จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ และศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ) ในการวิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เมื่อ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา
ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยา สัตว์ป่าหลายชนิดมีจำนวนประชากรลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำลายที่อยู่อาศัย และการล่าสัตว์ ซึ่งเป็นภัยต่อระบบนิเวศและการอยู่รอดของสัตว์ป่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า
โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการจัดเก็บข้อมูลชีวภาพ การศึกษาเชิงลึกด้านนิเวศวิทยา วิทยาการสืบพันธุ์ ตลอดจนนิติวิทยาศาสตร์ของสัตว์ป่า โดยการบูรณาการองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน
ในการขับเคลื่อนความร่วมมือครั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์การสวนสัตว์แห่ง ประเทศไทยฯ จะให้การสนับสนุนตัวอย่างชีวภาพจากสัตว์ในสถานเพาะเลี้ยง ส่วน สวทช. จะสนับสนุนงานวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรม โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและการพัฒนาบุคลากร
โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะนำเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง มัลติโอมิกส์ (Multi-omics) เช่น จีโนมิกส์ (Genomics) โปรตีโอมิกส์ (Proteomics) และเมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics) มาใช้เพื่อศึกษาการธำรงเผ่าพันธุ์ของสัตว์ป่าหายากอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีจีโนมิกส์จะช่วยวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรม ลดความเสี่ยงจากภาวะเลือดชิด และกำหนดพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสม ขณะที่โปรตีโอมิกส์และเมตาโบโลมิกส์จะช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพเพื่อการดูแลสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดจากกรณีศึกษาหลายโครงการ เช่น การวิเคราะห์พันธุกรรมของละมั่งพันธุ์ไทย เพื่อหาแนวทางเพิ่มประชากรให้แข็งแรง การถอดรหัสจีโนมของพญาแร้ง ความร่วมมือกับต่างประเทศในการความสัมพันธ์ในกลุ่มประชากรเสือลายเมฆทั่วโลก เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์
ความร่วมมือในครั้งนี้ยังจะขยายผลไปสู่โครงการอนุรักษ์ที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การศึกษาการปรับตัวของสัตว์ป่า ต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การพัฒนาแนวทางขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และปล่อยคืนสัตว์ป่าสู่ป่าธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต