ทรัมป์เป็นตัวแทนของปรัชญาและความคิดที่กำลังสร้างความไร้ระเบียบและความระส่ำระสายไปทั้งโลก ในขณะที่ปรัชญาและความคิดของสีเป็นดั่งปฏิกิริยาตอบโต้เพื่อสร้างความสมดุลย์ใหม่ให้แก่โลก
ปรัชญาและหลักคิดที่แตกต่างกันระหว่างทรัมป์กับสี มีดังต่อไปนี้
1 การแยกมิตร แยกศัตรู เป็นปัญหามูลฐาน (Fundamental) ที่ปรัชญาว่าด้วยความขัดแย้งของจีนให้ความสำคัญมากที่สุด ยิ่งกว่าทุกปัญหาทางการเมือง เพราะมันเป็นตัวกำหนดชัยชนะหรือการพ่ายแพ้ในการทำสงครามทุกชนิด
ความคิดของทรัมป์ในเรื่องของการแยกมิตรกับศัตรูขาดความชัดเจน เพราะเพียงแค่ไม่กี่วันหลังการได้อำนาจ เขาสร้างศัตรูทั่วไปหมดทั้งในประเทศและทั่วโลก
เขาทำให้มิตรประเทศที่เคยใกล้ชิดที่สุดกับสหรัฐนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คือนาโต้ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอีกจำนวนมากทั่วโลก หากไม่กลายเป็นปฏิปักษ์ ก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐไป
2 ทรัมป์แก้ปัญหาโดยไม่มีมุมมองทางประวัติศาสตร์ คือไม่เคารพและไม่ให้เกียรติแก่การตัดสินใจของบรรพชนก่อนหน้าตน
เช่นการประกาศขึ้นภาษีโหดต่อชาติต่างๆโดยไม่คำนึงถึงกติกาของ WTO ที่ชาติตัวเองเป็นผู้กำหนดขึ้น ไม่ยอมรับนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก ไม่ยอมรับนโยบายการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ และไม่ยอมรับบทบาทของยูเอ็นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
แต่สีเคารพประวัติศาสตร์ เขาเคารพกฎเกณฑ์กติกาขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งหมด เพราะเค้ารู้ดีว่าประวัติศาสตร์เป็นการตกผลึกทางความคิด ประสบการณ์ และการลงมือปฏิบัติที่เป็นจริงของผู้คนจำนวนมากก่อนหน้าเขา จีนมีบทบาทอย่างแข่งขันในยูเอ็น เคารพกฎกฎเกณฑ์ของ WTO และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศจีนอย่างเอาจริงเอาจัง
3 ทรัมป์มองปัญหาแบบระยะสั้น มองปัญหาด้านเดียว คิดจะแก้ปัญหาทุกอย่างให้จบภายใน 4 ปี เขามองปัญหาไม่รอบคอบ และไม่พยายามเข้าใจว่าระบบทุนนิยมในช่วง 70 - 80 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการแบ่งงานกันทำใหม่อย่างสลับซับซ้อนไปทั่วทั้งโลก บรรษัทข้ามชาติต่างๆมีการแยกชิ้นส่วนในการผลิตไปตามประเทศต่างๆ ตามความชำนาญเฉพาะทางเพื่อให้ได้ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำที่สุด
แต่ทรัมป์ต้องการให้บรรษัทข้ามชาติของสหรัฐและทั่วโลก ย้ายฐานการผลิตทั้งหมดกลับไปผลิตที่สหรัฐทันที เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐ เช่นบีบบังคับให้โรงงานผลิตชิปของไต้หวัน โรงงานอู่ต่อเรือของ เกาหลีใต้ และโรงงานผลิตรถยนต์ของสหรัฐในต่างประเทศย้ายฐานการผลิตกลับไปที่สหรัฐทันที เป็นต้น
ขณะที่สีมุ่งแก้ปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวของจีนอย่างเอาจริงเอาจัง เช่นการ ขจัดปัญหาความยากจนของชาวจีนให้หมดไปได้ทั้งประเทศ สร้างประวัติ ศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศจีนและของโลกอย่างที่ไม่มีชาติใดในโลกเคยทำได้
สีดำเนินนโยบายปราบปรามการคอรัปชั่นในประเทศจีน ชนิดที่ไม่เคยมีผู้นำจีนคนใดเคยทำมาก่อน
สีดำเนินนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างจีนกับทวีปส่วนใหญ่ในโลก ครอบคลุมทั้งในเอเชีย ยุโรป แอฟริกาจนถึงลาตินอเมริกา
4 ทรัมป์ดำเนินนโยบายชาตินิยม ( America first ) ที่มีจีนเป็นเป้าหมาย โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมอเมริกัน เขาจึงไม่สามารถระดมพลังของประชาชนทั้งชาติได้ ไม่สามารถหลอมรวมผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มอาชีพและทุกกลุ่มรายได้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เพราะมีความขัดแย้งทางการเมือง เรื่องสีผิวและปัญหาชนชั้นของคนในชาติดำรงอยู่
ชาตินิยมของเขาไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่าง พรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน ความขัดแย้งระหว่างสีผิว และความขัดแย้งทางด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยระดับบน 1% กับคนส่วนใหญ่ 99% ที่เป็นคนชั้นกลางและชั้นล่างของสังคมได้
ทรัมป์ปลุกชาตินิยมโดยถือเอาประเทศจีนเป็นศัตรูใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคสินค้าจากประเทศจีนที่มีราคาถูก และคุณภาพดีพอประมาณ มหาชนชาวอเมริกันจึงยากที่จะยอมรับนโยบายของทรัมป์ได้ ซึ่งแตกต่างจากที่ฮิตเลอร์กระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมของคนเยอรมัน ให้เกลียดชังพ่อค้านายทุนชาวยิวในเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ
ขณะที่ สี จิ้นผิงสร้างประเทศจีนผ่านอุดมการณ์ชาตินิยมด้วยการกระตุ้นความรักชาติ ความขยันขันแข็งและการทำงานอย่างหนักในการสร้างชาติของชาวจีน เพื่อไม่ให้ประเทศจีนถูกฝรั่งต่างชาติกลับมาข่มเหงรังแกและย่ำยีได้อีก ความรู้สึกชาตินิยมนี้ ถูกสร้างขึ้นจนประสบความสำเร็จ เพราะชาวจีนผ่านประสบการณ์ที่เป็นจริงอย่างขมขื่นในช่วง “ 100 ปีที่อัปยศ” มาแล้วในราชวงศ์ชิง
5 ทรัมป์มองเห็นแต่สิ่งที่ดูเหมือนมั่นคงแข็งแรง (Establishment ) แต่มองไม่เห็นหน่ออ่อนของสิ่งเกิดใหม่ ที่เป็นพลังของอนาคตโลก
ทรัมป์ต้องการให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจโลกชาติเดียวในโลกเหมือนกับอดีตเมื่อ100 ปีที่ผ่านมาโดยไม่มีคู่แข่งขัน แต่เขาไม่เข้าใจความเป็นจริงว่า ขณะนี้จีนมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ไม่ได้ด้อยกว่าสหรัฐอีกต่อไปแล้ว ส่วนเทคโนโลยีด้านการผลิต การค้า บริการ การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของจีนก็ล้ำหน้ากว่าสหรัฐ
เช่นเดียวกับเทคโนโลยีทางด้านการทหารของจีนก็ไม่ได้ด้อยกว่าสหรัฐ อีกต่อไปแล้ว และหากสงครามระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มีความเป็นไปได้สูงว่าสหรัฐจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามมากกว่า
การพบกันครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของสีกับปูตินที่มอสโคว์เป็นการยืนยันและตอกย้ำว่าพวกเขาเป็นเพียงแค่ “พันธมิตรทางการเมือง ไม่ใช่พันธมิตรทางการทหาร” ไม่มีการทำสนธิสัญญาการร่วมมือกันทางการทหารระหว่างจีนกับรัสเซีย ว่าหากชาติใด ชาติหนึ่ง มีสงคราม อีกประเทศหนึ่งจะต้องเข้าร่วมด้วย (แตกต่างจากสนธิสัญญาทางการทหารระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ)
จีนและรัสเซียเน้นให้องค์การสหประชาชาติเป็นเครื่องมือ ของประเทศต่างๆทั่วโลก ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จีนและรัสเซียถือเอาเรื่องของสันติภาพ การร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน และโลกาภิวัตน์ทางด้านเศรษฐกิจ (ตรงข้ามกับแนวความคิดของทรัมป์) เป็นวาระสำคัญของโลก
BRIC ก็เป็นนวัตกรรมทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่กลุ่มประเทศซีกโลกใต้รวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาในระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อถ่วงดุลกับประเทศอุตสาหกรรมระดับสูงของโลก จีนเข้าร่วมกับกลุ่มบริกส์ ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของบรรดาประเทศที่กำลังจะมีอนาคตของโลกในอนาคตอันใกล้
สุดท้าย สิ่งที่ผมอยากฝากถึงคนไทยที่เคยศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่สหรัฐฯ ผู้ที่ชื่นชมและยังมีความคาดหวังสูงกับบทบาทของสหรัฐในโลกปัจจุบันว่า สหรัฐมิได้เป็นตัวแทนของพลังทางเศรษฐกิจ ปรัชญาและความคิด ที่จะส่งเสริมให้โลกมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านอุดมการประชาธิปไตย ในการสร้างเสริมสันติสุขให้แก่โลกเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว
วันนี้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และปรัชญาความคิดของโลกตะวันออก เสมือนดั่งรุ่งอรุณที่พระอาทิตย์กำลังขึ้น ส่วนวันเวลาของสหรัฐนั้นเหมือนดั่งพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกลับลาโลกลงแล้ว
บทความโดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
อดีตประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา