จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวานนี้ (13.20 น. วันศุกร์ที่ 28 มี.ค.68) นับเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง
ผมได้มีโอกาสอ่าน “ข้อเสนอเชิงนโยบาย ถอดบทเรียนเหตุการณ์ แผ่นดินไหว-สึนามิ : ปรับระบบเตือนภัยและแผนรับมือในประเทศไทย” ได้จัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ( สกสว) มีเนื้อหาที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีการถอดบทเรียนเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการของประเทศ ครอบคลุมในมิติต่างๆ อาทิ
- การวิจัยพัฒนา
- การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- การเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติ เพื่อลดความสูญเสียและผลกระทบ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
1. พัฒนาระบบเตือนภัยที่ทันสมัยและครอบคลุม
- ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหวและสึนามิในพื้นที่เสี่ยงให้ครอบคลุมมากขึ้น
- ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันและ SMS
2. เสริมสร้างแผนการอพยพที่มีประสิทธิภาพ
- จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยระดับชุมชน
- พัฒนาป้ายบอกเส้นทางอพยพในพื้นที่เสี่ยง และเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
3. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับภัยพิบัติ
- บังคับใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว
- สนับสนุนงบประมาณสำหรับปรับปรุงอาคารเก่าในพื้นที่เสี่ยง
4. บูรณาการข้อมูลและการทำงานระหว่างหน่วยงาน
- จัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลเพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
5. สร้างความตระหนักและฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติ
- จัดการฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอในระดับชุมชน
- พัฒนาแคมเปญสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อม
บทความโดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม