มจร. วัดไร่ขิง มุ่งใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ร่วมกับการปฏิบัติการในพื้นที่ของนิสิต ขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมมือกับภาคีต่างๆ ทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ และภาคเอกชน
พระมหาบุญเลิศ อินทปญฺโญ รองผอ.วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. วัดไร่ขิง กล่าวว่า ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มีนโยบายในการสร้างนักพัฒนาสังคมมืออาชีพยุคใหม่ พัฒนาสังคมไทยยั่งยืนนั้น ในส่วนของการสร้างนักพัฒนาสังคม เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ มจร.วัดไร่ขิง ให้ความสำคัญ และพร้อมที่จะผลิตนักพัฒนาสังคมสนับสนุนการทำงานของพม. เพื่อพัฒนาสังคมไทย
โดยปัจจุบัน มจร. วัดไร่ขิง ได้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม เพื่อผลิตนักพัฒนาสังคม ทั้งยังมีการเปิด "ศูนย์ปฏิบัติการทางสังคม” หรือ Social Lab เพื่อเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัย โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ร่วมกับการปฏิบัติการในพื้นที่ของนิสิต ขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น โดยร่วมมือกับภาคีต่างๆ ทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ และภาคเอกชน
พระมหาบุญเลิศ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาเกิดความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ "ไข่ทองเค็ม" ของชุมชนยายชา จ.นครปฐม การช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชุมชนภายใต้ชื่อโครงการ “พุทธปัญญา:วิชาแพะ” พื้นที่ต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม แก้ปัญหาการเลี้ยงแพะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ให้มีการจัดการฟาร์มให้สะอาด ลดปัญหามลพิษทางอากาศอันเกิดจากกลิ่นของสิ่งปฏิกูล โดยการนำมูลแพะมาตากแห้งเป็นปุ๋ยคอก มาทำเป็นดินพร้อมปลูกผสมมูลแพะและมูลไส้เดือน นำเศษอาหารแพะ สิ่งปฏิกูล ในฟาร์มแพะ เป็นชุดปลูกผัก “เปิด ปลูก ปรุง” เพิ่มมูลค่าจากการเลี้ยงแพะ รวมทั้งการทำสบู่น้ำนมแพะ การทำครีมอาบน้ำ จากนมแพะ การทำโลชั่น จากนมแพะ
นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผักตบชวาศรีทวารวดี “ผักตบชวาศรีทวารวดี” ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์คือ “กระเช้าทวารวดี” เป็นการถอดแบบลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาในสมัยทวารวดี มาสานเป็นลายตะกร้า เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของสินค้า ด้วยการคิดค้นและพัฒนาร่วมกันระหว่างนิสิตกับชาวบ้านกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต้นตาล และยังมี “ตะกร้ากระต๊าก” เป็นตะกร้ารูปไก่ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบางเลน เป็นพื้นที่ที่นิสิตได้ลงไปทำงานร่วมกับชุมชน จึงนำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนบางเลนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงไก่เป็นจำนวนมาก มาออกแบบเป็นลวดลายของตะกร้า เป็นต้น