สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ว่าประเทศร่ำรวย หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน และสหราชอาณาจักร คือสาเหตุสำคัญของการทำลายผืนป่านอกพรมแดนถึง 13% ซึ่งประเทศเหล่านั้นทำลายผืนป่ามากกว่าภายในประเทศตัวเองมากถึง 15 เท่า อย่างสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็คิดเป็น 3% แล้ว
การทำลายผืนป่านอกพรมแดนมีสาเหตุจากการบริโภคที่ล้นเกิน พวกเขามีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างเช่น เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ซึ่งมันกลายเป็นการสนับสนุนการทำลายป่าไปในตัว แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือสภาพผืนป่าที่ถูกทำลายเหล่านี้มักเป็นป่าดิบชื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้ระบุว่า ประเทศที่ร่ำรวยยังมีส่วนในการเร่งให้สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลื้อยคลาน รวมกว่า 7,500 ชนิดเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์ไวขึ้น และ 80% ของพื้นที่การเกษตรที่เกิดจากการรุกป่าเหล่านั้น ถูกใช้เพื่อผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม
ภาวะดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ที่ระบุไว้ว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์มีส่วนในการทำให้โลกสูญเสียพื้นที่ป่าไปเกือบ 40% จากสถิติในปี 2000-2018 การทำลายป่าส่วนมากเกิดขึ้นในพื้นที่เขตร้อนของทวีปเอเชียและอเมริกาใต้ ซึ่งการสูญพันธุ์ของสัตว์กว่า 90% เป็นผลมาจากพื้นที่อาศัยของพวกมันถูกทำลาย สองสิ่งนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วนในทวีปเอเชีย ประเทศที่ทำลายป่าข้ามพรมแดน คือจีนและญี่ปุ่น ซึ่งผลกระทบถึงก็ไม่พ้นประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และแถบอเมริกาใต้ก็หนีไม่พ้นประเทศมหาอำนวจอย่างสหรัฐอเมริกา
“ด้วยการนำเข้าอาหารและไม้ ประเทศที่พัฒนาแล้วก็กำลังส่งออกการสูญพันธุ์” ศาสตราจารย์เดวิด วิลโคฟ ผู้เขียนงานวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าว “การค้าทั่วโลกได้กระจายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคของมนุษย์ ในกรณีนี้ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องแสวงหาอาหารจากประเทศที่ยากจนกว่า แต่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่า ผลลัพธ์คือประเทศเหล่านั้นต้องสูญเสียสัตว์ไปหลายสปีชีส์”
ที่มา :
https://www.theguardian.com/.../richest-nations-exporting...
https://www.weforum.org/stories/2025/02/richest-countries-exporting-extinction-nature-climate-this-week/