หลังจากความสำเร็จของโครงการไม่เทรวม ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะของ กทม. และลดปริมาณขยะได้อย่างต่อเนื่อง จาก 11,000 ตันต่อวันในปี 2562 เหลือ 9,000 ตันต่อวันในปีนี้ แถมยังช่วยลดงบประมาณในการกำจัดขยะได้ถึง 300 ล้านบาท
ในปีนี้ กทม.เดินหน้าต่อทำโครงการใหม่ที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร อธิบายถึงระบบการจัดการขยะของ กทม.ว่า มีการแบ่งขนาดเป็น S M และ L
ไซซ์ S คือการจัดการขยะของประชาชนทั่วไปตามบ้านเรือนต่างๆ ไซซ์ M คือร้านอาหาร ส่วนไซซ์ L คือห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ขนาดใหญ่ที่มีขยะจำนวนมาก
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีร้านอาหารกว่า 200,000 ร้าน และเป็นแหล่งกำเนิดขยะจำนวนไม่น้อย กทม.จึงเข้าไปดูแลขยะหลังครัวและหลังกินจากการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางผ่านโครงการ ‘ร้านนี้ไม่เทรวม’ ที่ร่วมมือกับร้านอาหารที่มีการจัดการขยะถูกต้อง พร้อมปักหมุดร้านที่เข้าร่วมโครงการบนเว็บไซต์ Greener
Bangkok เพื่อให้ทุกคนเลือกอุดหนุนร้านที่แยกขยะดีๆ กันได้ง่ายขึ้น
นอกจากเป็นการชี้เป้าร้านอาหารที่แยกขยะได้ดีแล้ว โครงการนี้ยังช่วยคาดการณ์ปริมาณขยะที่เกิดจากร้านอาหารและงบประมาณในการจัดการขยะอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะรูปแบบใหม่ของกรุงเทพมหานครที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2568 ตามประเภทผู้ก่อขยะ แบ่งเป็น
🏠กลุ่มที่ 1 : บ้านเรือนที่มีขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน มีค่าเก็บและขนส่ง 30 บาท/เดือน + ค่ากำจัด 30 บาท/เดือน = รวม 60 บาท/เดือน
🍜กลุ่มที่ 2 : ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อที่มีขยะเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีค่าเก็บและขนส่ง 60 บาท/20 ลิตร + ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร = รวม 120 บาท/20 ลิตร
🏬กลุ่มที่ 3 : ห้างสรรพสินค้า ตลาด โรงแรม และสถานประกอบการที่มีขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีค่าเก็บและขนส่ง 3,250 บาท/ลูกบาศก์เมตร + ค่ากำจัด 4,750 บาท/ลูกบาศก์เมตร = รวม 8,000 บาท/ลูกบาศก์เมตร
สำหรับคนยุคใหม่ ที่ตระหนักร่วมลดภาวะโลกเดือด สามารถเข้าไปส่องและตามไปอุดหนุนร้านอาหารที่ไม่เทรวมซึ่งมีระบบการจัดการขยะดี ได้ทางเว็บไซต์ https://greener.bangkok.go.th/ran-mai-te-ruam/