จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในวงการธุรกิจอาหาร พลิกฟื้นธุรกิจย่านบรรทัดทอง สามย่าน จัดกิจกรรมอบรม Place Branding – การส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชน ภายใต้โครงการ “โต๊ะกลม” เริ่มวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2568
โดยมี รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน พร้อมเน้นย้ำบทบาทของจุฬาฯ ในการผลักดันการสร้างระบบนิเวศธุรกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนในระดับชุมชน พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย และองค์กรเอกชนชั้นนำสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองอย่างมีส่วนร่วม และครอบคลุม ซึ่งกิจกรรมอบรมในครั้งแรกนี้มุ่งถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับ “Place Branding” หรือการสร้างแบรนด์ในเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะร้านอาหารซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตผู้คนและสามารถสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชนได้อย่างชัดเจน
การอบรมในครั้งนี้ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และที่ปรึกษาด้านแบรนด์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ ในหัวข้อ “ทางรอด–ทางรุ่ง ธุรกิจร้านอาหาร” เปิดมุมมองใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่บรรทัดทอง–สามย่าน ถึงการปรับตัวในภาวะที่ตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยี และการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเน้นการสร้างจุดแข็งด้านแบรนด์ การวางตำแหน่งร้านให้โดดเด่น และการใช้ “เรื่องเล่า” (storytelling) สื่อสารคุณค่าเฉพาะตัวของแบรนด์ให้เชื่อมโยงกับย่านและผู้บริโภคยุคใหม่
ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาแบรนด์ในระดับชุมชนว่า “Place Branding ไม่ได้เป็นเพียงการตกแต่งภาพลักษณ์เท่านั้น แต่เป็นการออกแบบประสบการณ์ร่วมระหว่างธุรกิจ พื้นที่ และผู้คน ซึ่งหากสามารถสร้างแบรนด์ที่สื่อสารตัวตนของย่านได้อย่างแท้จริง ก็จะเกิดทั้งความยั่งยืนทางธุรกิจและการพัฒนาทางวัฒนธรรมไปพร้อมกัน”
โครงการ “โต๊ะกลม” เป็นกิจกรรมอบรมที่จัดต่อเนื่องรวม 7 ครั้ง 7 หัวข้อ ระหว่างเดือนกรกฎาคม–กันยายน 2568 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของพื้นที่บรรทัดทอง–สามย่าน ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เช่าพื้นที่รุ่นเก่า–รุ่นใหม่ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้ร่วมเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ประกอบด้วย
- ทางรอด-ทางรุ่งธุรกิจอาหาร โดย ผศ.ดร.เอกก์ ภัทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และที่ปรึกษาด้านแบรนด์ จุฬาฯ
- ปักหมุดให้เจอร้าน สร้างรีวิวให้ปัง โดย ทัพไทย ฤทธาพรม ผู้ร่วมก่อตั้ง Haab
- เพิ่มยอดขายด้วย Data ใช้ AI ให้ธุรกิจโตไว โดย นภสินธุ์ ปิยะสินธ์ชาติ
- แก้เกม นักท่องเที่ยวหาย สร้างยอดขายด้วยลูกค้าประจำ โดย ณธน โชติหิรัญรัตน์ โค้ชป้อ Line
Thailand
- ขายดีแต่ไม่มีกำไรบัญชีช่วยได้ โดย ณัฐพิชญ์ รัตน์ปุนภพ และ พัชรี พาตินธุ Senior Product Specialist FlowAccount
- แชร์แพสชั่น ดันลูกค้าสู่การเติบโต โดย คุณาพงศ์ เตชวรประเสริฐ เจ้าของเพจขายดีไปด้วยกัน และ ธันยณภัทร สินสมบูรณ์ โค้ชปืน LINE MAN
- ย่านมีชีวิต และเมืองมีเรื่องราวการพัฒนาเชิงอัตลักษณ์เพื่อความยั่งยืนร่วมกัน โดย ผศ.ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ
กิจกรรมครั้งนี้ยังสะท้อนบทบาทของจุฬาฯ ในการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย และพันธมิตรทางธุรกิจสู่การพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างมีส่วนร่วม สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการเป็นศูนย์กลางความรู้เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน