xs
xsm
sm
md
lg

เร่งไทยออกกฎหมาย "Right to Repair" กระตุ้นผู้บริโภคใช้สิทธิ-หนุนธุรกิจช่วยโลกลด E-waste

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดรายงานฉบับใหม่ผลักดันประเทศไทยสร้างมิติใหม่ ยกระดับสิทธิผู้บริโภค เพิ่มทางเลือก ทลายกำแพงการซ่อมแซม กระตุ้นธุรกิจช่วยโลกแก้โจทย์ใหญ่ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 450,000 ตันต่อปี สอดคล้องเศรษฐกิจ BCG ของไทย

สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และมหาวิทยาลัยรังสิต จัดทำรายงานใหม่ล่าสุด เปิดเผยถึงโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน ในการผลักดันกฎหมายสิทธิในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Right to Repair - R2R

Right to Repair - R2R คือการที่ผู้บริโภคควรมีสิทธิในการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ของตนเอง ตั้งแต่เครื่องจักรกลการเกษตร ยานยนต์ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถเข้าถึงอะไหล่ เครื่องมือ และคู่มือการซ่อม ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายได้กำหนดข้อจำกัดทั้งทางกายภาพ กฎหมาย และดิจิทัล เพื่อปิดกั้นการซ่อมโดยอิสระ ดังนั้น R2R จึงมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครอง “สิทธิด้านการซ่อม” พร้อมทั้งลดข้อจำกัดด้านซอฟต์แวร์ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อะไหล่ทดแทนใช้งานได้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Parts Pairing” หรือ "การจับคู่ชิ้นส่วน" ที่ส่งผลให้ค่าซ่อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ประเด็นคือการขาดทางเลือกของผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแรงผลักสำคัญให้ R2R เรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์สามารถซ่อมได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สิทธิและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวแล้ว และปัจจุบันมีอีก 30 รัฐที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่ สหภาพยุโรปประกาศใช้กฎหมาย R2R ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งห้ามผู้ผลิตกำหนดข้อจำกัดในการซ่อม และบังคับให้ผู้ผลิตต้องจัดหาอะไหล่และเครื่องมือในราคาที่สมเหตุสมผล


นายเอ็ดเวิร์ด แรตคลิฟฟ์ กรรมการบริหาร สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงรายงานฉบับใหม่ “(ฉบับร่าง) สิทธิในการซ่อมในประเทศไทย การพัฒนาผลลัพธ์เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ช่างซ่อม และสิ่งแวดล้อม” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในไทยว่า “ประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่และมียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนถึง 14 ล้านเครื่องในปี 2566 คาดว่าอัตราการใช้สมาร์ทโฟนจะสูงถึง 97% ภายในปี 2572 ทำให้ประเทศไทยเหมาะสมกับการออกกฎหมาย R2R ที่ก้าวหน้า”

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการซ่อมกว่า 40 รายในกรุงเทพฯ พบปัญหาสำคัญในระบบซ่อมแซมของไทย โดย 54% ของร้านซ่อมอิสระไม่มีคู่มือการซ่อม ขณะที่ 96% ไม่สามารถเข้าถึงอะไหล่จากศูนย์บริการหรือผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาต รายงานฯ ยังเน้นถึงความเร่งด่วนของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็น 65% ของขยะอันตรายจากชุมชน ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 450,000 ตันต่อปี ขยะจากโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตคิดเป็นประมาณ 25,200 ตัน แต่มีเพียง 21% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะหลังจากที่จีนสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2560 ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าในไทยเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า โดยในปี 2564 ไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 28 ล้านตัน

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนากฎระเบียบ R2R เนื่องจากกรอบนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคและความยั่งยืนที่มีอยู่เดิม การที่รัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจให้ความสำคัญกับแนวคิดดังกล่าว และตลาดการซ่อมและวัฒนธรรมการซ่อมอุปกรณ์ที่เข้มแข็ง โดยประการสำคัญ คือ การที่รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ Lemon Law แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับความรับผิดในกรณีผลิตภัณฑ์ชำรุดบกพร่อง นอกเหนือจากขอบเขตความรับผิดที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ณ ปัจจุบัน ร่างกฎหมาย Lemon Law มิได้จำกัดเฉพาะการซ่อมอุปกรณ์เท่านั้น หากแต่เป็นการวางกรอบแนวคิดใหม่ที่จะเกื้อหนุนต่อการพัฒนากฎหมาย R2R ต่อไป

จากการสำรวจตลาดการซ่อมอุปกรณ์ในประเทศไทยช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2567 ซึ่งครอบคลุมร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อิสระและร้านซ่อมที่ได้รับอนุญาตจากแบรนด์ผู้ผลิต พบว่า กลุ่มช่างซ่อมอุปกรณ์อิสระต้องเผชิญปัญหาหลักหลายประการ รวมถึงการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล เครื่องมือและชิ้นส่วนอะไหล่ การขาดการเข้าถึงหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้ทันเทคโนโลยีซึ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ความต้องการในการซ่อมอุปกรณ์ที่น้อยลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปสนใจอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ และการอัพเกรดอุปกรณ์มากกว่า นโยบายรับประกันสินค้าของผู้ผลิตอุปกรณ์ และการแข่งขันกับการซ่อมอุปกรณ์ด้วยตนเองที่บ้านของผู้บริโภค ทั้งนี้ ยังพบว่า แม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะมีนโยบายที่แตกต่างกันไป แต่ปัญหาที่ศูนย์ซ่อมอุปกรณ์รายย่อย และศูนย์รับซ่อมที่ได้รับอนุญาตพบนั้น มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน อาทิ การเข้าถึงเครื่องมือหรือชิ้นส่วนอะไหล่เฉพาะสำหรับงานซ่อมอุปกรณ์ที่มีลักษณะซับซ้อน และเครื่องมือและชิ้นส่วนอะไหล่บางประเภทหายากและมีราคาสูงทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้ออุปกรณ์ใหม่แทนการซ่อม ผู้ตอบแบบผลสำรวจเห็นว่า รัฐบาลควรเพิ่มการส่งเสริมสภาพแวดล้อมเชิงนโยบายสำหรับ R2R ให้เข้มแข็งขึ้น โดยอาจมีมาตรการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงชิ้นส่วนอะไหล่ กำหนดราคามาตรฐาน การสร้างแรงจูงใจ และการส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ของการซ่อมอุปกรณ์ต่อความยั่งยืน

นายเอ็ดเวิร์ด แรตคลิฟฟ์ กรรมการบริหาร สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๐ แนะพัฒนากรอบนโยบายให้ครอบคลุม

แม้ว่าประเทศไทยจะมีพัฒนาการที่ชัดเจนในการเพิ่มการเข้าถึงบริการซ่อมผ่านการพัฒนากฎหมาย Lemon Law แล้ว แต่กรอบกฎหมายด้าน R2R ของไทยยังมีลักษณะแตกแยก และไม่สมบูรณ์ เป็นผลให้การดำเนินการซ่อมยังมีความไม่แน่นอน เมื่อพิจารณาถึงโอกาสและความท้าทายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ R2R แล้ว เห็นได้ว่าแนวทางการสนับสนุน R2R ที่เหมาะสมยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงระบบนิเวศ R2R ในประเทศไทย

การพัฒนากรอบนโยบาย R2R ในประเทศไทยให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น อาจพิจารณาจากแนวทางต่างๆ ดังนี้

1) การออกกฎหมายใหม่ – เมื่อคำนึงถึงแรงสนับสนุนที่มีอยู่ต่อการส่งเสริมความสะดวกในการซ่อม ความยั่งยืน และการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย รัฐบาลอาจพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรองรับ R2R โดยเฉพาะ

2) การปรับแก้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว – ผู้กำหนดนโยบายอาจพิจารณาแก้ไขกฎหมายหรือร่างกฎหมายที่มีอยู่แล้ว อาทิ ร่างกฎหมาย Lemon Law ที่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการหารือปรับแก้ไขร่าง โดยอาจปรับเพิ่มบทบัญญัติที่สนับสนุน R2R

3) การออกมาตรการห้ามการใช้วิธีปฏิบัติที่มีลักษณะกีดกัน เช่น การจับคู่ชิ้นส่วนอะไหล่โดยการเข้ารหัสกับอุปกรณ์ (part pairing) – ประเทศไทยมีโอกาสเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยการบังคับห้ามผู้ผลิตใช้วิธีปฏิบัติที่มีลักษณะกีดกัน เช่น การจับคู่ชิ้นส่วนอะไหล่โดยการเข้ารหัสกับอุปกรณ์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตระหนักว่าการจับคู่ชิ้นส่วนอะไหล่เป็นข้อจำกัดหลักที่ผู้บริโภคและช่างซ่อมอิสระต้องเผชิญ

4) การส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนและการซ่อมในวงกว้าง – นอกเหนือไปจากการออกกฎหมาย R2R โดยเฉพาะแล้ว รัฐบาลยังอาจส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ R2R ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยการผลักดันพฤติกรรมการบริโภคที่ยั่งยืนเป็นวงกว้าง

5) การรับรองและสนับสนุนช่างซ่อม – รัฐบาลอาจปรับปรุงคุณภาพการซ่อมโดยช่างซ่อมอิสระในภาพรวม ผ่านการจัดการฝึกอบรมและให้การรับรอง โดยอาจร่วมมือกับผู้ผลิตอุปกรณ์ เพื่ออบรมช่างซ่อมอิสระเกี่ยวกับการซ่อมที่มีคุณภาพ และความสำคัญของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของอุปกรณ์


นอกเหนือจากการใช้มาตรการทางนโยบายแล้ว รัฐบาลไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในด้านการซ่อม รวมไปถึงผู้มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ผลักดัน R2R อาจพิจารณาดาเนินกิจกรรมสนับสนุนกรอบนโยบาย R2R ได้อีก ดังนี้

1. ส่งเสริมการเข้าถึงการซ่อม – โดยอาจเป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อขยายการเข้าถึงเครื่องมือ คู่มือ และเอกสารต่างๆ ผู้ผลิตอุปกรณ์ควรถูกบังคับตามกฎหมายให้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ คู่มือการซ่อม แผนที่ถอดประกอบ และเครื่องมือทดสอบวินิจฉัย ที่เข้าถึงได้โดยผู้ให้บริการซ่อมอิสระ ผู้บริโภค ผู้ผลิตอุปกรณ์

2. ห้ามมิให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ใช้แนวปฏิบัติการซ่อมที่ไม่เป็นธรรม – นโยบาย R2R ของประเทศไทยในอนาคต ควรระบุชัดเจนเพื่อห้ามมิให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ใช้แนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อการซ่อม อาทิ การจับคู่ชิ้นส่วนอะไหล่โดยการเข้ารหัสกับอุปกรณ์ ซึ่งเป็นการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อกีดกันมิให้ผู้บริโภคและร้านซ่อมอิสระเปลี่ยนชิ้นส่วนประกอบเอง

3. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค –กฎหมายควรระบุให้ชัดเจน ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิซ่อมอุปกรณ์โดยไม่ทาให้สิ้นสภาพความคุ้มครองตามการรับประกัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการการซ่อมโดยบุคคลที่สามได้โดยไม่มีผลกระทบตามมา มาตรการคุ้มครองเหล่านี้อาจบรรจุอยู่ในกฎหมาย Lemon Law ที่อยู่ระหว่างการจัดทา หรือผนวกเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ เช่น พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยพ.ศ. 2551 ซึ่งมีการให้สิทธิผู้บริโภคในการรับบริการซ่อมในการณีที่ผลิตภัณฑ์ชารุดเสียหายอยู่แล้ว

4. เพิ่มความสะดวกในการซ่อมและความทนทางของอุปกรณ์ต่างๆ – ประเทศไทยอาจสนับสนุนให้ผนวกความสะดวกในการซ่อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบ ผ่านการจัดทาข้อริเริ่มโดยสมัครใจต่างๆ รวมถึงการกลไกการติดฉลากด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบ่งชี้ความสะดวกในการซ่อม และการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เช่น การลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ผลิตอุปกรณ์ใช้หลักการการออกแบบที่เป็นมิตรต่อการซ่อม หรือเข้าร่วมโครงการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR)

5. ห้ามการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ล้าสมัยหรือหมดอายุขัยในระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ (planned obsolescence) – กฎหมาย R2R ควรป้องกันการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ล้าสมัยหรือหมดอายุขัยในระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีการใช้เพื่อเพิ่มผลกาไรในภาคอุตสาหกรรม

6. พัฒนาศักยภาพภาคส่วนการซ่อม – อุตสาหกรรมการซ่อมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันควรได้รับการปฏิรูป ให้ครอบคลุมถึงการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการซ่อม รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้ผลิตอุปกรณ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คานึงถึงความสามารถในการการซ่อม


กำลังโหลดความคิดเห็น