ในสาขาเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร ตกเป็นเป้าใหญ่รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกับพืชเศรษฐกิจหลัก ข้าว ข้าวโพด อ้อย การเลี้ยงสัตว์ และประมง โดยผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ ชี้ว่าเกษตรกรต้องปรับตัว นวัตกรรมต้องมา ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเข้มข้นเข้าถึงจริง
.
ภาคเกษตรกรรมไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของทรัพยากรดินและน้ำ โรคพืช แมลง และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ที่อาศัยและกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อผลผลิตทางการเกษตร
ผลกระทบจากอุณหภูมิและความร้อน
1. ผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตร ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร ทั้งการเพาะปลูก ปศุสัตว์และประมง เช่น การปลูกพืชไม่ได้ผลผลิตหรือคุณภาพลดลง พืชไม่สามารถทนความร้อนได้ สัตว์น้ำตายจากอุณหภูมิของน้ำในบ่อเพาะเลี้ยง รวมทั้งเกิดโรคระบาดในสัตว์
2. ผลกระทบต่อตัวเกษตรกร การทำงานในสภาวะอุณหภูมิสูง มีความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเกษตรกร เช่น ความเครียด โรคลมแดด โรคทางเดินอาหาร ผื่นจากความร้อน เป็นต้น
3. ผลกระทบที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดความขาดแคลนและไม่มั่นคงทางอาหาร ประชาชนยากจน ได้รับอาหารที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขอนามัย รวมทั้งต้องใช้เงินเพื่อทำเกษตรสูงขึ้น ซึ่งอาจมีปัญหาภาระหนี้สินตามมาอีกด้วย
ที่ผ่านมากรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมลดโลกร้อน ได้บูรณาการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในสาขาเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักที่พิจารณาในมิติของการรักษาผลิตภาพและความมั่นคงทางอาหาร
บูรณาการขับเคลื่อนเกษตรกรรมไทย
ล่าสุดประเทศไทยถูกจัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาวในช่วง 30 ปี (ปี ค.ศ. 1993-2022) อยู่ในอันดับที่ 30 ซึ่งลดลงจากอันดับ 9 เทียบกับ 4 ปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในอันดับต้นแล้ว แต่ก็ยังจะต้องเผชิญกับผลกระทบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นสาเหตุให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผนึกกำลัง 7 กระทรวงลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ “การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” เมื่อ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าความร่วมมือระหว่าง 7 กระทรวงที่เกิดขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการการดำเนินงานในด้านเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร: รักษาผลิตภาพการผลิตและความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยทางกรมลดโลกร้อน จะดำเนินการหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยประสานงานกลางรายสาขาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน และเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินงานหลักที่ถ่ายทอดสู่การปฏิบัติทั้งในระดับหน่วยงานและระดับพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดงานวิจัย นวัตกรรม ข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้เรื่องความเสี่ยงและการปรับตัว สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความตระหนักรู้ให้กับกลุ่มเปราะบาง เสริมสมรรถนะในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติจากธรรมชาติในทุกรูปแบบ
“กระทรวงเกษตรฯ มองเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงเป้าหมายด้านการปรับตัวระดับโลกและระดับประเทศสู่ระดับจังหวัดและท้องถิ่นอย่างบูรณาการและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
ทีดีอาร์ไอ ยันผลศึกษา เกษตรกร-ภาครัฐต้องปรับตัว
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรหลายช่องทาง เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะฝนแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอุณหภูมิตอนกลางคืนในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอก จะกระทบกระบวนการสังเคราะห์แสงของข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง
สำหรับภาวะฝนแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ (ฝนแล้ง) ซึ่งเกิดขึ้นสลับกับ ลานินญ่า (ฝนชุก) นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างดัชนีวัดปรากฏการณ์ทั้งสองที่เรียกว่า ดัชนี ENSO ทีดีอาร์ไอได้นำสถิติดังกล่าวมาหาสหสัมพันธ์กับค่าความผิดปกติของผลผลิตเกษตร (Yield Anomaly) แล้วพบว่า เมื่อไรที่มีภาวะฝนแล้ง ผลผลิตเกษตรที่สำคัญของไทยและเอเชียโดยเฉพาะข้าวโพดจะลดลงมากที่สุด รองลงมาคือ อ้อยและข้าว
ทีดีอาร์ไอยังใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองของเกษตรกร เมื่อเกิดภาวะน้ำแล้งรุนแรง(Extreme Drought) และภาวะน้ำท่วมรุนแรง(Extreme Flood) บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้นและมีจำนวนวันที่ฝนตกน้อยลง พื้นที่การผลิตและผลผลิตต่อไร่จะลดลงอย่างชัดเจน ในทางกลับกันหากปริมาณน้ำชลประทานเพื่อการเกษตร ณ ต้นฤดูแล้งมีมาก พื้นที่ปลูกข้าวและอ้อยรวมถึงผลผลิตต่อไร่ในฤดูแล้งจะเพิ่มมากขึ้นด้วย น้ำชลประทานนี้มาจากปริมาณน้ำต้นทุนเหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนในฤดูฝน
อันที่จริงเกษตรกรไทยคุ้นเคยกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับน้ำท่วมตั้งแต่อดีตแล้วเห็นได้จากวิถีชีวิต เช่น การปลูกข้าวฟางลอยในพื้นที่ลุ่มต่ำแถบอยุธยา การปรับปฏิทินการปลูกข้าวเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนถึงเวลาน้ำท่วม รวมถึงการปลูกบ้านเรือนที่มีใต้ถุนสูงและเตรียมเรือติดบ้านไว้แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ภูมิอากาศแปรปรวนบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นต้องปรับตัวมากกว่าในอดีต มิฉะนั้นผลผลิตการเกษตรจะเสียหายมากขึ้นจนกระทบการส่งออก และรายได้ของเกษตรกร
ทีดีอาร์ไอได้สำรวจการปรับตัวของเกษตรกรทั้งสิ้น 815 ครัวเรือน ใน 6 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อยุธยา พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และลพบุรี เมื่อปลายปี 2556 พบว่าเกษตรกรที่ตัดสินใจปรับระบบการผลิตของตนจะมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าเกษตรกรที่ไม่ปรับตัว เช่น ผลผลิตข้าวต่อไร่ของเกษตรกรที่มีการปรับตัวอยู่ที่ประมาณ 696 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ไม่ปรับตัวมีผลผลิตเพียง 576 กิโลกรัมต่อไร่ ความแตกต่าง 120 กิโลกรัมต่อไร่นี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการปรับตัวตามสภาพอากาศจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ ในทางกลับกันหากเกษตรกรที่ไม่ปรับตัวจะมีความเสียหายต่อผลผลิต
แน่นอนว่าในอนาคตภาวะความผันผวนของอากาศเป็นเรื่องที่ ”ไม่แน่นอน” ทำให้เกษตรกรบางคนไม่ปรับตัวเราจึงอยากรู้ว่าทำไมเกษตรกรบางคนตัดสินใจ ”ปรับตัว” และบางคน ”ไม่ปรับตัว” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผลจากการสำรวจบอกเราว่า เกษตรกรจำนวนหนึ่งที่เลือกปรับตัวคือเกษตรกรที่มีความรู้และข้อมูลมาก มีการศึกษาสูง เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่และมีเงินทุนเพียงพอ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเรามีเกษตรกรที่มีศักยภาพอยู่จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เรายังมีเกษตรกรบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกโดยการส่งต่อความรู้ เผยแพร่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งเผยแพร่ข้อมูลด้านการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่แม่นยำ สนับสนุนด้านสินเชื่อ และการตลาดแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวของเกษตรกรไทยจะต้องมาจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วทันการใช้งาน แต่ปัจจุบันการวิจัยด้านเกษตรของไทยตกต่ำทั้งปริมาณและคุณภาพ นอกจากงบวิจัยด้านเกษตรที่ลดลงจนไม่ถึง 0.25% ของผลผลิตการเกษตรแล้ว เรายังขาดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ หน่วยงานวิจัยของรัฐก็อ่อนแอลง เพราะผลจากการแทรกแซงทางการเมือง ระบบการอุดหนุนการวิจัยก็อ่อนแอ ฯลฯ นอกจากนั้นระบบการส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐก็ไม่ค่อยได้ผล แต่โชคดีที่ในปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มที่ทำงานส่งเสริมด้านการเกษตรกับเกษตรกรอย่างจริงจัง และได้ผลดี เช่น การส่งเสริมเรื่องการศึกษาคุณภาพดินกับการใช้ปุ๋ยสั่งตัดของมูลนิธิพลังนิเวศ ฯลฯ
กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน โครงการในพระราชดำริ มูลนิธิต่างๆ รวมทั้งบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่ง วิธีการส่งเสริมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็น่าสนใจ เพราะมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการส่งเสริมเพื่อให้ได้ผลจริงจัง แต่น่าเสียดายว่าภาครัฐยังให้การสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณให้กลุ่มคนเหล่านี้น้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่กรมกองต่างๆ ใช้ดำเนินการส่งเสริมเอง
จะเห็นว่าวาระการปฏิรูปการเกษตรที่สำคัญอยู่ที่การปฏิรูประบบวิจัยและปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมโดยให้กลุ่มบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้นมีบทบาทหลักในการส่งเสริมแทนภาคราชการ ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย สร้างความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นในการปรับตัว เกษตรกรอยู่ดีกินดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน
แนะหลักปฏิบัติการ 3 มิติ พลิกรับมือ
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และงานวิจัย ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร มองความสำคัญในการส่งเสริมแหล่งน้ำ พร้อมนำนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยเกษตรกรในการจัดการภาคการเกษตรให้ดีขึ้น
“จริง ๆ ภาครัฐบาลเองท่านก็มีแผน แต่ทำอย่างไรให้แผนส่งผ่านลงสู่การปฏิบัติในเชิงพื้นที่ให้ได้ ซึ่งผมมองว่าในเชิงของมาตรการแก้ไขที่เราสามารถทำได้เลยเพื่อรับมือกับปัญหาโลกรวน โลกเดือด จะมีอยู่หลัก 3 ตัวด้วยกันที่ควรจะต้องเรียกว่ารีบทำ"
หนึ่ง คือการส่งเสริมในเรื่องของแหล่งน้ำ แต่ต้องเป็นแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ปัจจุบันเราทุ่มงบประมาณเยอะมากให้กับแหล่งน้ำในเขตชลประทาน แต่ 74% ของครัวเรือนเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ตอนนี้มันเกิดความเหลื่อมล้ำในมิติของการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ และรูปแบบของการส่งเสริมการช่วยเหลือแหล่งน้ำ ในการลงทุนต้องเปลี่ยนใหม่จากเดิม
สอง คือต้องส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ นั่นคือทำอย่างไรให้เกษตรกรทำแล้วสามารถลดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ ทำแล้วจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำแล้วจะช่วยยกระดับผลิตภาพทางการเกษตรให้ได้ เช่น ในเรื่องของการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง หรือในเรื่องของการส่งเสริมให้มีการปรับใช้เทคโนโลยีที่เป็นเรียกว่าเตือนภัยล่วงหน้า หรือส่งเสริมในตัวการตรวจวัดวิเคราะห์ค่าดิน เป็นต้น
สาม ซึ่งสำคัญมาก คือการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเกษตร หรือ Core Advisor ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและองค์ความรู้ต่าง ๆ ผ่านเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีจำนวนจำกัดมาก ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงได้ เรามีสถาบันการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพราะฉะนั้นการขยายความร่วมมือ ยกระดับความร่วมมือให้เข้มข้นมากขึ้น ตรงส่วนนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่