กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดเวนเทจ คอนซัลติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ครั้งที่ 2 : การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เมื่อ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา) ซึ่งจะมีจัด 4 ครั้ง ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง ความสำคัญของแผนแม่บทรับรองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 ว่าเป็นกรอบการดำเนินงานระยะยาวในการรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งยกระดับการดำเนินงานทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการดำเนินงานในทุกภาคส่วน ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางระดับโลก
ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้นต้องอาศัยกลไกทางการเงิน ประกอบกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ โดยให้ประเทศพัฒนาแล้วมีพันธกรณีในการระดมทุนไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2035 เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว โดยขับเคลื่อนผ่านกองทุนต่างๆ จึงทำให้การเข้าถึงเงินทุนเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกประเทศ
อธิบดีกรมลดโลกร้อน ย้ำว่า "การปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนระหว่างประเทศและการออกแบบมาตรการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้แผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุงนี้ สามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน"
ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือการปรับปรุงแผนแม่บทฯ มีกำหนดจัดขึ้นจำนวน 4 ครั้ง เพื่อหารือและรับฟังมุมมองเชิงลึกในแต่ละสาขาเฉพาะด้าน ได้แก่ ครั้งที่ 1 ด้านการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีส่วนร่วม จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2568 ครั้งที่ 2 ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการนำเสนอข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมประชุม เกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อริเริ่มการเงิน การวิเคราะห์ช่องว่างและความต้องการสำหรับมาตรการการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำเสนอเป้าหมายและข้อจำกัดด้านการเงินในการดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างมิติทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมิติการมีส่วนร่วมทางสังคม และในช่วงเดือนมีนาคม 2568 จะมีการประชุมครั้งที่ 3 ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และครั้งที่ 4 การลดก๊าซเรือนกระจก หลังจากนั้นจะมีการสรุปการจัดทำแผนแม่บทฯ ในภาพรวมพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป