xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ไทยลงนามเป็นประเทศที่ 113

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก้าวแรกของไทยในบทบาทร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง และการส่งเสริมการกำกับดูแลมหาสมุทรอย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสอดคล้องกับเป้าหมาย SGD14 ด้านกรีนพีซ ชูเป้าหมายสถานีถัดไป “รัฐบาลลงนามสัตยาบัน”

ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 113 ที่ลงนามความตกลง BBNJ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 (ภาพจากกระทรวงต่างประเทศ)
เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลไทย ได้ลงนามความตกลงภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้อย่างยั่งยืนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (Agreement under the United Nations Convention on the Law of the Sea on the conservation and sustainable use of marine biological diversity of areas beyond national jurisdiction: BBNJ) ที่นครนิวยอร์ก

การลงนามครั้งนี้ มีนาย David Nanopoulos, Chief of the Treaty Section ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อแสดงเจตนาของไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมโลก ในการจัดระเบียบกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทะเลหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ โดยประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 113 ที่ได้ลงนามความตกลง BBNJ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถือว่าไทยเป็นภาคีความตกลงนี้ในทันที จากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวมถึงการความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายของไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากกลไกต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลง BBNJ ก่อนแสดงเจตนาเข้าเป็นภาคี


• 4 เรื่องสำคัญ “สนธิสัญญาทะเลหลวง”

ความตกลง BBNJ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ติดตาม และจัดระเบียบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (marine genetic resources - MGRs) ในพื้นที่นอกเขตอำนาจของรัฐ (ทะเลหลวงและบริเวณพื้นที่ หรือ The Area) ซึ่งปัจจุบัน ยังขาดการควบคุมและการจัดระเบียบ เพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ ในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรที่มีชีวิตดังกล่าว ที่ถือว่าเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ โดยมีเนื้อหาครอบคลุม 4 เรื่อง ดังนี้

1. การจัดระเบียบการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ทรัพยากรดังกล่าว (Marine Genetic Resources: MGRs, including the fair and equitable sharing of benefits)


2. การใช้เครื่องมือการจัดการเชิงพื้นที่รวมถึงการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Area Based Management Tools, including Marine Protected Areas)


3. การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessments)


4. การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล (Capacity Building and the Transfer of Marine Technology)

กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคี จะได้รับประโยชน์จากกลไกต่าง ๆ ภายใต้ BBNJ โดยเฉพาะการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลในพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ การเข้าถึงข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลเพื่อการวิจัย การเสริมสร้างขีดความสามารถและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนการทำงานในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสอดคล้องกับเป้าหมาย SGD14 คือ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย


• กรีนพีซ ร่วมยินดี - ชูเป้าหมายถัดไป “ลงนามสัตยาบัน”

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ Ocean Justice ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “พวกเราขอชื่นชมรัฐบาลไทยสำหรับก้าวสำคัญนี้ในการปกป้องมหาสมุทร” เพราะถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแสดงบทบาทของประเทศไทยในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง และการส่งเสริมการกำกับดูแลมหาสมุทรอย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

สนธิสัญญาทะเลหลวง เป็นกรอบการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายเขตคุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas – MPAs) ในพื้นที่ทะเลนอกน่านน้ำ โดยเน้นถึงการแบ่งปันและเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเล (Marine Genetic Resouces -MGRs) อย่างเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเสริมสร้างความสามารถในการอนุรักษ์ทะเลและมหาสมุทรได้อย่างรอบด้านมากขึ้น

“ทะเลนอกน่านน้ำหรือทะเลหลวงเป็นหน้าด่านที่สำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การที่รัฐบาลไทยมีมติอนุมัติลงนามสนธิสัญญาทะเลหลวง ถือเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นก้าวแรกของไทยที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับนานาชาติในการอนุรักษ์ท้องทะเลและมหาสมุทร เป้าหมายต่อไป เราต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการลงนามสัตยาบันให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเปลี่ยนผ่านจากความมุ่งมั่นเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องท้องทะเลและมหาสมุทร”

ณิชนันท์ อธิบายว่า แม้น่านน้ำของไทยจะไม่ได้ติดกับทะเลหลวงโดยตรง แต่การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นอกอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพของระบบนิเวศชายฝั่งของไทยเอง เพราะสัตว์ทะเลที่สำคัญหลายชนิด เช่น เต่าทะเล หรือฉลาม เป็นสัตว์ทะเลที่เกิดในทะเลในน่านน้ำและโตในทะเลนอกน่านน้ำ การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการปกป้องทางทะเลและมหาสมุทรจึงไม่เพียงเชื่อมโยงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนชายฝั่งและประมงภายในประเทศ

ปัจจุบัน มีประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงแล้วจำนวน 113 ประเทศ ในจำนวนนี้มี 21 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว ทั้งนี้ เพื่อสนธิสัญญาทะเลหลวงมีผลบังคับใช้ จำเป็นต้องมีอย่างน้อย 60 ประเทศที่ให้สัตยาบัน ซึ่งจะเปิดทางให้การจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในทะเลหลวง

“การอนุมัติการลงนามในข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวงของประเทศไทย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น กรีนพีซ ประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้สัตยาบันและมีส่วนร่วมในความพยายามระดับภูมิภาคและระดับโลกในการดำเนินการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในเขตนอกน่านน้ำอย่างจริงจัง เพื่อให้เราสามารถส่งต่อมหาสมุทรที่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นต่อไป”




ทำไมถึงต้องเร่ง สนธิสัญญาฉบับนี้

ตามความตกลง BBNJ ต้องการที่จะสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ตามเป้าหมาย นั่นคือ 30% ของทะเลทั้งหมด ซึ่งมหาสมุทรโลกในปัจจุบันได้รับการปกป้องไม่ถึง 1% ของพื้นที่ทางทะเลหลวงทั้งหมด และยังเผชิญกับภัยคุกคาม ทั้งประมงทำลายล้าง มลพิษ อุตสาหกรรมเหมืองทะเลลึก

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature and led by Global Fishing Watch เมื่อเดือนมกราคม 2566 ระบุว่า ข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ถึง 75% ได้รับการปกปิดจากสาธารณชน 

ขณะที่รายงานของกรีนพีซ “30×30 จากสนธิสัญญาทะเลหลวงสู่เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล” เผยว่าภัยคุกคามที่เกิดในทะเลหลวงกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปี 2565 มีการทำประมงในทะเลหลวงเพิ่มขึ้นถึง 22.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยเรือประมงพาณิชย์ในทะเลหลวงใช้เวลาจับปลารวมกันทั้งหมด 8,487,894 ชั่วโมง

“สนธิสัญญาทะเลหลวง” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งประเทศต่างๆต้องเร่งให้สัตยาบัน เพื่อเริ่มกระบวนการปกป้องและฟื้นฟูมหาสมุทรทั่วโลกอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นหากระบบนิเวศพังลง ในที่สุดผลกระทบจะมาตกอยู่ที่ความมั่นคงทางอาหาร และผู้คนกว่าพันล้านคนทั่วโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น