xs
xsm
sm
md
lg

Thailand Taxonomy เฟส 2 ส่องข้อกำหนด สุ่มเสี่ยงฟอกเขียว !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดตัว “มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 หรือ Thailand Taxonomy Phase 2 วันอังคารที่ 27 พ.ค.นี้ แต่ข้อคิดเห็น “แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย” กลับมองต่างว่าอาจเป็นมาตรฐานที่ส่งเสริมแล้วสุ่มเสี่ยงต่อ “การฟอกเขียว” จากข้อกำหนด DNSH และMSS ในมาตรการที่เปิดช่อง

หลังจาก ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 4 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตร ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการจัดการของเสีย เปิดรับฟังความเห็นของสาธารณะ มาตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2567 - 10 มกราคม 2568 คณะทำงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เตรียมเปิดตัวในวันอังคารที่ 27 พ.ค.2568 ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพ ถนนวิทยุ

ระหว่างทางก่อนเปิดตัว (ช่วงเปิดแสดงความคิดสาธารณะ) แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) และพันธมิตร ประกอบด้วย 1. Fair Finance Thailand 2. Madre Brava 3. Environmental Justice Foundation (EJF) กลับมองต่างว่าร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ยังไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของกิจกรรม “สีเขียว” และ “สีเหลือง” 

บางรูปแบบสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการ “ฟอกเขียว” (greenwashing) อีกทั้งเกณฑ์การจัดกลุ่มกิจกรรมในมาตรฐานนี้ก็ควรถูกนําไปใช้เพื่อยกระดับ “การเงินที่ยั่งยืน” ของสถาบันการเงินต่างๆ


สับเกณฑ์ DNSH หละหลวมกว่า Thailand Taxonomy เฟส 1

การที่เกณฑ์ DNSH หละหลวมกว่า Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 และการเปิดสถานะ “ปฏิบัติตาม มาตรฐานฯ บางส่วน” เป็นครั้งแรก สุ่มเสี่ยงที่จะเปิดโอกาสการ ‘ฟอกเขียว’ มากขึ้น

ข้อกําหนดด้านการไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสําคัญ (Do-No-Significant-Harm: DNSH) และข้อกําหนดของมาตรการขั้นต่ำในการป้องกันผลกระทบทางสังคม (Minimum Social Safeguards: MSS) เป็นหลักเกณฑ์ที่มีความสําคัญในการสร้างหลักประกันว่า กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เข้าข่าย ‘เขียว’ ตาม Thailand Taxonomy จะไม่บั่นทอนวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมข้ออื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การป้องกันและควบคุมมลพิษ และการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมบูรณ์ อย่างไรก็ดี ร่าง Taxonomy ระยะที่2 มีการระบุเงื่อนไขใหม่ว่า “เนื่องจากข้อกําหนด DNSH หลายข้อจําเป็นต้องมีการเตรียมการ การรวบรวมข้อมูล รวมถึงการขอรับใบอนุญาต จึงมีการกําหนดระยะเวลาการ ผ่อนผัน (grace period) 3 ปี และการให้สถานะ “ปฏิบัติตามมาตรฐานฯ บางส่วน” (limited taxonomy compliance) เพื่อไม่ให้ข้อกําหนด DNSH เป็นอุปสรรคต่อการดําเนินตาม Taxonomy อย่างกว้างขวาง”

แนวร่วมฯ และพันธมิตรเห็นว่า Taxonomy มีสถานะเป็นเพียงมาตรฐานในการจัดหมวดหมู่กิจกรรม ที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือให้สถาบันการเงินและนักลงทุนสนใจสนับสนุนกิจกรรม ‘เขียว’ ในภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น มิใช่ข้อห้ามทางกฎหมายในการลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ เข้าข่าย ‘เขียว’ หรือ ‘เหลือง’ ตาม Taxonomy ก็ยังสามารถดําเนินการได้ต่อไป

ด้วยเหตุนี้ การดําเนินการตาม Taxonomy จึงต้องปฏิบัติตามข้อกําหนด DNSH และ MSS อย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการ ‘ฟอกเขียว’ ซึ่งย่อมมิใช่สิ่งที่นักลงทุนปรารถนา (เช่น โครงการอ้างว่าผ่านเกณฑ์ ‘เขียว’ ตาม Taxonomy เพียงเพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์ แต่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่น หรือสังคมรุนแรง) ดังนั้น จึงเห็นตรงกันข้ามกับคณะทํางาน Thailand Taxonomy ที่ว่า ข้อกําหนด DNSH อาจเป็นอุปสรรคต่อการดําเนินตาม Taxonomy อย่างกว้างขวาง ในทางตรงกันข้าม เราเห็นว่าข้อกําหนด DNSH ที่ชัดเจนและรัดกุม คือการสร้างหลักประกันว่า Taxonomy จะได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนว่า เป็นมาตรฐานที่ส่งเสริมกิจกรรม ‘เขียว’ ที่แท้จริง ไม่ใช่กิจกรรม ‘ฟอกเขียว’


สับละเอียด : รายภาค

ภาคเกษตร : ควรเพิ่มการเปลี่ยนผ่านสู่ ระบบการผลิตโปรตีนที่ยั่งยืนและสมดุลมากกว่าระบบปัจจุบัน เป็น “แนวทางปฏิบัติขั้นสูง” สําหรับภาคเกษตร เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทย มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากความ ต้องการทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกาคปศุสัตว์ก็จะสูงขึ้น

ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ : เส้นทางการลดคาร์บอนของประเทศไทยสําหรับ ภาคอาคาร” สําหรับการเข้าเงื่อนไข ‘เขียว’ ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสําหรับ อาคารใหม่ มีความอ่อนเกินไป
แนวร่วมฯ และพันธมิตร เสนอให้ใช้ “เป้าหมายผลประกอบการด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” (Emissions Performance) Target ซึ่งตั้งอยู่บนข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารที่ปล่อย ก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด 15% ในเมืองนั้นๆ โดยต้องอธิบายเส้นทางที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะ ลดลงเป็นศูนย์ในปี 2050 เป็นตัวเลือกที่ 1 แทน เนื่องจากมีความชัดเจนมากกว่า และเป็นไปตาม Climate Bonds Initiative: Building Criteria ซึ่งร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ก็ใช้อ้างอิงในหมวดนี้

ภาคการกําจัดของเสีย : ไม่เห็นด้วยกับการกําหนดให้กิจกรรมการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ชุมชน (refused derived fuel หรือ RDF) เข้าข่ายกิจกรรม ‘เขียว’ แม้แต่น้อย จนกว่าภาครัฐจะมีการ ยกเลิกประกาศและคําสั่ง คสช. และแก้กฎการกํากับดูแลธุรกิจดังกล่าวให้รัดกุมเฉกเช่นในอดีต เนื่องจาก กิจกรรมนี้ในไทยปัจจุบันมีความหย่อนยานในการกํากับดูแลอย่างมาก อีกทั้งร่าง Thailand Taxonomy ระยะ ที่ 2 ก็มิได้คํานึงถึงสภาพความเป็นจริงดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงการกล่าวอ้างว่า “การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (WtE) ได้ถูกบรรจุใน Thailand Taxonomy เนื่องจากมีความสําคัญต่อการลดปริมาณขยะในบริบทของประเทศไทย”

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต :

1. เสนอให้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า ไฮโดรเจนที่จะเข้าข่ายเป็นกิจกรรม ‘เขียว’ สําหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะต้องเป็นไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ที่ผลิตจาก แหล่งพลังงานหมุนเวียน เท่านั้น เพื่อ ให้สอดคล้องกับนิยามการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ใน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 อีกทั้งยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า มีเพียงไฮโดรเจนสีเขียวเท่านั้นที่สอดคล้องกับ เส้นทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. แนวร่วมฯ และพันธมิตร เสนอว่า การผลิตพลาสติกในรูปแบบปฐมภูมิที่จะเข้าข่ายเป็นกิจกรรม ‘เขียว’ สําหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะต้องระบุอย่างชัดเจนว่า “การรีไซเคิลขยะพลาสติกด้วยเครื่องจักร” และ/หรือใช้ “วัตถุดิบหมุนเวียนทั้งหมดหรือบางส่วน” จะต้องเป็นกระบวนการที่ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (environmentally sound) โดยใช้นิยามที่ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น อ้างอิง Basel Convention เป็นต้น อีกทั้งวัตถุดิบหมุนเวียนหลายชนิดได้รับการยืนยันจากงานวิจัย แล้วว่า ไม่สามารถย่อยสลายเองได้และเป็นพิษไม่ต่างจากพลาสติกทั่วไป

3. แนวร่วมฯ และพันธมิตร ไม่เห็นด้วยกับการรวม “การรีไซเคิลขยะพลาสติกด้วยสารเคมี” (chemical recycling) ในนิยามกิจกรรม ‘เขียว’ สําหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากเทคโนโลยี การรีไซเคิลขยะพลาสติกด้วยสารเคมียังใหม่มาก ยังไม่ได้รับการพิสูจน์มากพอจนประเทศสมาชิกของ Basel Convention ยังไม่มีการออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการจัดการขยะรีไซเคิลด้วยวิธีดังกล่าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด


จับตา 4 ข้อเสนอแนะ ปรับแก้หรือไม่ ?

แนวร่วมฯ และพันธมิตร ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะทํางาน ผู้จัดทํา สําหรับการพัฒนามาตรฐานฉบับสมบูรณ์ ตลอดจนการนํามาตรฐานดังกล่าว ไปใช้จริงในภาคปฏิบัติ ดังนี้

1. คณะทํางานควรพัฒนาฐานข้อมูลกลางที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้จากช่องทางออนไลน์ เพื่อรวบรวมข้อมูลโครงการทั้งหมดที่ใช้เกณฑ์ Thailand Taxonomy รวมถึงเผยแพร่ “แผนการปรับปรุงการดําเนินงานเพิ่มเติม” และรายชื่อผู้จัดทําแผนดังกล่าวต่อสาธารณะ สําหรับกรณีที่กิจกรรม โครงการ หรือบริษัทที่นํามาพิจารณาผ่านเกณฑ์สีเขียวหรือสีเหลือง แต่ไม่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ การไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสําคัญ (Do No Significant Harm: DNSH) และ/หรือ ข้อกําหนด มาตรการขั้นต่ำในการป้องกันผลกระทบทางสังคม (Minimum Social Safeguards: MSS) โดย Thailand Taxonomy ระบุว่า “กิจกรรม โครงการ หรือบริษัทดังกล่าว อาจได้รับพิจารณาว่าผ่านเกณฑ์กิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองได้ก็ต่อเมื่อบริษัทที่เป็นผู้ดําเนินกิจกรรมหรือโครงการยื่นแผนการปรับปรุงการดําเนินงานเพิ่มเติมและควรดําเนินงานตามแผน ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีหลังจากการประเมินผล”

2. คณะทํางานควรออกมาตรการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของ “ผู้ประเมินภายนอก” (third party assessor) ทั้งระดับบุคคลและนิติบุคคล อาทิ หลักสูตรการจัดอบรม การขึ้นทะเบียนผู้สนใจเป็นผู้ประเมิน เป็นต้น และส่งเสริมให้ภาคเอกชนว่าจ้างผู้ประเมินภายนอกมาทําหน้าที่กลั่นกรอง กิจกรรม/โครงการ/บริษัทว่าตรงตามเกณฑ์กิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองหรือไม่ โดยเฉพาะ หลักเกณฑ์ การไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสําคัญ (Do No Significant Harm: DNSH) และข้อกําหนด มาตรการขั้นต่ำในการป้องกันผลกระทบทางสังคม (Minimum Social Safeguards: MSS)

3. ธปท. ควรนําเกณฑ์การจัดกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ใน Thailand Taxonomy ไปบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล (disclosure rules) สําหรับสถาบันการเงินที่อยู่ใต้การกํากับของ ธปท. เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน “การธนาคารที่่ยั่งยืน” และยกระดับความโปร่งใส ของภาคธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น ระบุให้สถาบันการเงินเปิดเผยขนาดและจํานวนกิจกรรม/ โครงการ/บริษัท “สีเขียว” “สีเหลือง” “สีแดง” ที่ตนให้การสนับสนุนทางการเงิน ในอุตสาหกรรมทั้ง 6 ภาค ตามนิยามใน Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมถึง เปิดเผยสัดส่วนต่อพอร์ตสินเชื่อธุรกิจทั้งหมดในอุตสาหกรรมนั้นๆ ในกรณีที่ให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นสินเชื่อ

4. เนื่องจากคณะทํางานสื่อสารความตั้งใจตลอดมาว่า เอกสาร Thailand Taxonomy เป็น “living document” ที่สามารถทบทวนอยู่เสมอเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แนวร่วมฯ จึงเสนอให้ คณะทํางานพิจารณาจัดตั้งกลไกประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement) เพื่อประเมินผลของการนํา Thailand Taxonomy ไปใช้ในภาคปฏิบัติ และ ทบทวนความเหมาะสมของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเป็นระยะ




กำลังโหลดความคิดเห็น