องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) ในฐานะเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรภาคธุรกิจไทยและรัฐวิสาหกิจชั้นแนวหน้า จำนวน 46 องค์กรที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute หรือ TEI) ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอันครอบคลุมทุกมิติ และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (Biodiversity-Based Economy Development Office (Public Organization) หรือ BEDO) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นกลไกการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
โดยทั้ง 3 หน่วยงานมีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จึงได้จัดงานสัมมนาเรื่อง "Business for Biodiversity ร่วมสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน" และงานแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับ สำนักงาน พัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Business for Biodiversity) เพื่อนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปผนวกอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน รวมถึง เพื่อแถลงข่าวกรอบของข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง TEI และ TBCSD ร่วมกับ BEDO ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายได้ตกลงความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยการส่งเสริมและ สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืน (TBCSD) ในฐานะเครือข่ายธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดเครือข่ายหนึ่งของประเทศมีความมุ่งมั่น ในการร่วมสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจไทยได้เข้ามามี บทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ โดยประเด็น ด้านความหลากหลายทางชีวภาพได้เป็นประเด็นใหม่ที่ TBCSD ได้นำมาหารือกับองค์กรสมาชิกเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเด็น ธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Business for Biodiversity) โดยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ในช่วงการบรรยายเรื่อง “Global Trends on Biodiversity & Climate Change” Mr. Joe Phelan, Executive Director, Asia Pacific, World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) กล่าวว่า “การแก้ปัญหาการสูญเสียธรรมชาติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและความเท่าเทียม การหยุดยั้งและฟื้นฟูธรรมชาติยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อความยืดหยุ่นและการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวของภาคธุรกิจ เมื่อความคาดหวังต่อภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงจากการไม่ลงมือทำก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ”
และการบรรยายเรื่อง “Business Actions on Nature (ACT-D)” โดย Ms. Eva Zabey, CEO, Business for Nature กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนประเทศไทยและได้ร่วมสนับสนุนงานที่ทั้งทางภาครัฐและภาคธุรกิจกำลังดำเนินการเพื่อปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นการผนึกกำลังที่เข้มแข็งแสดงถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยมีขั้นตอนที่ชัดเจนที่ภาคธุรกิจสามารถนำไปดำเนินการได้ ตั้งแต่การพัฒนากลยุทธ์ด้านธรรมชาติไปจนถึงการมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มเครือข่ายธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยการต่อยอดจากความร่วมมือในปัจจุบันนี้ประเทศไทยสามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำทั้งในด้านนโยบายและระดับปฏิบัติการที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดย Business for Nature มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนและขยายผลของงานสำคัญในครั้งนี้”
นอกจากนี้ นางภัทรินทร์ ทองสิมา ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บรรยายเรื่อง “การดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย” กล่าวว่า สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ มีภารกิจหลักในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง หลักเกณฑ์ และกลไกการดำเนินงานระดับชาติและระดับนานาชาติในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยได้ถ่ายทอดเป้าหมายตามกรอบงานคุนหมิง – มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: GBF) มาสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศผ่านแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ (The National Biodiversity Action Plan 2023-2027) พ.ศ. 2566 – 2570 โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในนโยบายและแผนทุกระดับและทุกภาคส่วน รวมถึงส่งเสริมกลไกทางการเงิน เศษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจ ร่วมกับเครือข่ายภาคธุรกิจและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ ลดช่องว่างระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์เป้าหมายระดับโลกและเป้าหมายชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ในช่วงการบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับประเทศระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบหลากหลายรูปแบบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเด็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) นับเป็น 1 ใน 3 วิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมของโลกควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ ซึ่ง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) นับว่าเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ที่มีความสำคัญอย่างมากและต้องได้รับการดูแล ฟื้นฟู อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน แต่เมื่อเราทราบว่าในอนาคตจะเกิดวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นนั้น องค์กรภาคธุรกิจไทยควรที่จะต้องเริ่มนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปผนวกอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันในอนาคต ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึง การเข้าถึงกลไกการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ อีกด้วย”
ด้านนางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ได้มาบรรยายเรื่อง“BEDO’s Program on Biodiversity & Business Sustainability” กล่าวว่า “BEDO สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยผลักดันให้การจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ”
โดยงานแถลงข่าวในครั้งนี้ ผู้บริหารจากทั้ง 3 หน่วยงานหลักที่ดำเนินงานในการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (Business for Biodiversity) อย่างยั่งยืน ได้แก่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน TEI และ TBCSD ร่วมกับ BEDO พร้อมร่วมแสดงจุดยืนครั้งสำคัญในการก้าวไปพร้อมกับภาคีทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อร่วมสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน