xs
xsm
sm
md
lg

"การช่วยชีวิตคน สำคัญที่สุด" / ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





เช้าวันนี้ (29 มี.ค.2568) ดร.เอ้สุชัชวีร์ โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก เอ้สุชัชวีร์ ว่า


ผมอยู่ "หน้างาน" กับผศ.พิศิษฐ์ แสง-ชูโต อดีตเลขาธิการสภาวิศวกร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง "ทีมวิศวกรอาสา" ที่เราช่วยภัยพิบัติมาทุกครั้ง เราอยู่ตรงนี้ เราเห็นตรงกัน


เพราะในชีวิตอาชีพวิศวกรไทย เรา "ไม่เคยเจอ" เหตุการณ์ "ตึกสูง! ถล่มจากแผ่นดินไหว!" สูงถึง 33 ชั้น! มาก่อนเลย

เมื่อ "ทุกวินาที" สำคัญยิ่งในการ "ช่วยชีวิตคนไทย" ดังนั้นหากเราสามารถขอความช่วยเหลือจาก "ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยแผ่นดินไหว" และเครื่องมือที่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ย่อมเป็นประโยชน์ยิ่ง กับ "การช่วยชีวิตคนไทย" ร่วมกับทีมไทยแลนด์ ที่วันนี้ "ใจพร้อม กายพร้อม"

กรณีนี้ ย้อนรำลึกถึง "กรณีหมูป่า 13 คน" ที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมถ้ำขุนน้ำนางนอน จากความร่วมมือของ "ผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศ" จนสำเร็จ ปลอดภัย


ผมขอเป็นกำลังใจให้ "คนไทยทุกคน" ด้วยความรัก ความห่วงใยยิ่ง และ ผมพร้อมสนับสนุนทุกเรื่อง


แผ่นดินไหวใหญ่ญี่ปุ่น เขาทำอย่างไร หากเกิดใกล้กรุงเทพ เราจะรับมือไหวหรือ?
(ดร.เอ้สุชัชวีร์ ได้เขียนบทความเอาไว้ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567)


แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.6 ที่จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันแรกของปี 2567 เกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คนนับแสนต้องอพยพ ระบบไฟฟ้าและน้ำประปาใช้งานไม่ได้ ทั้งแผ่นดินไหวอาฟเตอร์ช็อกยังเกิดต่อเนื่องอีกมากกว่า 50 ครั้ง ญี่ปุ่นเขารับมืออย่างไร ผมมีคำตอบครับ

จังหวัดอิชิกาวะ อยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงโตเกียว คล้ายกับที่จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ทางตะวันตกของกรุงเทพ ระยะทางก็ไม่ต่างกันมาก และมี "รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์" และ "รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์" ที่อาจเคลื่อนตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ก็อยู่ตรงกาญจนบุรีถึงสุพรรณบุรี ใกล้กรุงเทพนิดเดียว

หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ระดับ 6-7 ขึ้น ที่ตรงนั้น กทม.เราจะรับมือไหวไหม จะรับมืออย่างไร ผมยังไม่เห็นแผนปฏิบัติการณ์ใดๆ ทั้งระบบการเตือนภัย และการกู้ภัย อย่าล้อเล่นนะครับ เพราะหากไม่เตรียมการ ความสูญเสียจะหนักหนามากขนาดใด ไม่กล้าคิด

เพราะแม้แต่พิษณุโลก แทบไม่เห็นรอยใหญ่เลย ยังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อปีที่แล้ว ช็อคมาก ดังนั้นโอกาสเกิดแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี ส่งแรงสั่นสะเทือนทำลายล้างมาถึงกรุงเทพ เป็นไปได้แน่นอน

ขณะที่ แผ่นดินไหวญี่ปุ่นครั้งนี้ แม้รุนแรงมาก มีผู้เสียชีวิต ตึกถล่ม เสียหายหนัก แต่การ "เตือนภัย" และ "การกู้ภัย" ได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศยิ่ง

ผมเคยไปอบรมเรื่องการจัดการสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่ญี่ปุ่น สนับสนุนโดย JICA หรือ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น


จึงขอสรุปเป็นแนวทางมาเล่าให้ฟังว่า ญี่ปุ่นเขาทำอย่างไรบ้าง

1. ติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว ครอบคลุมจุดเสี่ยงทุกจุด เพราะไม่มีจุดวัด กว่าจะรู้สึก ภัยก็ถึงตัว นาทีเดียวก็สายเกินไป

2. ส่งสัญญาณเตือนภัยอัตโนมัติ เข้าโทรศัพท์มือถือ "ทุกเครื่อง" ทั่วประเทศทันที หลังจากเกิดแผ่นดินไหว พร้อมแนะนำขั้นตอนการปฎิบัติตัว แยกตามพื้นที่และชี้ทางไปศูนย์อพยพทันที

3. ศูนย์บัญชาการเหตุ เกิดขึ้นได้ทันทีในวินาทีแรก เพราะเตรียมการล่วงหน้าไว้ มีขั้นตอนการบังคับบัญชา และการเบิกจ่ายงบประมาณชัดเจน จึงพร้อมส่งทีมและอุปกรณ์ช่วยชีวิต เข้าพื้นที่อย่างมีระบบ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

4. ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อศูนย์บัญชาการ หรือหน่วยกู้ภัย หรือเพื่อนบ้าน ได้ตลอดเวลา ไม่ถูกโดดเดี่ยว เพราะระบบสัญญาณสื่อสารเคลื่อนที่ ที่เข้าพื้นที่ได้รวดเร็ว จะเปิดช่องรับสัญญาณเพิ่มเติมทันที

5. ทีมทหาร ทีมพลเรือน และทีมอาสาสมัคร จะได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นด้วยกัน เพื่อเตรียมรับมือแผ่นดินไหว จะเสริมกัน ไม่ถ่วง ไม่เป็นภาระ ไม่แย่งซีนกันทำงาน แบ่งหน้าที่ชัดเจน

6. สื่อญี่ปุ่นจะร่วมกันเสนอข่าว เพื่อลดความตื่นตระหนก และหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจก่อให้ความขัดแย้งในพื้นที่ เรื่องนี้ตอนผมไปอบรมกับ JICA ได้ให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ผมตั้งข้อสังเกต เป็นคำถามไว้ ด้วยความห่วงใย เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวขี้น ใกล้กรุงเทพ แล้วเราไม่พร้อม จะมาขอโทษกันไม่ได้ เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครชดใช้ได้


บทความโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น