ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ร่วมกับเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ต่อยอดความสำเร็จแคมเปญ “มันส์ แล้ว ทิ้ง” จากงาน “เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14” ส่งมอบถังคัดแยกขวดพลาสติก PET แก่สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ พร้อมนำรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลจัดซื้ออุปกรณ์ภาคสนามมอบให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย นางสาววิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ และบริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) นำโดย นางสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ (ที่ 1 จากซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป็นตัวแทนมอบถังคัดแยกขวดพลาสติก PET จำนวน 55 ถัง ที่ใช้ในงาน “เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14” ให้แก่ สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ โดยมี นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร (ที่ 2 จากซ้ายของภาพ) เป็นผู้รับมอบ
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการคัดแยกและเก็บกลับขวดพลาสติก PET ใช้แล้ว และนำไปรีไซเคิลหมุนเวียนเป็นขวดใหม่ หรือที่เรียกว่า “Bottle-to-Bottle Recycling” ในพื้นที่เขาใหญ่ พร้อมมอบอุปกรณ์ภาคสนามที่จำเป็น ได้แก่ เปลมุ้ง ฟลายชีทกันฝน เตาแก๊สสนาม รวมถึงข้าวสาร และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย รวมมูลค่ากว่า 110,000 บาท ให้แก่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยมี นายชัยยา ห้วยหงส์ทอง (ภาพที่ 2: ที่ 5 จากซ้าย) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นผู้รับมอบ เพื่อร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ (World Heritage Site) และอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park)
การบริจาคครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของแคมเปญ “Waste Nothing - มันส์ แล้ว ทิ้ง” การคัดแยกและจัดการขยะเต็มรูปแบบ (Entire Waste Management) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14” เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเงินทุนในการจัดซื้อสิ่งของบริจาคทั้งหมดได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิลที่สามารถคัดแยกได้ภายในงาน ได้แก่ ขวดพลาสติก PET กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้ว และกระดาษลัง
ตลอดการจัดงานฯ สามารถคัดแยกขยะได้สูงถึง 11,150 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากงานเป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 13 ในปี 2566 กว่าเท่าตัว โดยสามารถคัดแยกขวดพลาสติก PET ได้ 1,485 กิโลกรัม ส่งเข้าสู่กระบวนการ Bottle-to-Bottle Recycling หมุนเวียนเป็นขวดใหม่ กระป๋องอะลูมิเนียม 1,410 กิโลกรัม ถูกจัดการในรูปแบบของ Can-to-Can Recycling เพื่อนำมาผลิตเป็นกระป๋องอีกครั้ง ขยะทั่วไป 3,780 กิโลกรัม ถูกเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel-RDF) แทนการฝังกลบ ขยะเศษอาหาร 4,085 กิโลกรัม ถูกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และขยะอื่นๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น กระบอกน้ำพลาสติก ขวดแก้ว และกระดาษลังอีก 390 กิโลกรัม