xs
xsm
sm
md
lg

อุตุฯ เตือนถี่ ! โซนร้อนวิภา กระทบไทยหนักค่อนประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เช้าวันนี้ (20 กรกฎาคม 2568) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง พายุ "วิภา" และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย เป็นฉบับที่ 2 (188/2568) เวลา 05.00 น. หลังจากที่เมื่อคืน ออกประกาศฉบับที่ 1 (187/2568) เวลา 23.00 น. และแจ้งด้วยว่าจะออกประกาศเตือนอีกครั้งวันนี้ เวลา 11.00 น.

🎯 เมื่อเช้านี้ (20/7/68) กรมอุตุฯ แจ้งสถานการณ์ เวลา 04.00 น. พายุโซนร้อนกำลังแรง "วิภา" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 560 กิโลเมตร ทางตะวันออกของจ้านเจียง ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 21.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 115.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่า ในช่วงวันที่ 21-22 ก.ค. 68 จะเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ หลังจากนั้นมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศลาวตอนบนและภาคเหนือตอนบนต่อไป ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง

⛈จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 20-24 ก.ค. 68 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม




🎯 จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมาก

วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 : กระทบ 40 จังหวัด
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 : กระทบ 44 จังหวัด
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา

วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2568 : กระทบ 49 จังหวัด
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา

สำหรับทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะมองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือหรืออพยพ หากสถานการณ์อยู่ในสภาวะวิกฤตและติดตามประกาศจากกรมอตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ กรมอุดุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น