‘ทีดีอาร์ไอ’ ชำแหละมาตรการของรัฐ "ตรึงราคาค่าไฟฟ้า" เพื่อช่วยลดภาระในครัวเรือน แม้ดูเหมือนเป็นการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ในระยะสั้น แต่รู้หรือไม่ ! ความเป็นจริงกลับก่อผลกระทบที่ซ่อนอยู่ในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของระบบพลังงานในระยะยาว ที่สุดแล้ว ภาพการตรึงวันนี้ คือกลไกการยืดหนี้ ให้จ่ายเพิ่มในวันหน้า
ขณะที่ “ตลาดไฟฟ้าเสรี” หนทางรอดในยุคพลังงานสะอาดของประเทศไทย มีความพร้อมด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานค่อนข้างต่ำ ในปี 2024 อยู่อันดับที่ 60 ของดัชนี Energy Transition Index ตามหลังหลายประเทศในภูมิภาค
ดร. อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่าในช่วงเวลาที่ประชาชนเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น รัฐบาลมักใช้มาตรการ "การตรึงราคาค่าไฟฟ้า" เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและลดภาระในครัวเรือน แต่แนวทางนี้แม้จะดูเหมือนเป็นการช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ในระยะสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีผลกระทบที่ซ่อนอยู่ในหลายมิติ
“โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของระบบพลังงานในระยะยาว ทั้งด้านสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องแบกรับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถปรับราคาค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนจริง ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบพลังงานของประเทศ รวมถึงการกระตุ้นพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากราคาที่ถูกลดแรงจูงใจในการประหยัดไฟฟ้า”
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กยังได้รับผลกระทบจากราคาขายไฟฟ้าที่ต่ำกว่าต้นทุน ทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาและลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งอาจบั่นทอนความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว ดังนั้นการปรับโครงสร้างราคาไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อาจเป็นแนวทางที่เหมาะสม
•โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าที่แท้จริง : ตรึงราคาวันนี้ ยืดหนี้-จ่ายเพิ่มวันหน้า
เมื่อพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันรวมกับต้นทุนทั้งหมดในการชำระหนี้ของ กฟผ. และ ปตท. จะพบว่า ราคาค่าไฟฟ้าที่แท้จริงจะสูงถึง 5.16 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลยังคงตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งทำให้เกิด ส่วนต่างของต้นทุนที่ไม่ได้สะท้อนในราคาค่าไฟ ซึ่งก็คือภาระหนี้ในการจัดหาไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและภาระหนี้ในการจัดหาก๊าซของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและปตท. ข้อเท็จริงนี้แสดงให้เห็นว่าการตรึงราคาค่าไฟฟ้าในระดับต่ำ ไม่ได้ช่วยลดต้นทุนที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการเลื่อนภาระหนี้ออกไปในอนาคต ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อทุกภาคส่วน
โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า 80% ของค่าไฟฟ้าปัจจุบันมาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้า (G) ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่
•ส่วนแรก 50% เป็นต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความผันผวนสูงและเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
•ส่วนที่สอง 30% เป็นค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment - AP) ซึ่งเป็นค่าที่ กฟผ. ต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนตามสัญญา แม้ว่าจะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอดเวลา
ดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมจึงจำเป็นโดยการปรับโครงสร้างในส่วนต้นทุนการผลิตไฟฟ้า (G) ที่สามารถเริ่มต้นได้ทันทีประกอบด้วย 4 ประการที่สำคัญ
• 4 ข้อเสนอปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า
ประการแรก ควรเร่งปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สะท้อนต้นทุนจริงผ่านกลไกตลาด เพราะก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากว่า 60% แต่ราคาปัจจุบันยังไม่สะท้อนกลไกตลาด ส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าที่ควรจะเป็น รัฐควรกระจายสิทธิการจัดสรรก๊าซให้กับผู้นำเข้าก๊าซ LNG ที่มีต้นทุนต่ำ และให้ Pool Manager ทำหน้าที่กำกับดูแลราคากลางอย่างเป็นธรรม พร้อมป้องกันการผูกขาดในระบบ
ประการที่สอง ควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างค่าผ่านท่อก๊าซให้สะท้อนการใช้งานจริง แทนการคิดแบบเหมารวม ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนจากโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคไฟฟ้าโดยตรง พร้อมทั้งต้องมีการตรวจสอบความจำเป็นในการลงทุนใหม่เพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็น
ประการที่สาม เร่งแยกสินทรัพย์ทางบัญชีของ LNG Terminal อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนจากโครงการที่ไม่ได้ใช้งานจริง ถูกผลักภาระมาอยู่ในค่าไฟของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมถูกส่งผ่านอย่างไม่เป็น
ประการสุดท้าย เร่งปฏิรูปหลักการคิดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment – AP) ที่เป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงกว่าความต้องการใช้จริงมากถึง 47% ในปี 2023 (กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาได้= 26-30%) ซึ่งเกินกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 15% อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องจริง เช่น ในเดือนกันยายน 2567 มีโรงไฟฟ้า IPP ถึง 7 จาก 13 โรงที่ไม่ได้ผลิตไฟแต่ยังได้รับค่าชดเชยตามสัญญา ปัญหานี้สะท้อนถึงการบริหารแผนพัฒนากำลังผลิตที่ขาดความยืดหยุ่นและแม่นยำ ดังนั้น รัฐควรเร่งประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในอนาคต ลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่เกินความจำเป็น และชะลอการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยให้ผู้ผลิตเอกชนร่วมรับผิดชอบต้นทุนโครงการมากขึ้น เพื่อลดภาระต้นทุนที่ถูกผลักให้ผู้บริโภครับผิดชอบโดยไม่เป็นธรรม
"โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบัน นอกจากสร้างต้นทุนและความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของภาคประชาชนและอุตสาหกรรมทางอ้อมอีกด้วย เนื่องจากประชาชนจะขาดแรงจูงใจในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนรวมของระบบสูงขึ้นในระยะยาว และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอนาคต
อย่างไรก็ตามการปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าข้างต้น เป็นเพียงมาตรการในระยะสั้น การแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต้องพิจารณาทั้งห่วงโซ่อุปทานที่จะทำให้ไทยได้ไฟฟ้าสะอาดในราคาที่เป็นธรรม และตอบรับกับการมุ่งสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเครื่องมือที่จะช่วยเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ คือการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี"
ตลาดไฟฟ้าเสรี : ทางรอดในยุคพลังงานสะอาด
ประเทศไทยมีความพร้อมด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ค่อนข้างต่ำ โดยในปี 2024 อยู่อันดับที่ 60 ของดัชนี Energy Transition Index ตามหลังหลายประเทศในภูมิภาค ทั้งด้านสัดส่วนพลังงานสะอาดและทักษะแรงงาน ขณะที่เป้าหมาย Net Zero ก็ล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่เพียงกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลต่อขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ และโอกาสของแรงงานไทย การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่อนาคตพลังงานสะอาดอย่างมั่นคงและยั่งยืน
• ความล่าช้าในการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี : กับความเสี่ยงใน 3 มิติสำคัญ
ด้านเศรษฐกิจ จากการภาคอุตสาหกรรมไทยต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดในการรักษาความสามารถทางการแข่งขัน แต่ประเทศไทยมีไฟฟ้าพลังงานในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการความต้องการ ดังนั้นหากไม่มีการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี เพื่อเร่งผลิตพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพึ่งพา Utility Green Tariffs (UGT) ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าค่าไฟฟ้าปกติ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ การไม่เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเพื่อเร่งการผลิตไฟฟ้าสะอาด อาจทำให้ไทยเสี่ยงต่อการเสียเม็ดเงินจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะจากนักลงทุนรายใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ซึ่งมีเงื่อนไขในการได้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็นเงื่อนไขสำคัญในการลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย โดยในช่วงปี 2018-2023 การลงทุนจาก 3 ประเทศนี้มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งหากไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดได้ นักลงทุนเหล่านี้อาจย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า เช่น เวียดนาม และท้ายสุดจะทำให้ไทยเสียโอกาสดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตที่มีการใช้พลังงานสะอาดเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ
ด้านสังคม ประเทศไทยมีแรงงานที่อยู่ในธุรกิจสีน้ำตาลมากถึง 11 ล้านตำแหน่ง แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการจ้างงานในธุรกิจสีเขียวของไทยกลับเพิ่มขึ้นเพียง 1% แสดงถึงแนวโน้มที่งานสีเขียวจะโตไม่ทันที่จะรองรับแรงงานที่มาจากธุรกิจสีน้ำตาลที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ดังนั้นถ้าประเทศไทยไม่เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีให้ภาคธุรกิจเข้ามาเร่งสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงาน จะส่งผลให้การว่างงานสูงขึ้น นอกจากการว่างงานที่สูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นด้วย เนื่องจากแรงงานสีเขียวมีรายได้สูงกว่าแรงงานสีน้ำตาลในทุกระดับการศึกษา ดังนั้นการไม่เปิดตลาดไฟฟ้าเสรีที่จะสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะ Reskill และ Upskill จะยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมรุนแรงขึ้น
ด้านสิ่งแวดล้อม การขยายตัวของ Data Center จะส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นถ้าประเทศไทยไม่เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี เพื่อเร่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด แต่ยังประสงค์ที่จะรักษาฐาน Data Center อาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตอาจต้องหันไปใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิลแทน ซึ่งไม่ตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ
• 4 ขั้นตอนสู่การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีในประเทศไทย
เพื่อให้การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและเป็นธรรม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เสนอแผนการดำเนินงานใน 4 ระยะ โดยใน ระยะแรก (2026-2030) ควรเปิดตลาดเสรีสำหรับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และธุรกิจที่ต้องการพลังงานสะอาด เช่น กลุ่ม RE100 ที่มีความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาด 100% ในการดำเนินธุรกิจภายในปี 2030 และกลุ่มภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 41% ของปริมาณการใช้งานไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อที่ตอบโจทย์เป้าหมายความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดในการรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ จากนั้นใน ระยะที่สอง (ก่อนปี 2037) ควรขยายการเข้าถึงตลาดไฟฟ้าเสรีสำหรับโรงงานและอาคารควบคุมขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลาง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 45% เนื่องจากจะเป็นส่วนสำคัญให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายร่างแผน PDP 2024 ที่มีการตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดไว้ที่ 51% ต่อมาใน ระยะที่สาม (ภายในปี 2050) ควรเปิดตลาดครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมกันถึง 65% เนื่องจากจะเป็นส่วนสำคัญให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ที่ต้องมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานอย่างต่ำที่ 74% และสุดท้ายใน ระยะที่สี่ (หลังปี 2050) จึงเป็นการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีในประเทศไทยแบบสมบูรณ์
• บทสรุป : ทางเลือกของไทยสู่อนาคตไฟฟ้าพลังงานสะอาด
การตรึงราคาค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระประชาชนอาจดูเหมือนเป็นทางออกในระยะสั้น แต่กลับซ่อนต้นทุนที่แท้จริงและผลกระทบในระยะยาวทั้งต่อเสถียรภาพทางการเงินของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน แรงจูงใจในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลงทุนในพลังงานสะอาด การปฏิรูปราคาไฟฟ้าจึงจำเป็น โดยควรสะท้อนต้นทุนจริงทั้งในด้านราคาก๊าซ ค่าผ่านท่อ ค่าความพร้อมจ่าย และต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ควรถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงาน และดึงดูดการลงทุนสีเขียว ซึ่งล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งดำเนินมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านโครงสร้างตลาด และการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในภาคพลังงาน หากไม่ปรับตัว ไทยอาจพลาดโอกาสสำคัญในการเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาค และเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลังในเวทีเศรษฐกิจโลก