xs
xsm
sm
md
lg

ETDA ชวนรู้จัก Digital Footprint อย่าปล่อยให้ ‘ร่องรอยดิจิทัล’ หลอนหลอกชั่วชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคยสงสัยไหมว่า ทุกครั้งที่คุณกดไลก์ โพสต์ข้อความ แชร์รูปภาพ หรือแสดงความคิดเห็นลงบนโลกออนไลน์ คุณกำลังทิ้งร่องรอยอะไรไว้บ้าง? การกระทำที่ดูเหมือนเล็กน้อยเหล่านี้ ไม่ได้หายไปตามกาลเวลาเหมือนรอยเท้าบนผืนทราย แต่กลับกลายเป็น 'ร่องรอยดิจิทัล' หรือ ‘รอยเท้าดิจิทัล’ (Digital Footprint) ที่อาจติดตัวคุณไปตลอดกาล

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) มีมุ่งส่งเสริมให้คนไทยทุกกลุ่มเกิดการใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย โดยโครงการ ETDA Digital Citizen (EDC) จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก และตระหนักถึงความสำคัญของ Digital Footprint ที่เป็นหนึ่งเนื้อหาภายใต้หลักสูตร EDC Plus เพื่อให้เข้าใจ พร้อมรับมือและจัดการกับร่องรอยดิจิทัลได้อย่างถูกวิธียิ่งขึ้น


ร่องรอยดิจิทัลคืออะไรกันแน่

Digital Footprint หรือ ร่องรอยดิจิทัล มันคือร่องรอยที่คุณทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ ทุกครั้งที่คุณท่องอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็น กดไลก์ แชร์รูปภาพ หรือแม้แต่การค้นหาข้อมูล ร่องรอยเหล่านี้จะบ่งบอกถึงตัวตน ความสนใจ และพฤติกรรมของคุณ เปรียบเสมือนร่องรอยที่คุณทิ้งไว้บนผืนทราย แต่มันอาจคงอยู่ถาวร และยากที่จะลบเลือน ไม่เหมือนรอยเท้าบนผืนทรายที่กระแสน้ำอาจพัดกลืนหายไป 
บนโลกออนไลน์ ทุกสิ่งที่คุณทำล้วนทิ้ง "ร่องรอย" ไว้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

1.ร่องรอยดิจิทัลแบบไม่ตั้งใจ (Passive Digital Footprint) คือร่องรอยที่มีการเก็บโดยอัตโนมัติจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งอาจไม่เปิดเผยข้อมูลโดยตรงแต่อาจถูกนำไปใช้ในทางการตลาด เช่น
•ประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ (Browsing History)
•ประวัติการค้นหา (Search History) บันทึกคำค้นหาที่เราเคยใช้
•ข้อมูลการใช้งานแอปพลิเคชัน เช่น เวลาที่ใช้ ความถี่ในการใช้งาน
•Cookies คุกกี้หรือไฟล์ขนาดเล็กที่เว็บไซต์เก็บไว้ในอุปกรณ์ของเรา เพื่อจดจำข้อมูลการใช้งานและปรับแต่งประสบการณ์ใช้งาน
•IP Address หรือ หมายเลขของอุปกรณ์ที่เราใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

2.ร่องรอยดิจิทัลแบบตั้งใจ (Active Digital Footprint) คือข้อมูลที่เราจงใจสร้างและเผยแพร่บนโลกออนไลน์ด้วยตัวเอง โดยตั้งใจให้คนอื่นเห็นหรือเข้าถึงข้อมูลพวกนี้ เช่น
•การโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะข้อความ รูปภาพ วิดีโอ
•การแสดงความคิดเห็น หรือรีวิวสินค้า/บริการ บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ
•อีเมลที่เราส่งให้ผู้อื่น
•โปรไฟล์ออนไลน์ ทั้งข้อมูลส่วนตัวและประวัติที่เราสร้างขึ้นบนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ
•การสมัครสมาชิกเว็บไซต์หรือบริการออนไลน์ต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อสมัคร

ร่องรอยดิจิทัล: สำคัญไฉน? ส่งผลยังไง?

"สิ่งที่คุณโพสต์วันนี้ อาจกำหนดอนาคตของคุณในวันข้างหน้า" ร่องรอยดิจิทัลของคุณส่งผลกระทบต่อชีวิตคุณในหลาย ๆ ด้าน มากกว่าที่คุณคิด

•การหางาน: รู้หรือไม่ว่า นายจ้างในยุคนี้มักจะค้นหาชื่อของคุณบน Google ก่อนเรียกสัมภาษณ์? ร่องรอยดิจิทัลที่ไม่เหมาะสม เช่น โพสต์แสดงความเกลียดชัง รูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือความคิดเห็นเชิงลบ อาจส่งผลเสียต่อโอกาสในการได้งานของคุณ

•การศึกษา: มหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่าง ๆ อาจตรวจสอบร่องรอยดิจิทัลของผู้สมัครทุนการศึกษา โพสต์ที่แสดงถึงทัศนคติที่ไม่ดี อาจทำให้คุณพลาดโอกาสสำคัญ

•ความสัมพันธ์: โพสต์เก่าๆ ที่คุณลืมไปแล้ว อาจกลับมาทำร้ายความสัมพันธ์ส่วนตัวได้อย่างไม่คาดคิด เช่น แฟนเก่าขุดโพสต์ในอดีตของคุณ

•ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว: การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป อาจทำให้คุณตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ ถูกขโมยข้อมูล (Identity Theft) หรือถูกคุกคามทางไซเบอร์ (Cyberbullying)

•ชื่อเสียงและภาพลักษณ์: ร่องรอยดิจิทัลของคุณสร้างภาพลักษณ์ของคุณในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจส่งผลต่อชื่อเสียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แต่ร่องรอยดิจิทัลก็มีด้านบวก หากใช้อย่างชาญฉลาด Digital Footprint สามารถสร้างโอกาสมากมาย ดังเช่นกรณีศึกษาต่อไปนี้

•การสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล คุณมาริสา (นามสมมติ) สร้าง Digital Footprint ด้านการเงินการลงทุนผ่าน LinkedIn และ Medium จนประสบความสำเร็จ โดยแชร์บทความวิเคราะห์การลงทุนที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ สร้างเครือข่ายในวงการการเงิน และได้รับโอกาสเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาการลงทุน

•การสร้างธุรกิจออนไลน์ คุณสมชาย (นามสมมติ) เริ่มจากการรีวิวร้านอาหารจนกลายเป็นอาชีพ สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและจริงใจ พัฒนาเอกลักษณ์การนำเสนอที่โดดเด่น จนสามารถสร้างรายได้หลักจากการรีวิว


จัดการร่องรอยดิจิทัลยังไง ให้เป็น ‘ร่องรอยที่คุณภูมิใจ!’

โลกออนไลน์ไม่มีปุ่ม "ลบอดีต" แต่คุณสามารถเรียนรู้วิธีสร้างร่องรอยที่คุณภูมิใจได้ เริ่มต้นง่าย ๆ ดังนี้

1. คิดก่อนคลิก ถามตัวเองก่อนโพสต์ว่า "สิ่งนี้จำเป็นไหม?" "ถ้าคนอื่นมาเห็นจะส่งผลกระทบอะไรกับฉันในอนาคต?" "ฉันจะรู้สึกอย่างไรถ้าข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ?"

2. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ตรวจสอบและตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในทุกแพลตฟอร์มอย่างรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยทุกอย่างสู่สาธารณะ

3. ทำความสะอาดร่องรอย ลบประวัติการค้นหาและคุกกี้เป็นประจำ รวมทั้งค้นหาชื่อตัวเองบน Google อยู่เสมอ เพื่อลบบัญชีที่ไม่ใช้งานแล้ว แก้ไข หรือลบข้อมูลที่ไม่ต้องการให้ปรากฏ

4. เครื่องมือช่วยจัดการ พิจารณาใช้เครื่องมือหรือบริการที่ช่วยจัดการข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ เช่น Google Alerts ที่แจ้งเตือนเมื่อมีการกล่าวถึงชื่อคุณ หรือ BrandYourself ที่ช่วยจัดการชื่อเสียงออนไลน์ รวมทั้งใช้ VPN ในกรณีต้องใช้ Wi-Fi สาธารณะ เมื่อต้องการเช้าถึงข้อมูลส่วนตัว เนื่องจาก VPN ช่วยให้บุคคลที่ 3 เข้าถึงหรือติดตามกิจกรรมออนไลน์ของเราได้ยากขึ้นและหมายเลข IP ที่แท้จริงจะถูกปิดบังไว้

5. คิดระยะยาว สร้างร่อยรอยดิจิทัลที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่คุณต้องการสร้างในระยะยาว มุ่งเน้นการโพสต์เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ และสะท้อนตัวตนในแง่บวก

6. ตระหนักถึง PDPA ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เพื่อให้รู้สิทธิและหน้าที่ในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณ

พร้อมหรือยัง? ที่จะก้าวเป็น ‘พลเมืองดิจิทัล’ ที่ดี ผ่านหลักสูตร EDC Plus
มาเริ่มต้นใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย เพราะแม้โลกออนไลน์จะไม่มีปุ่ม ‘ลบอดีต’ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างร่องรอยดิจิทัลที่ภาคภูมิใจได้เสมอ

สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการร่องรอยดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ผ่านหลักสูตร EDC Plus ได้แล้ววันนี้ ในรูปแบบ e-Learning ได้ที่ https://www.etda.or.th/th/edcplus และติดตามรายละเอียดโครงการ EDC เพิ่มเติมได้ที่ https://www.etda.or.th/th/Our-Service/DigitalWorkforce/edc.aspxหรือ Facebook: ETDA Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น