xs
xsm
sm
md
lg

“ติดโซลาร์ลดหย่อนภาษี” ยังช้า ! ชง 6 มาตรการ ลดค่าไฟยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาผู้บริโภคหนุนรัฐเดินหน้ามาตรการด้านภาษี ส่งเสริมติดโซลาร์บนหลังคาบ้าน เพิ่มโอกาสประชาชนพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน พร้อม 6 แนวทางเร่งด่วน ผลักดันพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกหลักเพื่อลดภาระค่าไฟอย่างยั่งยืน SCB EIC ยกโพลหนุนจากผลสำรวจผู้บริโภคก่อนหน้า (ต้นปี68) พบว่า 80% สนใจติดตั้ง แต่ยังไม่ตัดสินใจ เพราะต้นทุนในการติดสูง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอมาตรการภาษีจูงใจผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนลงทุนลดภาระค่าไฟ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยการส่งเสริมการลงทุนและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในบ้านอยู่อาศัย โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 200,000 บาท นั้น

มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคครัวเรือน ท่ามกลางแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นและความตื่นตัวของประชาชนต่อพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม มาตรการยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และยังไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัดในการประกาศใช้


•สภาผู้บริโภค เสนอ 6 มาตรการเร่งด่วน

นายพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวของรัฐบาล เพราะเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน

“เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการมาตั้งนานแล้ว เพราะแนวคิดเรื่องภาษีโซลาร์สภาผู้บริโภคได้เสนอแนวคิดต่อรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2566 จึงเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดเป็นมาตรการที่ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม”

“คืนภาษี 200,000 ถือว่าไม่น้อย เพราะปกติการ ติดโซลาร์ หากเป็นขนาด 5 กิโลวัตต์ ราคาตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 ปลาย ๆ ถึง 200,000 บาท ก็เท่ากับว่าไม่ต้องเสียค่าติดตั้ง แต่ก็ต้องรอดูรายละเอียดของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งว่า การลดหย่อนภาษีสูงสุด 200,000 บาทนั้นมีเงื่อนไขอย่างไร และเป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในภาคครัวเรือนหรือไม่”

พชร แกล้วกล้า
เขาย้ำว่า ปัญหาในเรื่องพลังงานที่ผ่านมาคือรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคครัวเรือน ดังนั้น นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว รัฐบาลควรออกนโยบายหรือมาตรการอื่นเพื่อลดอุปสรรคต่างในการติดโซลาร์ โดยมี 6 ข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อดำเนินการดังนี้

1.เร่งประกาศนโยบายเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ในภาคครัวเรือน เพราะการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย หรือเน็ตมิเตอร์ริง เป็นระบบที่จะทำให้ประชาชนสามารถฝากไฟฟ้าส่วนเกินไว้ และดึงกลับมาใช้งานในช่วงเวลาที่ไม่มีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา นั่นแปลว่า หน่วยของไฟฟ้าที่ส่งออกและนำเข้าจะถูกหักกลบลบจนเหลือยอดสุทธิในปลายเดือน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ประโยชน์สูงสุดจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันที

2.เปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาแบบเน็ตบิลลิง (Net Billing) สำหรับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่มีการกำหนดโควต้ากำลังการผลิตและระยะเวลาการรับซื้อ

3.ออกนโยบายเพื่อขจัดอุปสรรค และลดต้นทุนในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของผู้บริโภค เช่น ยกเลิกการบังคับติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อนกลับของภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่แล้ว ซึ่งบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถขายไฟกลับเข้าสายส่งให้กับการไฟฟ้าได้ เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าการส่งไฟฟ้าย้อนกลับเข้าส่งไม่ได้กระทบหรือผลเสียต่อการไฟฟ้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ เมื่อไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อนกลับ จะช่วยลดต้นทุนของผู้บริโภคในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลงได้

4.ทบทวน “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พ.ศ. ….” เนื่องจากเนื้อหาในกฎหมายฉบับดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะเป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของภาคประชาชน เช่น เรื่องการกำหนดว่าประชาชนไม่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่ต้องจดแจ้งว่าจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐทราบล่างหน้าอย่างน้อย 30 วัน เป็นต้น

5.แก้กฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ไม่ต้องใช้วิศวกรโยธาตรวจสอบรับรองความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคติดตั้ง ลดค่าไฟฟ้า ผู้บริโภคเข้าถึงความยั่งยืนด้านพลังงานได้มากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 65 (พ.ศ.2558) และเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือตอบกลับมายังสภาผู้บริโภคว่า คณะกรรมการควบคุมอาคาร ได้เห็นชอบการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หรือโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) ของอาคาร ไม่ต้องยื่นขออนุญาตและไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติที่อาจสร้างภาระเกินความจำเป็นให้แก่ผู้บริโภค และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับความคืบหน้าเพิ่มเติม

6.กำหนดโควตาของการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากภาคครัวเรือนที่ชัดเจน เพื่อเป็นกรอบในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันตามข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่า สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 13,101.54 จิกะวัตต์ (GW) หรือ 13,101 ,540 เมกะวัตต์ (MW) คิดเป็น18.99 % แต่โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนของรัฐบาลนั้นตั้งเพดานอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ เท่านั้น ซึ่งไม่ถึง 1% ของจำนวนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ

ทั้งนี้มาตรการลดหย่อนภาษี จะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้ภาคครัวเรือนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปภาคครัวเรือน โดยกระทรวงพลังงานระบุว่าในปี 2023 ศักยภาพรวมอยู่ที่ราว 121,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการติดตั้งสะสมในปี 2022 ยังอยู่เพียง 1,893 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1.6% ของศักยภาพทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่าการติดตั้งยังสามารถเติบโตได้อีกมาก




• SCB EIC ชี้เป็นแรงจูงใจแค่ส่วนหนึ่ง

ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เมื่อช่วงต้นปี 2025 พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 2,257 ราย สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการติดตั้งอยู่ในระดับสูง มาตรการลดหย่อนภาษี 200,000 บาทจึงคาดว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจติดตั้งได้ง่ายขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดภาระภาษีได้ราว 6,100-50,000 บาท ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งต่อการตัดสินใจ นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังถือเป็นสัญญาณเชิงนโยบายจากภาครัฐ ที่แสดงถึงความจริงจังในการสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาคประชาชน

แม้มาตรการลดหย่อนภาษีจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ตรงใจผู้บริโภค แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ โดยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ “การให้เงินอุดหนุนการติดตั้ง” มากที่สุด (26% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รองลงมาคือ “การลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง” (20%)

ขณะที่ความต้องการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคอยากให้รัฐสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ การปลดล็อกการขายไฟฟ้าได้อย่างเสรี (15%) การเสนอขายระบบโซลาร์รูฟท็อปในราคาที่ถูกกว่าตลาด (14%) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราเดียวกับราคาขายปลีก (13%) และการผ่อนปรนขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง (12%) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการ “แพ็กเกจนโยบาย” ที่ครบถ้วน ทั้งในมิติของต้นทุน การเข้าถึงระบบ และสิทธิประโยชน์หลังการติดตั้ง

เนื่องจากยังมีอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจติดตั้ง และสะท้อนว่ามาตรการลดหย่อนภาษีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ 

จากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า ผู้บริโภคยังเผชิญอุปสรรคสำคัญ 3 ด้านในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ได้แก่

1) การตรวจสอบความน่าเชื่อถือและราคาที่เหมาะสมของผู้ให้บริการติดตั้ง ซึ่งประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนและเปรียบเทียบได้

2) ข้อจำกัดในการจัดหาเงินส่วนตัว โดยกว่า 50% ของผู้ติดตั้งใช้เงินสดและการจัดหาเงินส่วนตัวเพื่อจ่ายเองซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการหาแหล่งเงินทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสะท้อนความต้องการแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายของผู้บริโภค

และ 3) ความยุ่งยากของกระบวนการขออนุญาตจากภาครัฐ ทั้งในด้านการติดต่อหน่วยงาน, การเตรียมเอกสาร และการนัดตรวจสอบสถานที่ติดตั้ง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

SCB EIC เสนอ 3 แนวทางในระยะสั้นที่จะเป็นมาตรการเสริมสำหรับภาครัฐในการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่

1) จัดทำระบบรับรองคุณภาพอุปกรณ์และผู้ให้บริการติดตั้งแบบสมัครใจ (Voluntary certification program) เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้

2) แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการอุดหนุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น

และ 3) ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการขออนุญาต โดยจัดตั้งระบบ One-stop service สำหรับการติดตั้งในที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ในระยะยาว ภาครัฐยังสามารถพิจารณาออกมาตรการเสริมเพิ่มเติม เช่น การเปิดเสรีการขายไฟฟ้า และการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคาขายปลีก (Net-metering) เพื่อเร่งการขยายตัวของพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

1) การสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการติดตั้ง ผ่านการให้ข้อมูลและคำแนะนำทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และความเหมาะสมในการติดตั้ง ข้อมูลราคาที่โปร่งใส ตลอดจนมีการรับประกันและบริการหลังการขาย เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการตัดสินใจของผู้บริโภค

2) การพัฒนาแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่าย ผ่านการร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการติดตั้งและสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อดอกเบี้ยต่ำเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคที่ต้องการติดตั้งแต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

และ 3) ผู้ให้บริการติดตั้งควรมีบริการขออนุญาตติดตั้งแทนผู้บริโภคในกรณีที่ยังไม่มี เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากยังเผชิญปัญหาในการขออนุญาตติดตั้งเอง

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการสามารถเสนอลดราคาอุปกรณ์และค่าติดตั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เนื่องจากผลการสำรวจผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า การได้รับส่วนลดเป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป หากทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยจะสามารถปลดล็อกศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกหลังคาบ้าน และเดินหน้าสู่ระบบพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น