ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ปีที่แล้วต่อเนื่องจนถึงเมื่อต้นปีนี้ ส่งผลกระทบชัดเจนต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรม โดยมีสาเหตุที่สำคัญจาก “ภาวะโลกรวน” พืชผลที่ได้รับเสียหายหนัก ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง ข้าว และอ้อย เจริญเติบโตช้า คุณภาพผลผลิตลดลง และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวล่าช้ากว่าปกติ
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่าเกษตรกรควรปรับตัวโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร เช่น การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการใช้น้ำและช่วยลดก๊าซเรือนกระจก หรือการทำเกษตรผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหาย และแนะนำการใช้แอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบโรคและแมลง เช่น "ไลน์บอทโรคข้าว (Rice Disease Linebot)" ที่สามารถวิเคราะห์และให้คำแนะนำการดูแลพืชได้แบบเรียลไทม์
งานวิจัยชี้ว่า เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ จะสามารถเพิ่มรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยได้ถึง 130,000 บาทต่อปี พร้อมกระตุ้นให้ภาคเกษตรกรรมไทยก้าวสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว "การปรับตัวให้ทันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของเกษตรกรไทย เพื่อรักษาผลผลิตและคุณภาพชีวิตในระยะยาว"
ภาระงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และทำให้งบประมาณใช้จ่ายเพื่อการลงทุนยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาครัฐมีแนวโน้มลดลง ท้ายสุด ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกจะลดลง ส่งผลกระทบเชิงลบย้อนกลับมาสู่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการขั้นกลางน้ำและปลายน้ำที่ต้องพึ่งพาผลผลิตจากเกษตรกรจะมีความเสี่ยงด้านต้นทุนมากขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ที่จริงๆ มีสิ่งควรทำหลายประเด็น แต่ที่สำคัญที่สุดคือควรปรับลดนโยบายที่ให้การช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่าและเพิ่มนโยบายที่ให้การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในการปรับตัวมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีกับเกษตรกรและภาคเกษตรไทยในระยะยาวและยั่งยืน ตัวอย่างเช่น นโยบายประกันรายได้หรือประกันราคาควรดำเนินการแบบชั่วคราวและมาพร้อมเงื่อนไขในการปรับตัวเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า และลดความเสี่ยงในการผลิตและการตลาด เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การไม่เผาเมื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลง ปลูกพืชตามความเหมาะสมของดินและน้ำ การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดหรือท่อนพันธุ์ทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง การอบรมและฝึกทดลองการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
“โจทย์หลักคือการสร้างความตระหนักรู้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำคือการปรับตัว และนำไปสู่ความยุติธรรมข้ามรุ่น ข้ามวัย คนรุ่นอนาคตต้องมาแบกรับ ถึงเวลาที่ต้องมานั่งคิด เพื่อไม่ให้รุ่นลูกหลาน กลับมาด่าเราได้”
“เมื่อเป็นแบบนี้ “จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร” ผมอยากเสนอแนะว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” ควรเร่งกระบวนการผลิตต้นน้ำ “นโยบายเกษตร” ต้องเปลี่ยนไม่ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับตัว และไม่สร้างภูมิคุ้มกันในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะนี้"
ก๊าซเรือนกระจกกว่าครึ่ง มาจากทำนาข้าวแบบเดิม
ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2560 ภาคเกษตรกรรมของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 58,486.02 GgCO2eq โดยกว่าครึ่งของก๊าซเรือนกระจกมาจากการปลูกข้าว 29,990.25 GgCO2eq (ร้อยละ 51.28) อันดับสองมาจากก๊าซที่ปล่อยออกมาจากระบบย่อยอาหารของสัตว์ 10,052 GgCO2eq (ร้อยละ 17.19) และกิจกรรมทางการเกษตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ยยูเรีย ปูนขาว การเผาไร่ ต่างก็ส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งสิ้น
ภาคเกษตรกรรมต้องหาหนทางการทำเกษตรกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกษตรกรมีศักยภาพในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้โลกนี้มีความยั่งยืนทางอาหาร นั่นคือ ต้องหันมาหาเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ส่งเสริมทั้งความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีพของเกษตรกร ทำได้หลายแบบ เช่น แทนที่จะเผาใบอ้อย ที่ทั้งปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นพิษต่อสุขภาพ ก็หันมาใช้ใบอ้อยเป็นวัสดุคลุมดิน หรือนำใบอ้อยไปทำเป็นอาหารสัตว์แทนการเผา แทนที่จะใช้ปูนขาว ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยสังเคราะห์ ซึ่งล้วนมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ก็หันมาใช้มูลสัตว์และปุ๋ยหมัก และปลูกพืชหมุนเวียน หรือแม้แต่การเปลี่ยนสูตรอาหารวัวเพื่อให้การย่อยอาหารของวัวปล่อยมีเทนน้อย