xs
xsm
sm
md
lg

จาก ”รัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ“ สู่ ”รัฐที่ล้มเหลว“/ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เพราะแค่โครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย หากแต่เป็นเพราะ “ความไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรง” ของประชาชน ที่เกิดขึ้นต่อรัฐบาลและระบบรัฐโดยรวม — ทำให้สัญญาณของ “รัฐที่ล้มเหลว” เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นอย่างมีนัยยะ

~รัฐที่น่าเชื่อถือ กับ รัฐที่ไม่น่าไว้วางใจ

ในโลกยุคผันผวนที่เต็มไปด้วยวิกฤตซ้อนทับ ไม่ว่าจะเป็นภัยเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สิ่งที่แยก “รัฐที่ล้ำหน้า” (Forefront State) ออกจาก “รัฐที่ล้มเหลว” (Failed State) ไม่ใช่ขนาดเศรษฐกิจหรือทรัพยากรที่ถือครอง แต่คือ “รัฐที่น่าเชื่อถือ” (Credible Government) — รัฐที่มีความชอบธรรมจากประชาชน (Legitimacy) มีธรรมาภิบาล (Integrity) และมีสมรรถนะ (Capability) ในการขับเคลื่อนประเทศ จะสามารถเป็นหลักยึดของสังคมและนำพาประเทศฝ่าวิกฤตไปได้

ในทางกลับกัน รัฐที่ไม่น่าไว้วางใจ (Untrusted Government ) ไม่ว่าจะเพราะขาดความโปร่งใส ไร้ความสามารถ หรือมีที่มาที่ประชาชนไม่ยอมรับ ย่อมสูญเสียทั้งอำนาจนำภายใน และความเชื่อถือจากนานาชาติ นำประเทศสู่ภาวะเสื่อมถอยทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงคุณค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

• ความชอบธรรม
- รัฐที่น่าเชื่อถือ : มาจากประชาชนอย่างโปร่งใสและชัดเจน
- รัฐที่ไม่น่าไว้วางใจ : มีที่มาคลุมเครือ เกิดจากอำนาจนอกระบบหรือผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

• ธรรมาภิบาล
- รัฐที่น่าเชื่อถือ : ยึดหลักนิติธรรมและโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
- รัฐที่ไม่น่าไว้วางใจ : พัวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อน ใช้รัฐเพื่อกลุ่มพวกพ้อง

• ขีดความสามารถ
- รัฐที่น่าเชื่อถือ : มีวิสัยทัศน์ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์
- รัฐที่ไม่น่าไว้วางใจ : ขาดประสบการณ์ บริหารวิกฤตไม่ได้ นำประเทศออกนอกลู่นอกทาง

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ภายใต้รัฐที่น่าเชื่อถือ ประเทศจะได้รับความเชื่อถือ มีการพัฒนาอย่างมีทิศทาง ไปสู่รัฐที่ล้ำหน้า ในทางตรงข้าม ภายใต้รัฐที่ไม่น่าไว้วางใจ ประเทศจะสูญเสียความน่าเชื่อถือ เสี่ยงต่อการเป็นรัฐที่ล้มเหลว

มี 2 ประเทศที่เป็นตัวอย่างในเชิงประจักษ์
• สิงคโปร์: มี Credible Government ที่ยึดธรรมาภิบาล สร้างความน่าเชื่อถือระดับโลก กลายเป็น Forefront State ด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรม
• ศรีลังกา: ผู้นำขาด Legitimacy และ Integrity บริหารผิดพลาด ทำให้ประเทศล้มละลาย ประชาชนลุกฮือ จบลงด้วยการล่มสลายของรัฐ


~ทำไม “รัฐที่น่าเชื่อถือ” จึงเป็นทางออกประเทศไทย

1. เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตหลายด้านพร้อมกัน (Polycrises)

เรากำลังอยู่ท่ามกลางคลื่นวิกฤตที่ซ้อนกัน ทั้งสงครามและการแข่งขันของมหาอำนาจ ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ช่องว่างทางสังคมที่ถ่างขึ้นและลึกขึ้น (ความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยก) และความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและระบบการเมืองโดยรวม

ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ขาดคุณธรรม และไร้สมรรถนะ จะไม่สามารถนำพาประเทศฝ่าวิกฤตได้เลย กลับยิ่งเร่งให้ประเทศเข้าสู่ภาวะล้มเหลวเร็วขึ้น

2. เพราะผู้นำยุคนี้ ไม่ใช่แค่ต้อง “บริหาร” แต่ต้อง “นำทาง” ประเทศในโลกที่ไม่มีคำตอบตายตัว

ในโลกที่เปลี่ยนเร็วและซับซ้อน ไม่มีสูตรสำเร็จใดใช้ได้ตลอดไป ประเทศจึงต้องการผู้นำที่:
• มองไกล มองขาด และมีวิสัยทัศน์
• ยึดหลักคุณธรรม ไม่เอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
• มีความสามารถออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์อนาคต ไม่ใช่แค่ซื้อเวลา

ถ้าผู้นำยังยึดติดกับระบบเดิม แค่ประคองอำนาจ หรือกลัวเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างถาวร

3. เพราะโลกยุคนี้แข่งกันที่ “คุณค่า” ไม่ใช่แค่ตัวเลขเศรษฐกิจ

การขับเคี่ยวของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้วัดกันที่ GDP หรือกำลังทหารเท่านั้น แต่แข่งกันที่ “Soft Power” และ “ผู้นำที่มีคุณค่า” เช่น:
• ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม
• การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในภูมิภาค
• การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน

ถ้ารัฐบาลมีความชอบธรรมจากประชาชน และบริหารด้วยความโปร่งใส ก็จะกลายเป็นประเทศที่โลกไว้วางใจ
แต่ถ้ารัฐบาลขาดคุณธรรม แม้เศรษฐกิจจะโต ก็ไม่มีใครอยากร่วมมือด้วย

4. เพราะประเทศไทยต้องการ “รัฐแบบใหม่” ไม่ใช่แค่ “เปลี่ยนคนเป็นรัฐบาล”

ประเทศไทยอ่อนแอในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจที่ติดกับดัก นโยบายที่ไร้พลัง การศึกษาที่ล้าหลัง และสังคมที่แตกร้าวจนไม่มีใครไว้ใจใคร เราสูญเสีย “ฉันทามติร่วมของชาติ” ที่เคยเป็นจุดแข็งของเราไป

ในสภาพแบบนี้ เราจำเป็นต้องมี “รัฐบาลที่น่าเชื่อถือจริง ๆ” ที่จะเป็นสะพานนำสังคมกลับมาพูดคุยกัน สร้างจุดร่วมใหม่ และพาประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำนั้นมีทั้งความชอบธรรม มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความสามารถ


~ รัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน เป็นรัฐบาลที่ไม่น่าเชื่อถือ?

รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม พร่องในธรรมาภิบาล และไร้ขีดความสามารถ มีความเสี่ยงสูงต่อการกลายเป็น “รัฐล้มเหลวแบบเรื้อรัง” (Chronic Soft Collapse)

1. โอกาสการเกิด “รัฐที่ล้มเหลว” (Failed State)
• ขาดความชอบธรรม (Legitimacy Deficit): เมื่อผู้นำไม่ได้มาจากฉันทามติที่แท้จริงของประชาชน มีที่มาที่คลุมเครือ หรือถูกมองว่าถูกอุปถัมภ์โดยอำนาจนอกระบบ หรือมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง รัฐจะไร้อำนาจในการนำ (Loss of Moral Authority)
• ไร้ธรรมาภิบาล (Integrity Vacuum): หากผู้มีอำนาจถูกตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซื้อเสียง ซื้ออำนาจ ประพฤติมิชอบ จะกัดกร่อนความไว้วางใจจากประชาชนและพันธมิตรระหว่างประเทศ
• ขาดขีดความสามารถ (Capability Collapse): หากรัฐขาดผู้นำที่สามารถบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤตโลกที่ซับซ้อน จะเกิด “ภาวะรัฐล้มเหลวแบบเป็นขั้น” เช่น บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ระบบยุติธรรมไร้ความน่าเชื่อถือ ความรุนแรงทางการเมืองตามมา

ศรีลังกา (2022) เป็นตัวอย่างของรัฐที่ล้มเหลวเพราะผู้นำขาดความสามารถ ขาดความโปร่งใส และสูญเสียความไว้วางใจจากประชาชน จนนำไปสู่เศรษฐกิจล่มสลาย ประชาชนลุกฮือ และรัฐต้องล่มสลายชั่วคราว เมียนมา (หลังรัฐประหาร 2021) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของรัฐที่ไร้ความชอบธรรม ใช้อำนาจโดยปราศจากการยอมรับของประชาชน และพึ่งพาความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองถาวร สูญเสียทั้งเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และอนาคตประเทศ

2. ผลกระทบต่อ “ความน่าเชื่อถือ” และ “ตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์” ของไทยบนเวทีโลก
• รัฐอ่อนแอ ทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นใน “ความต่อเนื่องของรัฐ” (State Continuity):
นักลงทุนและพันธมิตรระหว่างประเทศจะมองว่าไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลอาจเปลี่ยนหรือล้มได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่กล้าลงทุนระยะยาว หรือย้ายฐานการผลิตและศูนย์บัญชาการไปยังประเทศที่มั่นคงกว่า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์
• รัฐบาลไร้ Legitimacy ทำให้เสียโอกาส “ขึ้นโต๊ะการเมืองโลก”:
ไทยอาจถูกมองข้ามในเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคและโลก เช่น Indo-Pacific Strategy หรือ Global South Dialogue เพราะไม่มีน้ำหนักเชิงจริยธรรมและไม่สามารถใช้ Soft Power หรือ Climate Diplomacy ได้อย่างน่าเชื่อถือ
• จาก “รัฐแกนนำ” (Pivot State) กลายเป็น “รัฐกันชน” (Buffer State):
แทนที่ไทยจะเป็นผู้นำกำหนดทิศทางความร่วมมือในอาเซียนหรือภูมิภาค ไทยกลับกลายเป็นเพียง “สนามแข่งขัน” ระหว่างอิทธิพลของมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ จีน หรือรัสเซีย โดยไม่มีอำนาจต่อรองหรือบทบาทนำที่แท้จริง

3. ผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน (National Competitiveness)
• Talent Drain: คนเก่ง คนรุ่นใหม่ และนักลงทุนหนีออกนอก เพราะมองไม่เห็นอนาคต
• Policy Paralysis: ขาดกลไกนโยบายที่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถขับเคลื่อนวาระการปฎิรูปสำคัญๆ เช่น AI Economy, Education, Tax Reform ฯลฯ
• Loss of Innovation Ecosystem: ไทยจะไม่สามารถเป็นฐาน R&D หรือ Startup Hub ได้ หลีกทางให้ประเทศอื่นในภูมิภาค

รัฐบาลที่ขาด Legitimacy, Integrity และ Capability จึงไม่เพียงแต่เป็นรัฐที่ไม่น่าไว้วางใจ เป็นรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่จะนำพาไปสู่รัฐที่ล้มเหลวในที่สุด ประเทศไทยจะไม่ใช่แค่รัฐที่ล้มเหลวในการบริหารจัดการ แต่จะเป็น “รัฐที่ไร้อนาคต” ในสายตาประชาคมโลกด้วย


~พลิกเกมด้วย Thailand Imagineering

Thailand Imagineering ไม่ใช่เพียง “วิสัยทัศน์เชิงอุดมคติ” แต่เป็น “กระบวนการออกแบบประเทศไทยใหม่จากฐานราก” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง “รัฐที่มีคุณภาพ” ทั้งในแง่ความชอบธรรม ระบบคุณค่า และกลไกพัฒนาอย่างยั่งยืน

Thailand Imagineering เสนอทางรอดไว้ดังนี้

1. Re-Legitimizing the State:
• คืนอำนาจให้ประชาชนด้วยระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง และกระบวนการมีส่วนร่วม
• ปรับโครงสร้างการเมืองเพื่อเปิดทางให้ “ผู้นำใหม่ที่มีคุณธรรมและสมรรถนะ” เกิดขึ้นจริง

2. Re-Grounding National Integrity:
• ยกเครื่องระบบราชการ-กฎหมาย-การบริหารให้เป็นระบบ “ธรรมาภิบาลใหม่” ที่ตรวจสอบได้ โปร่งใส และตอบสนองประชาชน

3. Re-Building State Capability
• ปรับโมเดลเศรษฐกิจด้วย Bottom-up Engine ที่ขับเคลื่อนโดย “คนตัวเล็ก” (SMEs, Startup, วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม)
• ปฏิรูประบบการศึกษา สร้างบุคลากรคุณภาพเพื่อรับมือโลกยุค AI–Climate–Geopolitical Crises

4. Re-Positioning Thailand as a Forefront State
• เสนอโมเดล “Value-Based Nation” หรือ “Conscious Nation” ที่ใช้คุณค่าพื้นฐานไทย เช่น สมดุล ความพอเพียง และภูมิปัญญาเชิงนิเวศ เป็นพลังเชิงยุทธศาสตร์
• รื้อปรับ Soft Power ใหม่ เพื่อฟื้นบทบาทประเทศไทยบนเวทีโลก

บทความโดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น