xs
xsm
sm
md
lg

กับดักฟอกเขียว! ฟาสต์แฟชั่น เปิด 4 เหตุผลที่ไม่มีทางยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สินค้าจากแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นยังขยายตัวเร็วท่ามกลางกระแสรักษ์โลกมาแรง ด้วยกลยุทธ์ด้านราคาที่ย่อมเยาว์ ออกแบบทันกระแสแฟชั่น แต่ในอีกด้านของโมเดลธุรกิจแบบนี้ สร้างความไม่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และยังพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

รายงานล่าสุดจากกรีนพีซ เมื่อไม่นานนี้ระบุว่าเหล่าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นพยายามฟอกเขียวตัวเอง โดยเฉพาะ “การใช้ฉลากสินค้าที่อ้างถึงความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม” แต่ความเป็นจริงการทำธุรกิจลักษณะเช่นนี้สวนทางกับคำว่ายั่งยืนอย่างเห็นชัด


นี่คือเหตุผล 4 ข้อ ที่เป็นคำตอบว่า..ทำไมฟาสต์แฟชั่นไม่มีทางยั่งยืนและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


1.การผลิตที่ล้นเกิน = สร้างขยะ และการรีไซเคิลที่ทำไม่ได้จริง
ฟาสต์แฟชั่นเร่งให้เกิดการผลิตที่ล้นเกิน แบรนด์ต่าง ๆ เช่น Shein, Temu, Zara และ H&M เป็นต้น ปล่อยคอลเลกชั่นเสื้อผ้าใหม่หลายร้อยแบบทุกสัปดาห์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่ากับว่ายิ่งเร่งให้การผลิตแบบล้นเกินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วปลายทางของเสื้อผ้าที่ถูกผลิตออกมามหาศาลเหล่านี้อยู่ที่ไหน คำตอบก็คือ ทุกปีเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะสิ่งทอหลายล้านชิ้นถูกส่งไปยังบ่อขยะเพื่อฝังกลบหรือเผา ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เช่น ภูเขาขยะเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่ถูกส่งออกไปยังหลายประเทศในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้

ในรายงานสำรวจล่าสุดของกรีนพีซ ยกประเด็นผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการผลิตล้นเกินซึ่งกำลังคุกคามกานา จากข้อมูลของกรีนพีซ แอฟริกา เมืองอักราที่เป็นตลาดเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดกำลังกลายเป็นที่ทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่สามารถสวมใส่ได้ โดยเสื้อผ้าเหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากยุโรปและกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ เสื้อผ้าเหล่านี้มีคุณภาพต่ำจนไม่สามารถนำมาขายได้อีกครั้ง และเศษขยะเสื้อผ้าเช่นนี้ก็มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกองภูเขาขยะขนาดใหญ่เพื่อรอการเผาในที่โล่งแจ้ง การเผาเสื้อผ้าเหล่านี้ก่อให้เกิดสารพิษปนเปื้อนสู่อากาศ รวมถึงเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แม้ว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะอ้างถึง ‘การรีไซเคิล’ เสื้อผ้า แต่ด้วยการผลิตในปริมาณมหาศาลเช่นนี้ก็ไม่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดและต้องมีเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะ ความย้อนแย้งของฟาสต์แฟชั่นนั่นคือ แม้ว่าเสื้อผ้าที่ยั่งยืนจริง แต่ถูกผลิตออกมาในปริมาณมากเกินไปก็ไม่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียน(circular economy)เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น

วิกฤตขยะเสื้อผ้าจากฟาสต์แฟชั่นนั้นมโหฬารจนเราสามารถมองเห็นกองขยะเสื้อผ้าเหล่านี้ได้จากอวกาศ มีภูเขาขยะเสื้อผ้าขนาดใหญ่กองอยู่ในทะเลทรายอทากามา ประเทศชิลี เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นทั้งเสื้อผ้ามือสองและเสื้อผ้าใหม่จาก สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย และขนาดของภูเขาขยะเสื้อผ้านี้ยังคงขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากภาพมุมสูงและภาพถ่ายดาวเทียมเปิดเผยให้เห็นถึงหายนะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถานที่ที่มีระบบนิเวศอันบริสุทธิ์ต้องถูกปนเปื้อนด้วยขยะเสื้อผ้าจากฟาสต์แฟชั่น และแม้ว่าจะมีความพยายามจากท้องถิ่นในการนำขยะเหล่านี้ไปแปรรูป แต่ด้วยปริมาณขยะเสื้อผ้าที่มหาศาลจึงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ให้หมดไปได้ สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นกำลังผลิตสินค้าล้นเกินและไม่สามารถรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดขึ้นจากโมเดลธุรกิจของตัวเอง


2. การใช้ทรัพยากรมหาศาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน : ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมถูกที่ซ่อนเร้น
ความจริงแล้ว อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นต้องพึ่งพาทรัพยากรจำนวนมากนำไปสู่ความไม่ยั่งยืน เริ่มจากการทำไร่ฝ้ายที่ต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลและย่าฆ่าแมลงจำนวนมาก ในขณะเดียวกันการใช้ใยโพลีเอสเตอร์ ก็มีที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังกลายเป็นปัญหามลพิษไมโครพลาสติกในแม่น้ำและมหาสมุทร นอกจากนี้ แม้แต่สิ่งทอที่เรียกได้ว่า ‘ยั่งยืน’ ก็ยังต้องผ่านกระบวนการที่ใช้พลังงานสูงและการใช้สารเคมีซึ่งทำร้ายระบบนิเวศ

อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก การผลิตสิ่งทอต้องใช้ทรัพยากรอันมีค่าในปริมาณมหาศาล ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การผลิตกางเกงยีนส์ 1 ตัวต้องใช้น้ำราว 7,000 ลิตร ในขณะที่การผลิตเสื้อยืดทั่ว ๆ ไปใช้น้ำราว 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่มนุษย์ 1 คนใช้ดื่มได้มากกว่า 900 วัน

จากการเปิดเผยข้อมูลผ่านแคมเปญรณรงค์ DetoxMyFashion ของกรีนพีซ ระบุว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเป็นแหล่งกำเนิดหลักของของการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดหลักของสารเคมี และการปนเปื้อนในแหล่งน้ำในประเทศซีกโลกใต้ เพียงแค่กระบวนการย้อมผ้าเพียงอย่างเดียวก็ใช้สารเคมีหลายชนิดมากถึง 1.7 ล้านตัน สารเคมีแต่ละชนิดอันตรายและส่งผลกระทบรุนแรงระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม

การสืบสวนของกรีนพีซ สเปน ด้วยการติดตามเส้นทางการทิ้งเสื้อผ้ามือสองจากถังขยะพบว่าเสื้อผ้าหลายชิ้นถูกส่งออกไปหลายพันไมล์มากกว่าจะถูกนำไปรีไซเคิล ทำให้อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นมีต้นทุนการทิ้งรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ปริมาณมหาศาล

ในขณะเดียวกัน สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตสิ่งทอก็เป็นมลพิษปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำซึ่งเป็นน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคของคนทั่วโลก รายงานประเด็นด้านฟาสต์แฟชั่นของกรีนพีซแอฟริกาที่ชื่อว่า Slow Poison เปิดโปงถึงขยะสิ่งทอที่ถูกทิ้งกำลังก่อมลพิษต่อดินและแหล่งน้ำในประเทศกานา ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาว


3. การใช้แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบ : ต้นทุนมนุษย์เบื้องหลังเสื้อผ้าราคาถูก

แน่นอนว่าความยั่งยืนที่แท้จริงย่อมขยายขอบเขตมากกว่าความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม แต่ต้องรวมถึงความเป็นธรรมทางสังคมด้วย แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอยู่ได้เพราะแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่อยู่ในประเทศซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ หลายโรงงานในบังคลาเทศ เวียดนาม จีน และ อีกหลายประเทศยังปล่อยให้พนักงานเหล่านี้ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ได้รับค่าจ้างไม่เหมาะสม และต้องเผชิญกับมลพิษที่คุกคามพวกเขาและคนอื่น ๆ ในชุมชน

ในปี 2566 ดัชนีความโปร่งใสด้านแฟชั่นเผยว่า เกือบครึ่งของแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ (จากทั้งหมด 250 แบรนด์ หรือคิดเป็น 45%) ขาดความโปร่งใส แบรนด์หลายแบรนด์ไม่เปิดเผยสถานที่ผลิตเสื้อผ้าของตน มีช่องว่างระหว่างรายได้ของ CEO ของแบรนด์กับพนักงานในโรงงานที่ห่างกันมากและกำลังห่างมากขึ้นไปอีก รวมถึงยังมีหลักฐานอีกมากมายที่บ่งชี้ว่าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อผู้รับจ้างผลิต และมีแบรนด์เพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่เปิดเผยหลักฐานการทำงานร่วมกับผู้รับจ้างผลิตอย่างเป็นธรรม

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 เกิดโศกนาฏกรรมตึก Rana Plaza ในบังคลาเทศถล่ม ส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียอย่างน้อย 1,134 ชีวิตและยังมีพนักงานในโรงงานบาดเจ็บอีกมากกว่า 2,500 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นเปิดโปงให้เห็นถึงเบื้องหลังของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่มีต้นทุนด้านแรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน การผลิตด้วยความเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำต้องแลกมาด้วยการทำงานที่ได้ค่าแรงต่ำและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิต

หลายปีหลังโศกนาฏกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะเกิดการตระหนักถึงมาตรการความปลอดภัยมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลกยังคงผลิตเสื้อผ้าล้นเกินจนกลายเป็นขยะกว่า 1 แสนล้านชิ้น โดยใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทอขึ้นเป็นเสื้อผ้าเป็นหลัก อีกทั้งยังสร้างความเสื่อมโทรมให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยังคงปล่อยให้พนักงานต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย

4.สนับสนุนวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง : กับดักของการฟอกเขียว
ธุรกิจฟาสต์แฟชั่นอยู่รอดได้โดยการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคซื้อมากเกินกว่าความจำเป็น ตัวอย่างแบรนด์ที่เห็นได้ชัดว่าสนับสนุนวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งคือ แบรนด์ Shein ซึ่งผลิตเสื้อผ้าดีไซน์ใหม่ ๆ หลายพันแบบทุกสัปดาห์ แต่ในขณะเดียวกันกลับพัฒนาภาพลักษณ์การเป็นแบรนด์ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ทั้ง ๆ ที่ยังคงโมเดลธุรกิจแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

กรีนพีซ สากล เรียกร้องให้แบรนด์เหล่านี้ต้องหยุดฟอกเขียว เพราะการสร้างภาพลักษณ์ว่าแบรนด์มีการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นที่ยั่งยืน แต่แท้ที่จริงแล้วยังคงผลิตเสื้อผ้าออกมาจนล้นเกิน นำไปสู่ขยะเสื้อผ้าอันเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อม การก้าวไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นจะต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการผลิตปริมาณมหาศาลและหยุดสนับสนุนวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง อย่างไรก็ตามแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นปฏิเสธที่จะปรับปรุงโมเดลธุรกิจเพราะอาจกระทบกับผลกำไรของพวกเขา

ปัจจุบัน แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอย่าง Shein กลายเป็นแบรนด์ไฮเปอร์ ฟาสต์แฟชั่น ซึ่งแทนที่แบรนด์จะปรับปรุงแก้ไขการละเมิดสิทธิและการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่แบรนด์กลับลงทุนมหาศาลในการล็อบบี้เพื่อให้ได้นโยบายที่เอื้อต่อตนเอง ในสหภาพยุโรป Shein ติดต่อขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองชาวเยอรมัน Günther Oettinger ซึ่งเป็นอดีตกรรมาธิการด้านงบประมาณและเศรษฐกิจดิจิตัลของยุโรป เพื่อให้แบรนด์ตนเองมีอิทธิพลต่อกฎระเบียบ และปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของแบรนด์ ก่อนหน้านี้ นาย Oettinger ทำงานเบื้องหลังเพื่อเป็นเกราะป้องกันธุรกิจจากนโยบายของสหภาพยุโรปที่เข้มงวดมากขึ้น การล็อบบี้ครั้งนี้จึงเพิ่มความกังวลว่ากลุ่มธุรกิจจะมีอิทธิพลเหนือผู้กำหนดนโยบาย


ก้าวต่อไป : ผู้บริโภคต้องปฏิเสธฟาสต์แฟชั่น สนับสนุนการใช้ซ้ำและการซ่อมแซมเสื้อผ้า

ที่สุดแล้ว โมเดลธุรกิจแบบฟาสต์แฟชั่นจะไม่มีวันยั่งยืน เพราะแนวคิดนี้ถูกคิดขึ้นพร้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ทรัพยากรมหาศาลขาดความยั้งคิด และมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากผู้บริโภค นอกจากการส่งเสียงบอกทุกคนว่า “ฟาสต์แฟชั่นกำลังฟอกเขียวแล้ว”

เราจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง นั่นคือการสนับสนุนแนวคิด Slow Fashion และปฏิเสธการบริโภคที่ล้นเกิน ทุกครั้งก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อะไร หยุดทบทวนสักนิดว่า “เราจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่” การแชร์ การซ่อมแซม และการซื้อสินค้ามือสองอาจเป็นทางเลือกและสามารถเป็นวัฒนธรรมปกติของเราในอนาคตได้ ส่วนอนาคตของวงการแฟชั่นที่จะอยู่รอดก็ต้องตระหนักถึงผู้คนและสิ่งแวดล้อมโลกมากกว่าผลกำไร

อ้างอิง https://www.greenpeace.org/thailand/story/55387/4-reasons-why-fast-fashion-will-never-be-green/

นักกิจกรรมของกรีนพีซ ถ่ายภาพพร้อมแบนเนอร์ในเมือง Jamestown ซึ่งเป็นเมืองประมงในจังหวัดอักกรา (Accra) ประเทศกานา หนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากขยะเสื้อผ้าซึ่งปนเปื้อนลงสู่ทะเล เครดิตภาพ : ? Kevin McElvaney / Greenpeace


รู้หรือไม่ ! พฤติกรรม ‘ซื้อง่ายทิ้งไว’ กระทบสิ่งแวดล้อมหลายมิติ

ธุรกิจ Fast Fashion แต่ละขั้นตอนการผลิตก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงเป็นลำดับ 4 รองจาก อุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง รวมถึงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการใช้วัตถุดิบ และน้ำ

1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลก สูงกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกัน และคาดว่าภายในปี 2573 อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 50%

2) การใช้น้ำเป็นจำนวนมาก สร้างมลภาวะทางน้ำและอากาศ โดยส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการย้อมและตกแต่งที่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษและอันตรายในการผลิต ข้อมูลจาก UN และ ILO ระบุว่า 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลกมาจากอุตสาหกรรม Fast Fashion

3) การเพิ่มขึ้นของขยะที่ย่อยสลายยาก ซึ่งเสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัวที่ผลิตขึ้นในแต่ละปีทั่วโลก กลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบกว่า 92 ล้านตัน และคาดว่าภายปี 2576 ขยะเสื้อผ้าจะเพิ่มเป็น 134 ล้านตันต่อปี โดยมีเพียง 1% ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ นอกจากนี้ เสื้อผ้ามีส่วนประกอบของขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากอย่างไมโครพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

4) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะในกระบวนการปลูกวัตถุดิบ อาทิ การปลูกฝ้าย ที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืชปริมาณมาก ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของหน้าดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น