รมช.มท. สนับสนุนผลการวิจัยและแนวคิดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก ขณะที่ ผอ.สกสว. รับโจทย์จากรองผู้ว่าฯ จ.เชียงราย วิจัยประเด็นสังคม-สุขภาพ โดยเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เชื่อมั่นมีข้อมูลเพียงพอให้รัฐบาลและภาครัฐเจรจาระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร และจังหวัดเชียงราย จัดการประชุมหารือผลและแนวทางการแปลผลนิติวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมจัดการความเสี่ยงการปนเปื้อนสารหนูในแม่น้ำกกอันเนื่องมาจากมลพิษข้ามพรมแดน โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุม พร้อมด้วย นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังผลการวิจัยเชิงลึกและกำหนดทิศทางการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งยกระดับการแก้ไขปัญหาจากระดับพื้นที่สู่การบูรณาการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบคำถามประชาชน และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย หลังจากสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังการนำเสนอ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบในหลักการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์ของทีมวิจัยมาสนับสนุนการตรวจสอบสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สร้างการเรียนรู้ความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง โดยขอให้ดำเนินการทันที เพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน รมช.มท. กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ได้นำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์และสามารถตอบโจทย์ที่ประชาชนที่ประชาชนกังวลอยู่ แต่อุปสรรคการทำงานที่ผ่านมา คือ การบูรณาการข้อมูลเข้าสู่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เร็วที่สุด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบในการเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมกับขอบคุณ สกสว. และทุกหน่วยงานที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
โดยนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสร้างความกระจ่าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน การประชุมวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบูรณาการความรู้และทรัพยากรเพื่อคลี่คลายสถานการณ์และบริหารจัดการความรู้สึกของประชาชนไปพร้อมกัน โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวอย่างเต็มความสามารถ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที
ด้าน รศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้อำนวยการหน่วยภารกิจฐานข้อมูลและระบบดิจิทัล สกสว.พร้อมด้วยคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำสาระสำคัญและผลการวิจัยที่ใช้กระบวนการ “นิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งมีข้อสรุปดังนี้ 1) แม่น้ำกกปนเปื้อนสารหนูเกินค่ามาตรฐาน โดยพบว่าแหล่งกำเนิดหลักของการปนเปื้อนมาจากเหมืองแร่หายากประมาณ 70% และมาจากเหมืองทองคำในประเทศเมียนมาประมาณ 30%
2) สถานการณ์ความปลอดภัยปัจจุบัน โดยปริมาณโลหะและกึ่งโลหะในน้ำใต้ดิน ระดับตื้น พืชผักที่ปลูกโดยใช้น้ำจากแม่น้ำกก และเนื้อปลายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภค แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
3) ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ปรากฏการณ์ “ปลาแค้ป่วย” จากการติดเชื้อไวรัส และ ปรสิตอย่างผิดปกตินั้น สัมพันธ์กับการรับสัมผัสโลหะและกึ่งโลหะปนเปื้อนในน้ำ โดยมลพิษในแม่น้ำกกทำให้ปลาแค้อ่อนแอและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ถือเป็น "ตัวชี้วัดทางชีวภาพ" ที่สำคัญที่เตือนให้แก้ปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกกอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ สกสว. ยังเสนอระบบวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่นอกจากจะมีเซนเซอร์เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 24/7 แล้วยังมีระบบประชาชนสามารถรายงานสิ่งผิดปกติที่ทำให้เกิดความกังวล หรือ สอบถามผลการตรวจสิ่งแวดล้อม และคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ผ่านระบบ AI ที่ผ่านการฝึกฝนโดยภาคีนักวิจัยในกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
สำหรับเสียงสะท้อนจากภาครัฐและข้อเสนอแนะเชิงรุก รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้เสนอประเด็นสำคัญเพื่อการวิจัยเพิ่มเติม 2 ประเด็นหลัก คือ การวิจัยเชิงลึกด้านดิน: โดยสำรวจและวิเคราะห์ดินตลอดแนวตลิ่งแม่น้ำกกในฝั่งไทยระยะทาง 130 กิโลเมตร เพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าไม่มีแหล่งกำเนิดสารหนูจากดินในประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมน้ำหนักของข้อมูลในการเจรจาระหว่างประเทศ และการวิจัยด้านอุตสาหกรรม ขอให้ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนในการปล่อยสารปนเปื้อน ซึ่งจะระบุต้นตอของปัญหาได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้รองผู้ว่าฯ ยังเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น การสร้างฝายชั่วคราวเพื่อชะลอการไหลของน้ำและดักจับตะกอน
ขณะที่ ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการสนับสนุนการวิจัยในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ระบบ ววน. ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนข้อเท็จจริงในการตรวจสอบสารปนเปื้อน เวทีนี้จะสร้างความร่วมมือในการนำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การเกิดประโยชน์การทำงานร่วมกันทั้งในเชิงการทำงาน และการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดย สกสว. มีแผนจะต่อยอดพัฒนา “ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ” เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจสอบและป้องกันผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที
“การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับการจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย ภาคการเมือง ภาครัฐส่วนกลางและท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่อไป ซึ่งจะต้องสื่อสารกับพี่น้องประชาชนให้เกิดความเชื่อมั่นและคลายความกังวล” ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวสรุป