแออัดที่ไม่มีร่มเงา ไม่มีการระบายน้ำที่ดี และใกล้แหล่งมลพิษ ทั้งยังขาดการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น เครื่องปรับอากาศ น้ำสะอาด และสาธารณสุขที่เพียงพอ ปัญหาหลักไม่ได้อยู่เพียงสภาพความเป็นอยู่ แต่คือการไม่ถูกรวมอยู่ในกระบวนการนโยบายที่เน้นเชิงโครงสร้าง โดยละเลยมิติความเปราะบางรายกลุ่มและรายพื้นที่
ดร.เบญจมาส โชติทอง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เรียบเรียงประเด็นนี้โดยชี้ว่า นโยบายหลายฉบับที่มุ่งหวังจะรับมือโลกร้อน กลับกลายเป็นการ “ปรับตัวที่ผิดพลาด” (maladaptation) เช่น การสร้างพนังกั้นน้ำปกป้องเขตเศรษฐกิจ กลับทำให้น้ำไหลท่วมชุมชนริมคลอง เช่นเดียวกับการเพิ่มพื้นคอนกรีตจนลดพื้นที่ซับน้ำ ยกถนนแต่ไม่ปรับปรุงระบบระบายน้ำ ซึ่งส่งผลให้น้ำท่วมขัง หรือการสร้างตึกสูงที่ขวางทางลม ทำให้อากาศร้อนและหมุนเวียนไม่ได้ การส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานหรือฉนวนกันร้อน โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำและซ้ำเติมความเปราะบางของกลุ่มเป้าหมายเดิม
๐ แนะปรับนโยบายด้านภูมิอากาศ
เพื่อความเป็นธรรมสำหรับเมือง
บางเมืองเริ่มใช้ “ข้อมูลความเสี่ยงภัย” และ “นโยบายสาธารณะ” เป็นเครื่องมือในการออกแบบเมืองอย่างยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับคนจนเมือง บูรณาการด้านสังคมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้กับหลายเมืองได้ลงมือทบทวนนโยบายด้านภูมิอากาศในการดูแลคนทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม โดยดำเนินการใน 5 เรื่อง
1. รักษาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ซับน้ำ ปกป้องพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ พร้อมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบซับน้ำ เช่น คลอง แก้มลิง หรือสวนซับน้ำ ออกมาตรการกำหนดสัดส่วนพื้นที่น้ำซึมผ่านสำหรับสิ่งปลูกสร้าง เพื่อบรรเทาน้ำท่วมขังในฤดูฝนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในเมือง โดยเฉพาะชุมชนแออัด ซึ่งมักขาดพื้นที่เปิดโล่งและได้รับผลกระทบจากความร้อน และลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วม
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการเดิน ควรออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยสำหรับการเดินเท้า เช่น ทางเท้าที่มีร่มเงา จุดพักรอที่หลบแดด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่แรงงานนอกระบบหรือผู้สูงอายุต้องเดินทางด้วยตนเองในสภาพอากาศร้อนจัด การส่งเสริมการเดินแทนการใช้รถยนต์ในการสัญจรระยะทางสั้น ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของคนจนเมืองอย่างมาก
3. เพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์และแบบบ้านราคาต่ำสู้ภัยโลกร้อน ควรสนับสนุนการเข้าถึงวัสดุและอุปกรณ์ที่ช่วยปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้รองรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ฉนวนกันความร้อน หลังคาสะท้อนแสง ช่องลมระบายอากาศ หรือการยกพื้นบ้านเพื่อช่วยระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ควรพัฒนา “แบบบ้านราคาต่ำ สู้ภัยโลกร้อน” เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้จริง
4. คุ้มครองผู้ประกอบการและแรงงานกลางแจ้ง เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนเก็บของเก่า คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และคนงานก่อสร้าง ล้วนเผชิญความเสี่ยงโดยตรงจากคลื่นความร้อนในเมือง ควรมีมาตรการป้องกันเฉพาะ เช่น การจัดพื้นที่พักที่มีร่มเงา จุดแจกน้ำดื่มในที่สาธารณะ การปรับเวลาและระยะเวลาการทำงานในช่วงที่อุณหภูมิสูง การเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างรวดเร็ว และประกันภัยคลื่นความร้อน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและลดโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น โรคลมแดด ความดันสูง และภาวะขาดน้ำ
5. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการออกแบบเมือง ต้องเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและออกแบบนโยบายต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง และการรับมือภัยพิบัติ การฟังเสียงจากผู้มีประสบการณ์ตรงจะช่วยให้โครงการต่างๆ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทจริง และลดความเสี่ยงจากการปรับตัวที่ผิดพลาดในระยะยาว
การรับมือกับภาวะโลกร้อนไม่ใช่เพียงการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรการเชิงเทคนิคเท่านั้น หากแต่ต้องเริ่มจากการเห็นและเข้าใจ “ความเปราะบาง” ของคนในเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่มักถูกมองข้ามในนโยบายหลักการออกแบบเมืองที่เป็นธรรมจึงต้องสร้างบนฐานของความร่วมมือ การมีส่วนร่วม และความเกื้อกูล ไม่ใช่แค่เพื่อ “คนจนเมือง” แต่เพื่อความอยู่รอดของทุกคนในสังคมเมืองที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนร่วมกัน