xs
xsm
sm
md
lg

13 กุมภาพันธ์ “วันรักนกเงือก” เตือนมนุษย์ใส่ใจ “รักเดียว รักโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นกเงือก” เป็นกลไกสำคัญบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนกที่รักเดียวใจเดียว และซื่อสัตย์กับคู่ของมันไปจนตาย (โปรดสังเกต : วันรักนกเงือก ตรงกับวันที่ 13 ก.พ. ก่อนวันวาเลนไทน์ วันที่ 14 ก.พ.เพียงวันเดียว)

เหมือนว่าเป็นความบังเอิญ เพื่อตอกย้ำให้ผู้คนทั้งโลก เร่งตระหนัก ใส่ใจความรัก การครองชีวิตคู่ และคนในครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทางสังคม แถมยังช่วยโลกไปพร้อมๆ กัน เพราะวิถีการดำรงชีวิตของนกเงือกนั้นเป็นแบบอย่างแก่มนุษย์ได้อย่างดี

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน จึงกำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันรักนกเงือก” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547







ข่าวดี ปี 2568 : นกเงือกหัวหงอก ปรากฏตัวที่แก่งกระจาน

นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตก เมื่อ 8 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเปิดเผยภาพถ่ายนกเงือกหัวหงอกที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งถ่ายได้โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่บริเวณพะเนินทุ่ง ถือเป็นข่าวดีของวงการอนุรักษ์และนักดูนก เนื่องจากนกเงือกหัวหงอกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่า (ดูภาพประกอบ 4 รูป)

นกเงือกหัวหงอกเป็นนกขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเด่นคือมีกระหม่อมสีขาวและจะงอยปากขนาดใหญ่ พบได้เฉพาะในป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง โดยมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชในป่า การพบเห็นนกชนิดนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย

นกเงือก วัดถึงระบบนิเวศป่าสมบูรณ์แค่ไหน?
ยังสะท้อนนโยบายการอนุรักษ์ธรรมชาติของทุกประเทศในโลก


ที่บอกว่า “นกเงือก” (Hornbill) เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากนกเงือกเป็นสัตว์ที่ “ปิดทองหลังพระ” สังเกตได้จากพฤติกรรมกินผลไม้สุกของนกเงือก แล้วนำพาเมล็ดทิ้งกระจายไปตามพื้นที่ที่บินผ่าน ทำให้เมล็ดมีโอกาสงอกงามเติบโตเป็นต้นไม้ของผืนป่าและเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์มากมาย ซึ่งช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ นกเงือกจึงนับเป็นสัตว์ที่เสมือนตัวชี้วัดบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของป่า

ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิไล พูลสวัสดิ (ได้รับพระราชทานเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ผู้ได้รับฉายาว่า 'มารดาแห่งนกเงือก'ได้ฝากความรู้ เรื่องของ “นกเงือก” ว่า นกเงือกจะพาเมล็ดพืช เพราะฉะนั้นเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลูกป่าที่สำคัญมาก ๆ ป่าเขตร้อนของเรา ซึ่งนกเงือกมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ นกเงือกกินผลไม้หนึ่งผล ใน 1 วัน แล้วพาเมล็ดไป เราลองคิดดู 365 วัน นกเงือกจะกินทุกวัน ถ้าเรามีนกเงือกในปริมาณมาก ใน 1 วัน มันไม่ได้กินแค่เมล็ดเดียว และไม่ได้กินชนิดเดียว เพราะฉะนั้นมันจะหลากหลาย ถ้าเราสามารถอนุรักษ์นกเงือกไว้ได้ เราจะมีทั้งนกเงือก และเราจะมีทั้งป่าเพิ่มขึ้น ถ้าเรามองให้ทะลุถึงพื้นดิน เราต้องเข้าใจระบบนิเวศ

ผศ.ดรวิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก หยิบยกประเด็นการประกาศให้พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นพื้นที่มรดกโลก ว่าเป็นแรงผลักดันให้มีการอนุรักษ์และการจัดการสัตว์ป่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้โดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ค่อนข้างเป็นประโยชน์ในการดูแลสัตว์ขนาดใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตาม การยกระดับพื้นที่ให้เป็นมรดกโลกทำให้มีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น อาจไปรบกวน มีผลกระทบกับสัตว์ป่ามากขึ้น ดังนั้นจึงควรจัดแบ่งพื้นที่ (Zonning) ให้ชัดเจน สำหรับพื้นที่บริการ พื้นที่อนุรักษ์ การบริหารจัดการขยะ ปัจจุบันจำนวนรีสอร์ตในพื้นที่เขาใหญ่เพิ่มมากขึ้น นับเป็นข้อดีต่องานอนุรักษ์ เพราะนักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องเข้ามาพักในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงช่วยลดผลกระทบต่อสัตว์ป่า

ด้านนายพิทยา ช่วยเหลือมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก เสริมว่าถ้านกเงือกหายไป จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่กับการเพิ่มต้นไม้ในป่า การปลูกป่า แม้กระทั่งถ้าหมี ผึ้ง ชันโรง นกหัวขวานหายไป นกเงือกก็หายไปด้วย การหายไปของนกเงือกจะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ


กำลังโหลดความคิดเห็น