xs
xsm
sm
md
lg

อ่านทาง ทีมนโยบายเศรษฐกิจ ทรัมป์ / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสัญญาณที่ทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งนำโดย สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สื่อสารออกมาให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปนั้น นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วยเรื่อง พิกัดอัตราภาษี (Tariffs) การปฏิรูปภาษี (Tax Cuts) และการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) เพื่อจุดหมายในการลดหนี้ที่มีอยู่ราว 36 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 123% ของจีดีพี

ในแผนระยะที่หนึ่งซึ่งรัฐบาลทรัมป์ ได้ดำเนินการแล้ว คือ การวางแนวทางเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) และการทยอยลดรายจ่ายในภาครัฐด้วยการยุบหน่วยงาน ลดบุคลากร ตัดงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาวะเงินเฟ้อ และไม่ไปกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดภาษีในแผนระยะที่สอง จะช่วยให้ประชาชนมีเงินเหลือในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายกฎระเบียบในแผนระยะที่สาม จะช่วยเร่งการเติบโตในภาคการผลิต ซึ่งไปเพิ่มโอกาสการจ้างงานของภาคเอกชน (ที่ช่วยชดเชยการเลิกจ้างในภาครัฐด้วย)

แม้นโยบายการเก็บภาษีต่างตอบแทน จะถูกมองเป็นสัญญาณลบต่อเศรษฐกิจโลก และผลักให้นานาประเทศอยู่ฝั่งตรงข้ามของโต๊ะเจรจา ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ ประเมินแล้วว่า ประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ จะไม่กล้าผลีผลามเพิกเฉยข้อเสนอเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยตามข่าวระบุว่า ไทยก็อยู่ในกลุ่ม 14 ประเทศแรกที่สหรัฐฯ หวังว่าจะบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ในกรอบระยะเวลา 90 วัน ที่มาตรการภาษีดังกล่าวถูกพักการบังคับใช้ชั่วคราว

เป็นที่รับรู้กันว่า หัวข้อการค้าหลักที่อยู่หน้าโต๊ะเจรจา คือ 1) เพิ่มยอดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดตัวเลขขาดดุล และ 2) เพิ่มการลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้ถูกเรียกเก็บภาษี (และยังจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีการลงทุนเพิ่มตามแผนระยะที่สอง) ขณะที่หนึ่งในข้อเรียกร้องที่น่าจะอยู่หลังโต๊ะเจรจา คือ มาตรการจำกัดวงล้อมจีนในทางเศรษฐกิจ โดยไม่ให้จีนส่งออกสินค้าผ่านประเทศคู่ค้าซึ่งต้องการบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีต่างตอบแทน


เรียกว่า สหรัฐฯ ใช้วิธียืมมือประเทศคู่ค้าตีกรอบล้อม (Contain) จีน มิให้ใช้ประเทศที่สามเป็นทางผ่านส่งออกสินค้ามายังตลาดสหรัฐฯ เพื่อให้กำแพงภาษีที่มีต่อจีน ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (ส่วนสินค้าจีนจะทะลักสู่ตลาดของประเทศคู่ค้าหรือไม่นั้น ไม่ใช่ปัญหาของสหรัฐฯ)

ในแง่ของตลาดสินค้าในสหรัฐฯ แน่นอนว่า นโยบายการเก็บภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับราคาที่เพิ่มขึ้น (หรือไม่ก็จำต้องบริโภคน้อยลงหรือหยุดการบริโภคสินค้านั้น ๆ เลย) และยังทำให้มีตัวเลือกสินค้าในตลาดลดลง (เพราะผู้นำเข้า ไม่นำเข้าสินค้า ด้วยกังวลว่าจะขายไม่ได้) รวมทั้งมีโอกาสที่ทำให้สินค้าเดียวกันที่ผลิตในประเทศขึ้นราคาโดยผู้ขายที่ฉวยประโยชน์แบบกินเปล่า (Freeloader)

ในแง่ตลาดเงิน หากนานาประเทศเริ่มขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสหรัฐฯ จะทยอยลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยง ผลที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้น คือ การเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไปกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งก็ตรงตามเป้าหมายของทีมเศรษฐกิจทรัมป์ที่ต้องการให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ในตลาดโลก มีราคาที่ถูกลง และสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาแข็งแกร่งจากการผลิตที่ทำรายได้เข้าประเทศ (ไม่ใช่เติบโตด้วยการบริโภคและก่อหนี้) ในระยะยาว ประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องรักษาการถือครองสกุลเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองอยู่เหมือนเดิม

ในแง่ตลาดตราสารหนี้ ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ เชื่อว่า ไม่มีประเทศใดที่ต้องการทำลายเสถียรภาพในตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นที่พักพิง (Safe Haven) หรือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้ลงทุน เพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง แม้กระทั่งชาติมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีน เพราะการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้ง เท่ากับว่าจีนได้เงินสกุลดอลลาร์เพิ่ม ซึ่งหากไม่อยากถือเงินดอลลาร์ไว้ จีนก็ต้องขายดอลลาร์และถือเป็นเงินสกุลหยวน ก็ยิ่งทำให้เงินหยวนแข็งค่า ซึ่งไปสวนทางกับนโยบายที่จีนต้องการ จึงไม่เห็นว่าการที่จีนจะเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้งในเวลานี้ จะมีประโยชน์ใด ๆ ในทางเศรษฐกิจต่อจีนเอง

สำหรับตลาดตราสารทุน ทีมเศรษฐกิจทรัมป์นั้น ให้ความสำคัญกับ Mainstreet (ที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริง) มาก่อน Wallstreet (ที่เป็นภาคการเงิน) เพราะเชื่อว่า ในระยะยาว หากภาคเศรษฐกิจหรือภาคการผลิตจริงมีความแข็งแกร่ง ย่อมจะส่งผลสู่ภาคการเงินในทิศทางเดียวกัน แม้ในระยะสั้น ตลาดทุนอาจจะมีความผันผวนสูง จากผลสะท้อนของมาตรการต่าง ๆ ที่ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ นำมาใช้ในแต่ละช่วง

อันที่จริง ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ อาจมีความต้องการที่เลยไปถึงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี (Tech Sector) ที่ได้อานิสงส์จากค่าแรงต่ำและชิ้นส่วนราคาถูกจากนอกประเทศมาเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้กำไรจากส่วนต่างเป็นจำนวนมหาศาล จนสามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารอย่างเป็นกอบเป็นกำ

การดึงบริษัทเหล่านี้กลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศ (Reshoring) จะช่วยให้เกิดการปรับการกระจายรายได้ (Redistribution of Income) กลับไปสู่ผู้ส่งมอบและแรงงานภายในประเทศ จากการจ้างงานและการซื้อในห่วงโซ่อุปทานที่ผู้ประกอบการและพลเมืองสหรัฐฯ ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการปรับโครงสร้างดังกล่าว

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างธุรกิจในแนวทางนี้ มิใช่เรื่องง่าย เพราะจะเจอแรงเสียดทานทั้งจากบริษัทที่ไม่ต้องการมีต้นทุนเพิ่มหรือมีการจัดสรรรายได้ในทางที่ทำให้กำไรของกิจการลดลง และจากผู้ลงทุนที่ต้องการตัวเลขผลตอบแทนสูง ๆ รวมทั้งจากผู้บริโภคที่ไม่ต้องการให้สินค้าเดิมที่เคยซื้อมีราคาแพงขึ้น

ต้องติดตามว่า ระหว่างเวลาที่รอให้นโยบายเศรษฐกิจส่งผล กับเวลาที่รัฐบาลทรัมป์มีเหลือในการทำงาน อันแรกจะเกิดขึ้นก่อนหรืออันหลังจะหมดก่อน

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์


กำลังโหลดความคิดเห็น