ภาคเกษตรกรรม
นับเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลกที่กำลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาลแปรปรวน ภัยแล้งยาวนาน น้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงประชากรที่เพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรธรรมชาติลดลง ซึ่งส่งผลต่อกำลังการผลิตอาหาร อีกทั้งการทำเกษตรแบบดั้งเดิมมายาวนานก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเร่งแก้ไข
หลายประเทศจึงมุ่งสู่แนวทางการทำเกษตรยุคใหม่ที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น เกษตรคาร์บอนต่ำ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการดินอย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดการใช้สารเคมี สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก การปรับตัวสู่เกษตรกรรมยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นทางรอด ที่ทำให้เกษตรกรไทยเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน
โรงงานรวงข้าว
มีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรอบโรงงานและพื้นที่ข้างเคียงให้มุ่งสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ลดการพึ่งพาสารเคมี ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โรงงานสุรานทีชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมมือกับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรตำบลท่าโรงช้าง และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักปลอดภัยบ้านเสวียด ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยสร้างโรงเรือนเพาะปลูกผักกางมุ้งระบบสมาร์ทฟาร์ม และนำผลพลอยได้จากการผลิตมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ แบรนด์ “ราก : R-AA-K” เพื่อให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมี ด้วยความเข้มแข็งของโรงงานและชุมชนจึงสามารถต่อยอดสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดภัย และพัฒนาเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS สุราษฎร์ธานี โดยมีสมาชิกวิสาหกิจชุมชน 10 ชุมชน ใน 5 อำเภอ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ชุมชน
โรงงานสุรามงคลสมัย จังหวัดอุตรดิตถ์ จับมือกับ เกษตรกรในชุมชนบ้านผาจุก ทดลองนำน้ำกากส่าที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตสุรา มาใช้เป็นสารปรับปรุงดินชั้นดี มีธาตุอาหารหลักและจุลินทรีย์ที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช มาใช้ปลูกหญ้าแพงโกล่าเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้เกษตรกรจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมโครงการ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมี ได้ประมาณ 1,000 บาทต่อไร่ และโรงงานยังขยายผลสู่ โครงการเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อชุมชน ปรับปรุงพื้นที่ว่างของโรงงาน เพื่อปลูกข้าวสายพันธุ์ดี กข85 ที่ให้ผลผลิตสูง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตครึ่งหนึ่งจะมอบให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกต่อ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์ ส่วนที่เหลือจะนำไปจำหน่ายเป็นต้นทุนในการปลูกข้าวครั้งต่อไป อีกทั้ง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทักษะการปลูกข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่การดูแลรักษา กำจัดวัชพืช ป้องกันโรคและแมลง การระบายน้ำ การเก็บเกี่ยว การลดความชื้นหลังเก็บเกี่ยว สร้างรายได้ให้เกษตรกร 25,500 บาทต่อฤดู
ด้วยความร่วมมือระหว่างโรงงาน ชุมชน และเกษตรกร เพื่อมุ่งสู่เกษตรยุคใหม่ ไม่เพียงช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้เกษตรกรรมไทยก้าวหน้าและสร้างโลกที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป