xs
xsm
sm
md
lg

กรมลดโลกร้อน เตือนภัย-แนะวิธีรับมือ “พายุฤดูร้อน/พายุหมุนเขตร้อน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมลดโลกร้อน ส่งคำเตือนให้เตรียมพร้อมป้องกันภัยจากพายุฤดูร้อน/พายุหมุนเขตร้อน เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรง

เหตุจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic climate change) มีแนวโน้มว่าจะช่วยเพิ่มความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนให้มากขึ้น การทำลายล้างของพายุหมุนเขตร้อนผ่านการเกิดน้ำท่วม ได้รับการเสริมแรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในระดับโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์

นอกจากนี้ อัตราการเกิดฝนจากพายุหมุนเขตร้อนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณความชื้นในบรรยากาศที่มากขึ้นซึ่งสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนอีกด้วย


ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเกิดพายุในรูปแบบต่าง ๆ บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพายุฤดูร้อน หรือพายุหมุนเขตร้อน เมื่อเกิดพายุขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เป็นวงกว้าง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และคลื่นลมแรง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชน เพื่อความปลอดภัย จึงมีข้อควรปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบจากพายุในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

• รับมือพายุอย่างปลอดภัย
- ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง หากมีประกาศเตือนภัย ให้ปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะหลังคาบ้าน หน้าต่าง ช่องลม เพื่อป้องกันลมแรง พัดบ้านเรือนเสียหาย
- ดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้าน โดยตัดแต่งต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิดหรือผูกยึดไว้ให้มั่นคง กำจัดขยะสิ่งกีดขวางทางน้ำในร่องน้ำ คูน้ำ เพื่อเปิดทางระบายน้ำกรณีฝนตกหนัก
- สำรวจสิ่งปลูกสร้างที่เสี่ยงต่อการล้มทับ อาทิ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา หากอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรง ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขให้ปลอดภัย
- เตรียมสิ่งของจำเป็นไว้ก่อนเกิดภัย อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย

• วิธีปฏิบัติตนปลอดภัยเมื่อเกิดพายุ
- หลบพายุในพื้นที่ปลอดภัย โดยอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่แข็งแรงและปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด รวมถึง ไม่อยู่ใกล้ประตูหน้าต่างกระจก หากกระจกแตกจะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
- ไม่หลบพายุในจุดเสี่ยงอันตราย อาทิ ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง เพราะเสี่ยงต่อการโค่นล้มและล้มทับ
- ห้ามอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะอาจได้รับอันตรายจากลมพัดสิ่งของปลิวมากระแทก รวมถึงเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
- ไม่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและงดกิจกรรมทางทะเล โดยเฉพาะการเล่นน้ำ เดินเรือ เพราะคลื่นลมในทะเล มีกำลังแรงและอาจเกิดคลื่นซัดชายฝั่ง จะทำให้ได้รับอันตราย

อ้างอิง : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม,
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(ปภ.)


NOAA Climate.gov : https://www.climate.gov/.../climate-change-probably...


กำลังโหลดความคิดเห็น