xs
xsm
sm
md
lg

เจาะแผน “รัฐสภาสีเขียว” ชูเป้า Net Zero ในปี 2032

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความคืบหน้า มุ่งสู่ “รัฐสภาสีเขียว” ตามเป้า Net Zero ภายในปี 2032 ลงมือทำจริงแล้ว ใช้แผนปฏิบัติการ 5 ขั้น หลังการตรวจประเมินเบื้องต้น พบปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึง 22,730 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)ซึ่งอยู่ในระหว่างตรวจอย่างเป็นทางการโดย อบก.ขณะเดียวกันเดินหน้าติดตั้งพลังงานสะอาดโซลาร์เซลล์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปลูกฝังให้คนสภาเรียนรู้การอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล และ AI เพื่อประหยัดพลังงาน ชี้อุปสรรคสำคัญ คือ ความเข้าใจ ความร่วมมือ


• ชงแผนปฏิบัติการ 5 ขั้น อีก 8 ปี Net Zero

ดร. ก้องเกียรติ สุริเย ที่ปรึกษาและกรรมการในการขับเคลื่อนแผนแม่บทรัฐสภาสีเขียว(Net Zero Parliament) และประธานกรรมการบริษัท กรีน สแตนดาร์ด จำกัด กล่าวว่า การผลักดันให้รัฐสภาไทยเป็นรัฐสภาแห่งแรกที่มุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยมีภารกิจในการนำแผนแม่บทรัฐสภาสีเขียว 11 ข้อไปสู่การปฏิบัติจริง รวมถึงให้รัฐสภาเป็นต้นแบบในการลดการปล่อยคาร์บอน

เขาบอกว่าวางขั้นตอนปฏิบัติการไว้ 5 ขั้นตอนซึ่งเปรียบได้กับการรักษาคน ได้แก่ 1. ตรวจร่างกาย (วัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และความเข้าใจ) 2. วางแผนรักษา (ทำแผนแม่บท 11 ข้อ) 3.การรักษา (เริ่มปฏิบัติการจริง) 4. การใช้ยารักษา ( ซื้อคาร์บอนเครดิตบางส่วนเพื่อชดเชยให้ได้ตามเป้าหมายรายปี) 5. การรักษาให้หายขาด (Net Zero ภายในปี 2032)

จากที่ตั้งเป้าหมายรักษาให้หายขาด (Net Zero ในปี 2032) คาดว่าใช้เวลา 8 ปี หรือรัฐบาลครบวาระ 4 ปี สองครั้ง ซึ่งจะต้องลดเฉลี่ยปีละ 14 % ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำได้เพียง 4% ยังเหลืออีก 10% เราก็ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อให้รักษาคำมั่นสัญญาไว้ โดยการซื้อเฉพาะปีนั้น ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ทำได้ง่ายกว่าเพราะสามารถไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาอุดเป้าได้

ปัจจุบันกำลังตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างละเอียด โดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) คาดภายในเดือนนี้ตรวจแล้วเสร็จ โดยคาดว่าจะสูงกว่าเดิมสองเท่า เนื่องจากในการวัดเบื้องต้น ไม่ได้บวกการเดินทางของสมาชิกรัฐสภา (สส.สว.ข้าราชการในสภา) เช่น การเดินทางไปทำงาน การเดินทางและเข้าพักตอนไปประชุม ทุกคนจำเป็นต้องโชว์ ทั้งหมดล้วนเป็นกิจการสภาที่ต้องนำมาตรวจวัดด้วย รวมถึงผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมรัฐสภา




•เริ่มโครงการติดตั้งพลังงานไฟฟ้าสะอาดโซลาร์เซลล์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้สาขาพลังงานและไฟฟ้า ก่อก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 92% (ราว 20,806 tCO2e) ตามแผนแม่บทในข้อ 3 การประหยัดพลังงานด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เราจึงเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรรัฐสภาให้เรียนรู้เรื่อง AI และการตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงาน

“เพราะการใช้ AI เรียนรู้ 2-3 เดือนในพฤติกรรมเพื่อปรับปรุงสามารถลดได้ถึง 30% ส่วนการเปลี่ยนพฤติกรรมให้รู้จักประหยัดช่วยได้อีก 20% ในส่วนนี้ตามเป้าเราสามารถลด 50%

เช่นเดียวกับ แผนแม่บทข้อ 5 การใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานในอาคารรัฐสภา โดยมี 3 ขั้นตอนดำเนินการ 1.การติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการนำไบโอแก๊สเข้ามาโดยตรง ตอนนี้เราเริ่มโครงการศึกษาการติดตั้งพลังงานไฟฟ้าสะอาดจากโซลาร์เซลล์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว 2.การจัดซื้อจัดจ้างไฟฟ้าสีเขียวจากเขื่อน และ 3.การจัดซื้อโดยตรงจากภาคเอกชน ที่ทำไบโอแมส หรือไบโอแก๊ส ซึ่งตามเป้าในส่วนนี้เราสามารถลด 50%”


นอกจากนี้ สิ่งที่เริ่มต้นแล้ว ได้แก่ ตามแผนข้อ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรและขยะเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งใจจะร่วมโครงการกับ SOS (Scholars of Sustenance) เพื่อลดขยะอาหาร ซึ่งเป็นโครงการที่มูลนิธิ SOS ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอาหารส่วนเกินและภาวะขาดแคลนอาหาร ข้อ 6 การจัดประชุม กิจกรรมของรัฐสภา เช่น เปลี่ยนการดื่มน้ำจากแก้วแทนขวดพลาสติกเพื่อลดขยะซึ่งค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว ข้อ 8 การพัฒนาระบบ e-Office เพื่อลดใช้กระดาษ โดยใช้ AI เข้ามาดูแล ตรงนี้สำนักหอสมุดดำเนินการอยู่แล้ว

ส่วนในข้อ 9 การดูดซับและเก็บกักก๊าซเรือนกระจก โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการดูดซับคาร์บอน เช่นไบโอชาร์ เรามีพื้นที่สีเขียว 1 แสนตารางเมตร ซึ่งถ้าไม่พอเรามีแผนไปปลูกป่าภายนอก เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตนำมาหักล้าง ทั้งภายในและภายนอก และนำเทคโนโลยีเข้ามาดักจับ ตั้งเป้าลด 20-30% ข้อ10 การใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และบริหารจัดการระบบขนส่ง ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังใช้รถน้ำมัน แต่ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านไปใช้รถอีวีมากขึ้น ข้อนี้ไม่น่าห่วง และ ข้อ 11การจัดทำฐานข้อมูลผู้จำหน่ายคาร์บอนเครดิตชดเชยของรัฐสภา ปัจจุบันเปิดรับให้เข้ามาชดเชย

• ความเข้าใจ ความร่วมมือ

ดร. ก้องเกียรติ ย้ำว่า “การสื่อสารองค์กรรัฐสภาสีเขียวเพื่อมุ่งสู่ Net Zero นับหนึ่งมาแล้วตั้งแต่วันเปิดตัว เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เรามีการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก เน้นคนข้างในก่อน เราเริ่มต้นจากความเข้าใจ ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือ เพราะคนในรัฐสภาตั้งแต่แรกเริ่มนั้น ราว 80% ยังไม่ทราบถึงความหมายและความสำคัญของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก”


กำลังโหลดความคิดเห็น