xs
xsm
sm
md
lg

ชวนส่อง “งานสีเขียว” อาชีพที่ตลาดแรงงานไทยต้องการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีจุดชี้ชัดว่ากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจที่กำลังปรับตัวก่อนใครในบ้านเรา ประกอบไปด้วย 4 ภาคธุรกิจด้วยกัน ได้แก่ ภาคธุรกิจด้านพลังงานและเคมี ภาคธุรกิจด้านอาหารและเกษตร ภาคธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม

เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจเหล่านี้ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจเยอะกว่าภาคธุรกิจอื่น รวมถึงการปล่อยมลพิษ หากไม่ปรับตัวตอนนี้ ในอนาคตอาจสูญเสียกำไรเม็ดเงินและโอกาสในการเติบโตในอนาคตเป็นอย่างมาก

ถึงวันนี้ รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนให้เกิดตำแหน่งงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบายต่างๆ ที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรมลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น เช่น งดเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร ผลักดันธนาคารให้ปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไปจนถึงสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตลอดจนแหล่งผลิตพลังงานสะอาดอื่นๆ และเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหากบริษัทนั้นปล่อยมลพิษสูง

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำเพื่อปรับตัว เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน และสร้างธุรกิจสีเขียวให้ตอบโจทย์ตลาดในอนาคต คือการลงทุนบุคคลผู้เป็นอนาคตขององค์กร ด้วยการจัดอบรมให้มีทัศนคติและอุปนิสัยด้านการพัฒนา เสริมทักษะให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมเท่าทันโลก อย่างเช่นบริษัท CPN บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่เอาจริงด้านนี้ พนักงานตำแหน่ง CFO ต้องรับหน้าที่ดูแลเรื่องความยั่งยืน กำกับดูแลกิจการและธรรมาภิบาล ผ่านการสนับสนุนกลไกการดูแลสิ่งแวดล้อมจากการลงทุน สร้างให้เกิดธุรกิจยั่งยืนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในโลกอนาคต ทุก stakeholder ก็สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี 2020 เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6 เปอร์เซ็นต์ รายงานยังระบุว่าเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างงานเพิ่มอีก 1.2 ล้านตำแหน่งภายในปี ค.ศ.2030

เวลานี้ พนักงานที่ทำงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยยังคงขาดตลาดมากจนค่าตัวพุ่งสูงขึ้น 3 เท่าจากเดิม โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และด้านพลังงานสะอาด เช่น เจ้าหน้าที่จัดการการท่องเที่ยวฟื้นฟูป่า ช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกังหันลม ช่างติดตั้งโซลาร์เซลล์ ที่ปรึกษาด้านการใช้พลังงานสะอาด ไปจนถึงช่างเย็บกระเป๋าหนังอีโค่ ตัวอย่างอาชีพเหล่านี้คือโอกาสใหม่ของทุกคน


ดังนั้นทิศทางของงานสีเขียว (Green Jop) ซึ่งเป็นอาชีพที่ใช้ “ทักษะสีเขียว” (Green Skills) ย่อมจะยิ่งมีการเติบโตขึ้น ตามความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว ต่อไปนี้คือแนวโน้มอาชีพสีเขียวที่น่าจับตามอง

ผู้จัดการด้านความยั่งยืน
องค์กรต่างๆ เริ่มมีการจัดตั้งแผนกหรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งรวมถึงการพัฒนานโยบาย ESG (Environmental, Social, and Governance) และการรายงานความยั่งยืน

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม
การใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน

วิศวกรพลังงานทดแทน
ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐในการลงทุนพลังงานสะอาด มีความต้องการวิศวกรที่มีทักษะในการออกแบบ ติดตั้ง และบำรุงรักษาระบบพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ
การจัดการขยะอย่างยั่งยืนและการรีไซเคิลมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่สามารถพัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการลดและจัดการขยะ

นักเกษตรอินทรีย์
ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น การเกษตรแบบยั่งยืนจึงเป็นที่ต้องการ ทั้งในแง่ของการผลิตและการส่งเสริมการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี

นักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืน
การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ต้องการนักวิเคราะห์ที่มีความรู้ด้านนี้เพื่อให้คำแนะนำและประเมินความเสี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

นักออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียว
การออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการก่อสร้างใหม่หรือการปรับปรุงอาคารเก่าให้มีประสิทธิภาพพลังงานสูง


ทีดีอาร์ไอ แนะภาครัฐเร่งสร้างทักษะสีเขียว

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานสีเขียวทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ หากจะเปลี่ยนให้คนไทยได้งานสีเขียวรายได้ดี ประเทศไทยต้องเร่งสร้างทักษะโดยรวมที่สำคัญให้แก่คนไทย ได้แก่

A (Attitude) หมายถึง ทัศนคติที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน


S (Skill) หมายถึง ทักษะเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร ความสามารถในการปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงออกแบบ (design thinking)


K (Knowledge) หมายถึง ความรู้เชิงเทคนิคด้านวิศวกรรมและเทคนิค หรือด้านวิทยาศาสตร์ (หรือเรียกโดยรวมว่า STEM) หรือด้านการจัดการดำเนินงาน หรือด้านการติดตามประเมินเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ควรมีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะสีเขียวที่สำคัญ เช่น ทักษะการจัดการและพัฒนากลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทักษะเกี่ยวกับพลังงาน การหมุนเวียนทรัพยากรและการลดคาร์บอน (รวมถึงการประเมินโครงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์) ทักษะด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางสีเขียว (รวมถึงการจัดการและบำรุงรักษารถไฟฟ้า) และทักษะการเงินเพื่อความยั่งยืน (รวมถึงการวิเคราะห์และรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน)

หากไม่เร่งยกระดับสมรรถนะที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะด้าน STEM ซึ่งขาดแคลนมากในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเร่งฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะสีเขียวให้คนไทย ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ยากและช้ากว่าที่กำหนด และจะขาดกลจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจะทำให้การสร้างงานรายได้ดีเกิดขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และที่สำคัญแรงงานจำนวนมากจะตกงานหรือได้งานรายได้ต่ำมาก

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่าปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานสีเขียวทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ หากจะเปลี่ยนให้คนไทยได้งานสีเขียวที่มีรายได้ดี ภาครัฐควรเร่งดำเนินนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

ประการแรก ปรับการพัฒนาแรงงานตามนโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยสร้างเวทีที่ให้ภาครัฐและภาคเอกชนมาทำงานร่วมกัน และทำให้หน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ

ประการที่สอง วางระบบข้อมูลเพื่อระบุทักษะและจัดทำแผนพัฒนา โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ระบุทักษะที่ตลาดต้องการ และจัดทำแผนพัฒนาทักษะแรงงานที่ต้องการรายอุตสาหกรรมทุกปี โดยร่วมหารือใกล้ชิดกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาเพื่อจัดลำดับทักษะที่ต้องพัฒนาและออกแบบหลักสูตรรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รวมทั้งวิเคราะห์คุณลักษณะและทักษะที่ควรเสริมของแรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง

ประการที่สาม พัฒนาทักษะ STEM ให้เข้มแข็ง โดยฝึกอบรมผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจจริง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้ ร่วมกับปรับการเรียนรู้ให้เป็นแบบสหวิทยาการ โดยเน้นการแก้ปัญหาจริง

ประการสุดท้าย ฝึกทักษะแรงงาน โดยใช้แนวทางที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ แนวทางแรก การอุดหนุนนายจ้างให้ฝึกทักษะสีเขียวแก่แรงงานในระบบ โดยอุดหนุนค่าเรียนและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้างปัจจุบัน แนวทางที่สอง การอุดหนุนการฝึกทักษะสีเขียวให้แรงงานนอกระบบ โดยแจกคูปองฝึกทักษะ ควบคู่กับจัดทำระบบแนะแนวและจับคู่หางาน และแนวทางที่สาม การอุดหนุนการฝึกทักษะเพื่อเปลี่ยนงานให้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยงในธุรกิจสีน้ำตาล โดยช่วยจับคู่หางาน ควบคู่กับการสนับสนุนค่าเรียนและเงินเดือนบางส่วนให้นายจ้างใหม่

อ้างอิง

https://globalcompact-th.com/news/detail/
https://www.weforum.org/stories/2024/02/green-jobs-green-skills-growth/
https://creativetalkconference.com/green-skills-the-future-skills/
https://www.thaichamber.org/news/view/510/2434/tcc-business-insight-:-7-green-skills-2024

https://gridmag.safesavethai.com/green-skills/


กำลังโหลดความคิดเห็น