xs
xsm
sm
md
lg

ฉายภาพ Well-being 4 องค์กรแถวหน้า ยืนยัน “คน” คือก้าวแรกของความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลากหลายมุมคิดของผู้บริหารแถวหน้า 4 องค์กร จากเวทีสัมมนา “Thailand People Management and Well-being Forum” โดย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand – PMAT) ตอกย้ำความสำคัญของ “คน” สินทรัพย์หลักที่ขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวหน้าหรือถดถอยได้ ดังนั้น ผู้นำและผู้บริหารองค์กรจึงต้องมียุทธศาสตร์และวางแนวทางพัฒนาคนอย่างเท่าทันเพื่อองค์กรที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

๐ PMAT
HR ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์
 
ปัจจัยที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบกับผู้คน ทั้งในระดับองค์กร และประเทศ รวมถึงโลกใบนี้ สุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT มองว่า ในฐานะที่ HR มีหน้าที่สร้างระบบบริหารงานบุคคล จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง เร่งปฏิกิริยาให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลบุคลากรให้อยู่ดีมีสุข เกิดความสมดุลทั้งระดับบุคคลและองค์กร
 
รายงาน World Economic Forum เดือนมกราคม 2025 ระบุถึงปัจจัยสำคัญที่จะ shape future ของโลก ว่า “คน” เป็นเทรนด์ระดับโลก เพราะคนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ทั้งระดับประเทศและระดับโลก องค์กรที่ให้น้ำหนักเรื่อง Well-being จะช่วยรักษาคนให้อยู่กับองค์กรได้มากถึง 40% ขณะที่คนรุ่นใหม่ ที่กำลังเข้ามาแทนที่คนยุคปัจจุบัน เด็กเจน Z ต่างแสวงหา Mental Health กับ Work Life Balance ในสัดส่วนมากถึง 70%

วันนี้คนต่างโหยหาความเข้าใจจากผู้อื่น การสร้างความรู้สึกให้พนักงานรับรู้ได้ว่า องค์กรดูแลเขาในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น เพราะ Big Data จากฐานข้อมูลเทคโนโลยี ทำให้การทำงานของ HR สะดวกรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ได้ถึงระดับบุคคล อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงขนาดไหน สิ่งที่ยังต้องอยู่คือ “ความเป็นมนุษย์” องค์กรต้องทำความเข้าใจ ถ้าองค์กรดูแลใส่ใจ มีหัวหน้างานที่เข้าใจ ทำอย่างไรให้ได้ทั้ง result and relationship ถือเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญสำหรับหัวหน้างานทุกระดับ
 
HR professional บทบาทอาจปรับไปตามสถานการณ์ แต่หลักการไม่เคยหายไป คือ มีหน้าที่ดูแลระบบงาน สร้างแรงจูงใจในการทำงานผ่านการจ่ายเงิน และให้ผลตอบแทนรูปแบบอื่นๆ
เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเกิดแรงจูงใจในการทำงาน แต่ปัจจัยที่ไม่ใช่เงินก็นับเป็นส่วนสำคัญ HR จึงต้องเป็นนักวางกลยุทธ์ และนักวิทยาศาสตร์ จากการใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยี เข้ามาช่วยทำให้องค์กรแข่งขันได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร อย่างเข้าใจความเป็นมนุษย์

๐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เหนื่อยแต่สุขใจ” นิยาม Work Life Balance ที่แท้จริง


ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า วันนี้ประเทศไทยจะขับเคลื่อนได้อย่างมีคุณภาพ และสู้กับนานาอารยะประเทศได้คือ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ ในแบบฉบับไทยๆ โดยใช้เครื่องมือ well-being การสร้างสุขภาวะ หรือภาวะที่มีความสุข โดยหยิบประเด็น Work Life Balance มาต่อยอดกับแนวคิด Well-being ไม่มองแค่มิติใดมิติหนึ่ง แต่มองรอบด้านเป็น Holistic Well-being หรือการสร้างสุขภาวะในองค์รวม เพราะคนเราใช้เวลาอยู่กับการทำงานมากกว่าการใช้ชีวิตที่ไม่ได้ทำงาน
 
“หลายคนเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน แต่หลายคนเหน็ดเหนื่อยแล้วมีความสุข นั่นคือความหมายของคำว่า Work Life Balance ที่แท้จริง”

ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนได้อย่างเดียวเลยคือคน และสิ่งที่อยู่ในคนคือ Well-being ภายใต้ Well-being คือ Human being หรือความเป็นมนุษย์ ที่เปลี่ยนแปลงได้ ต้องการความรัก ความเข้าใจ ความดูแลเอาใจใส่ เพราะองค์กรที่ดี สร้างจากคน และคนที่ดีเกิดจาก Well-being นั่นเอง

๐ คณะแพทย์จุฬาฯ
เป็นต้นแบบ ด้วย 3 keywords 5 เสาหลัก


โรงพยาบาลจุฬาฯ จัดวางตัวเองเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ดีที่สุด เน้นรักษาดูแลคนทุกระดับ ยึดถือเป็นแนวคิดหลักในการทำงาน เพื่อเป้าประสงค์เป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน จึงพัฒนาตัวเองให้เป็นสถาบันต้นแบบ ต้องมีนวัตกรรม มีคุณธรรม เพราะการมีคุณธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขได้ ภายใต้ 3 keywords คือ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และเอื้ออาทร รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงจุดยืน

ปัจจุบันความเครียดและภาวะหมดไฟ (Burnout) เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้มากขึ้นในองค์กร หนึ่งในความโดดเด่นของโรงพยาบาลจุฬาฯ คือ การวางบุคลิกภาพเป็น Well-being Organization สถานที่ทำงานอันทรงคุณค่า และทำงานอย่างมีความสุข เนื่องจากอาชีพบุคลากรทางการแพทย์มีความเครียดสะสมสูง มีอัตราการลาออกสูง โดยเฉพาะสมองไหลจากภาครัฐไปภาคเอกชน

โรงพยาบาลจุฬาฯ กำหนดเสาหลัก Pillars of Workplace Well-being สุขภาพกายที่ดี (Physical Well-being) สุขภาพจิตที่ดี (Mental Well-being) ความมั่นคงทางการเงิน (Financial Well-being) ความพึงพอใจในอาชีพ (Occupational Well-being) และการมีคุณค่าต่อสังคม (Social & Purpose Well-being) องค์กรที่สนับสนุนเสาหลักทั้งห้านี้จะช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มที่ มีประสิทธิภาพ และพร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

การทำงานอย่างยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และความสำเร็จในระยะยาว เทคโนโลยีและการปรับตัวในที่ทำงานเป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคต องค์กรที่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงจะสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

ผู้นำที่ดีต้องมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ และสนับสนุนพนักงาน เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตร มีแรงจูงใจ และกระตุ้นให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์กรที่มีผู้นำที่เข้าใจพนักงานจะสามารถรักษาคนเก่งไว้ได้ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง

“เราเป็นองค์กรที่ทำเพื่อคนไข้ มี Purpose ชัดเจน ทำให้หาคนมาร่วมอุดมการณ์ได้ง่าย ให้คิดเสมอว่า Purpose ของคนเรากับองค์กร ที่จะส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมนั้นคืออะไร สิ่งนั้นจะเป็นตัวช่วยให้คนในองค์กรมีความสุขมากขึ้น”


๐ โรงแรมดุสิตธานี
สำเร็จได้ด้วยแนวคิด Leadership with Purpose


ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เข้ามาสานต่อความภูมิใจแบบไทยสู่สายตาโลก มีเบื้องหลังมาจากการสร้างแนวคิด Leadership with Purpose เป็นการขยาย Impact ให้กว้างขึ้น เพื่อขยายทางเดินให้มากขึ้น

“Leadership with Purpose สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน ทำให้องค์กรอยู่ได้ทุกสถานการณ์ สามารถสร้างเป้าหมายได้มากกว่าทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขผลประกอบการ เพราะถ้าตั้งเป้าผลประกอบการไว้ก่อน ทางเดินจะมีไม่เยอะ เพราะธงอยู่แค่ทำอย่างไรได้ประโยชน์สูงสุด กำไรสูงสุด แต่ถ้าตั้งเป็น Purpose เป้าหมายการเงินยังมีอยู่ แต่จะมีทางเลือกให้เดินมากมาย ซึ่งจะทำให้เกิด Impact ได้มากขึ้น”

การสร้าง Impact ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนในทุกๆ องค์กร สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ จากสิ่งที่เราทำ ทำได้ในทุกๆ คน ในทุกๆ สถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องรอให้เรายิ่งใหญ่ก่อน แล้วค่อยทำ ทุกจุดเริ่มต้นของ Impact คือ การทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ และทำให้ดีที่สุด ทำไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ Snowball

เพราะการทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ได้มาจากซีอีโอ แต่คือคนทั้งหมดที่อยู่ในองค์กร ที่ร่วมแรงร่วมใจกันหาวิสัยทัศน์ดาวเหนือ แล้วใช้เข็มทิศซึ่งเปรียบเสมือน Purpose นำทาง จากนั้นก็ออกเดินทาง

“ถ้าวิสัยทัศน์องค์กรเป็นเหมือนดาวเหนือ Purpose เป็นเหมือนเข็มทิศ เรามีเป้า เรามีวิชั่น แต่ Purpose ทำให้คนทั้งองค์กร เดินไปในที่เดียวกัน ทิศทางเดียวกัน ด้วยจิตใจมุ่งมั่น”


กำลังโหลดความคิดเห็น