xs
xsm
sm
md
lg

“ทุนนิยมสีเทา” ในเมืองไทย จะคุมกำเนิดกันหรือไม่ ? / รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความพยายามให้เกิด “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ “ ที่มีบ่อนคาสิโนอยู่ในโครงการนั้น อ้างกันว่าจะเป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยทุนขนาดใหญ่ แต่ก็อาจจะกลายเป็น “ทุนนิยมสีเทา” หากรัฐบาลไม่สร้างหลักประกันตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการปฏิรูปหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและควบคุมด้านกฎหมาย ให้สุจริต โปร่งใส และน่าเชื่อถือเพียงพอเสียก่อน

ตำนาน “ทุนนิยม”ในประเทศอังกฤษนั้น ถือว่าเป็นต้นแบบของทุนนิยมทั่วโลก ไม่ได้มีลักษณะพิเศษที่ดีเด่นหรือแตกต่างจากทุนนิยมอื่นๆในประเทศตะวันตก มันถูกอธิบายจากแง่มุมของ การเติบโตผ่านการสะสมทุนในระยะเริ่มแรก (primitive accumulation) การแบ่งงานกันทำ ความเจริญรุ่งเรืองจากการทำธุรกิจการค้า ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่และความมั่งคั่ง

แต่คำอธิบายที่เป็นทางการเป็นเพียงด้านหนึ่งของทุนนิยม เท่านั้น อีกด้านหนึ่งของทุนนิยมที่ไม่ใคร่มีการอธิบาย คนไม่ใคร่ได้รับรู้ และไม่ใคร่ได้ยิน คือ”ด้านมืดของทุนนิยม”ตั้งแต่เริ่มแรก ที่มีการใช้แรงงานเด็กเป็นจำนวนมาก แรงงานผู้ใหญ่ต้องทำงานหนักวันละ 16-18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีสวัสดิการ ผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทำงานหนักไม่ต่างจากแรงงานทาสในอดีต

ในอเมริกา ความมั่งคั่งของภาคการเกษตรมาจากแรงงานทาสผิวดำแอฟริกันที่ถูกบังคับให้ทำงานหนักอย่างโหดร้าย แต่ถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานทาสเหล่านี้ ถูกนายทุนไปไล่ล่าจับเอามาจากทวีปแอฟริกา แล้วเอาไปขายในตลาดค้าทาสในอเมริกา

ชีวิตของพวกเขาถูกปฏิบัติจากนายทุนไม่ต่างจากสัตว์ป่า ต้องบ้านแตกสาแหรกขาด วัฒนธรรมและประเพณีถูกย่ำยีจนเสียหายป่นปี้

เราไม่ควรลืมว่า ทุนนิยมในระยะเริ่มแรกของยุโรปขยายตัวพร้อมกันไปกับการเริ่มต้นไล่ล่าอาณานิคมไปทั่วโลก

บริษัทอีสต์อินเดียของอังกฤษเพียงบริษัทเดียวสามารถใช้กำลังทหาร สมัยใหม่ของรัฐบาลอังกฤษเข้ายึดครองพื้นที่อินเดียและพม่าได้ทั้งประเทศ

อังกฤษเนรเทศกษัตริย์องค์สุดท้ายของอินเดียให้ไปลี้ภัยอยู่ที่พม่า และเนรเทศกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าให้ไปลี้ภัยอยู่ที่อินเดีย อังกฤษยังเข้ายึดครอง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ทั้งทวีป นอกเหนือจากการเข้ายึดครองดินแดนของทวีปต่างๆเกือบทั่วทั้งโลก

อังกฤษใช้การ ล้มราชบัลลังก์ของกษัตริย์และสุลต่านของทุกประเทศที่สามารถยึดครองเป็นอาณานิคมได้ ปล้นสดมภ์ และฉกฉวยทรัพย์สินจากพระราชวังและของมีค่าทางประวัติศาสตร์ ของทุกประเทศไปเป็นของตนเอง บีบบังคับด้วยกำลัง อาวุธ กอบโกยเอาทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศต่างๆ กลับไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเป็นสินค้าที่อังกฤษ แล้วส่งสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านั้น กลับไปขายที่ประเทศอาณานิคม

ในบรรดาสินค้าที่ทำกำไรได้ดีที่สุดของพ่อค้าอังกฤษคือการขายฝิ่นให้แก่คนจีน เพราะทั้งขุนนาง พ่อค้าและคนจีนทั่วไปต่างพากันติดฝิ่นงอมแงมกันทั้งประเทศ วิธีการทำธุรกิจของพ่อค้าอังกฤษได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษที่ใช้การทำสงครามเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลจีนต้องยอมรับให้การค้า “ฝิ่น” เป็นสิ่งที่ "ถูกต้องตามกฏหมายของจีน" ในขณะที่ฝิ่นกลับเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศของตนเอง

ดังนั้น การสะสมความมั่งคั่งของบรรดานายทุนชาวอังกฤษตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้อาศัย “กลไกราคาตลาด” ในการทำธุรกิจ ตามที่พวกเขากล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ในทางตรงกันข้ามความมั่งคั่งของนายทุนชาวอังกฤษมาจากการใช้ความรุนแรง การบีบบังคับและการบีบคั้นด้วยกำลัง นอกเหนือเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ (moral coercion) ความอำมหิต และและการกระทำที่ทารุณโหดร้าย โดยการใช้อำนาจรัฐ อำนาจของกองทัพเรือที่ติดอาวุธทันสมัย ปืนใหญ่ และปืนเล็กยาว บีบบังคับให้จีนต้องยอมรับการทำธุรกิจยาเสพติด ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกเหนือจาก “การปล้นสดมภ์” ป่าไม้ของไทยและเมียนมาร์ เพื่อนำไปสร้างเรือรบที่บ้านเกิดและการใช้คนในประเทศอาณานิคมเป็นหนูทดลองยาชนิดใหม่ๆเพื่อสร้าง อุตสาหกรรมยารักษาโรค เป็นต้น

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษของทุนนิยม ตะวันตกล้วนแล้วแต่เป็น “ทุนนิยมสีเทา” การสะสมความมั่งคั่งของทุนนิยมตะวันตกมาจากการใช้ความรุนแรงและการบีบบังคับอดีตประเทศอาณานิคมด้วยการใช้กำลังทั้งสิ้น

การรุกรานของทุนนิยมตะวันตกกระตุ้นให้เกิด “เศรษฐกิจตลาด“ หรือเศรษฐกิจทุนนิยมในประเทศต่างๆทั่วโลก แต่ทุนนิยมที่เกิดขึ้นกับบรรดาประเทศที่ที่ล้าหลังกว่าทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศการเกษตร ที่ขาดชนชั้นพ่อค้า นายทุนในระบบเศรษฐกิจของตนเอง

ดังนั้น กลุ่มทหาร ตำรวจและข้าราชการจึงเข้ามาสวม บทบาทและทำหน้าที่ในฐานะที่ เป็นชนชั้นนายทุนในระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมแทน

ในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2475 เป็นต้นมา รัฐบาลเริ่มต้นสร้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นวิสาหกิจแบบทุนนิยม แต่ยุคทองของรัฐวิสาหกิจไทยที่อยู่ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2490 -2516 ที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกิดรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการรัฐวิสาหกิจมาจากกลุ่มนายทหาร ตำรวจและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้อำนาจ จากการทำการรัฐประหารทั้งสิ้น

นายทุนข้าราชการกลุ่มนี้ใช้ทุนของรัฐในการดำเนินธุรกิจ และใช้อำนาจทางการเมืองเข้าครอบครองและควบคุมธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ครอบครัวและพวกพ้อง นายทุนประเภทนี้ได้รับการเรียกขานว่า “นายทุนขุนนาง” หรือ “นายทุน ข้าราชการ” เพราะด้านหนึ่ง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจรัฐ มีอำนาจทางการเมือง และ ในขณะเดียวกัน พวกเขายังเป็นข้าราชการอยู่ด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาแสดงบทบาทและหน้าที่แบบเดียวกับพ่อค้า นายทุนของระบบเศรษฐกิจตลาด

นายทุนขุนนางหรือนายทุนข้าราชการสะสมความมั่งคั่งของตนเองจากระบบราชการและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจนกลายเป็นนายทุนที่มั่งคั่ง ไม่แตกต่างจากนายทุนที่ทำธุรกิจ การค้าทั่วไป แต่ความสำเร็จของพวกเขามาจากการใช้อำนาจรัฐคือ การออกกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ และคำสั่งต่างๆของคณะปฏิวัติ รวมทั้งการใช้อิทธิพลที่มีที่มาจาก อำนาจของระบบราชการเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ โดยธุรกิจของพวกเขาได้รับสัมปทาน ได้อภิสิทธิ์ และสิทธิ์พิเศษต่างๆเหนือธุรกิจเอกชนทั่วไป โดยไม่ต้องใช้กลไกตลาดและไม่ต้องมีการแข่งขันแต่อย่างใด

ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การสะสมทุนนิยมเริ่มแรกในประเทศไทย ไม่ได้มาจากการ ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ หากแต่ใช้อำนาจของกองทัพ อำนาจรัฐ และอิทธิพลของระบบราชการเป็นเครื่องมือในการสะสมทุนและความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นการสะสมทุนและความมั่งคั่งโดยผ่านการคอรัปชั่น ทุนนิยมที่เกิดขึ้นจึงเป็น ” ทุนนิยมสีเทา“ ซึ่งมีคุณลักษณะที่ไม่ได้แตกต่างไปจากทุนนิยมที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกเลย

ปรากฎการณ์ของทุนนิยมสีเทา


ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยังเกิดขึ้นทั่วไปในประเทศต่างๆทั่วโลก เช่นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแอฟริกาด้วย

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของทุนนิยมทั่วโลก ล้วนแล้วแต่เป็นประวัติศาสตร์ของทุนนิยมสีเทา แทบทั้งสิ้น เพราะไม่มีประวัติศาสตร์ของทุนนิยมในประเทศใด ที่ไม่ผ่านการใช้ความรุนแรง ความทารุณโหดร้าย การกดขี่ข่มเหง การหลอกลวง การคดโกง และการคอรัปชั่นของนักการเมือง ข้าราชการ และพ่อค้านายทุน ในการสะสมทุนและสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชนชั้นนี้

การเกิดขึ้นของกลุ่มทุนสีเทา หรือทุนนิยมสีเทาในประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติของระบบทุนนิยมทั่วไป ไม่ใช่เป็นสิ่งผิดปกติแต่ประการใด แต่ที่มันกลายไปเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ก็เพราะมันถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรงในการทำธุรกิจ ของกลุ่มทุนนิยมสีเทาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนชาวจีนและรัฐบาลจีน ต่างหาก

เพราะสำหรับรัฐบาลจีนแล้ว การทำธุรกิจทุนนิยมจะต้องมีศีลธรรม และมีการยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจีนด้วย ดังนั้นการทำธุรกิจของกลุ่มทุนในเมียนมาร์จากมุมมองของรัฐบาลจีนแล้ว ไม่ได้ถือว่าเป็นทุนสีเทา แต่ถือว่าเป็นทุนสีดำด้วยซ้ำไป

ในขณะที่รัฐบาลบางประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจมองว่ากลุ่มทุนในเมียนมาร์ ยังไม่ใช่ทุนสีเทาหรือทุนสีดำ ดังนั้นปฏิกิริยาของรัฐบาลเหล่านั้นต่อกลุ่มทุนในเมียนมาร์จึงแตกต่างกันไป


ผมคิดว่าทุนนิยมในเมียนมาร์จะเป็นสีอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับระดับคุณธรรม และศีลธรรมของรัฐบาล และระดับความสำนึกส่วนใหญ่ของประชาชนในประเทศนั้นๆจะเป็นตัวกำหนด เมื่อระดับคุณธรรมและศีลธรรมของรัฐบาลและประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไป สีของทุนนิยมจากมุมมองของคนส่วนใหญ่ในประเทศก็เปลี่ยน แปลงตามไปด้วย ที่สำคัญเราควรระลึกว่าการให้สีของทุนนิยมจากมุมมองของคนในประเทศที่แตกต่างกัน อาจให้สีของทุนนิยมที่แตกต่างกันได้ด้วย

เช่นเดียวกับ การเกิดขึ้นของเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์และคาสิโนที่รัฐบาลไทยกำลังสนใจที่จะทำอยู่ในขณะนี้ แม้ว่า รัฐบาลจะกล่าวอ้างว่าธุรกิจนี้จะดำเนินการโดย “ทุนขนาดใหญ่”

กระนั้นก็ดี มันยังไม่มีหลักประกันอะไรที่น่าเชื่อถือให้แก่ประชาชนได้ว่า ธุรกิจ ทุนนิยมขนาดใหญ่นี้จะไม่ เปลี่ยนสีแปรธาตุตัวมันเอง จากเหตุผลประการใดก็ตาม จนกลายเป็น "ทุนนิยมสีเทา" ในอนาคตได้ หากรัฐบาลไม่สร้างหลักประกันให้แก่ประเทศและประชาชนคนไทยตั้งแต่เริ่มต้น

โดยการปฏิรูปหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับและควบคุมทางด้านกฎหมายให้สุจริต โปร่งใส และน่าเชื่อถืออย่างเพียงพอเสียก่อน

รวมทั้งการที่รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นว่า นโยบายนี้ไม่มีนักการเมืองคนใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจคาสิโนเลย

ซึ่งดูจากสถานการณ์ในขณะนี้ ประชาชนจำนวนมากคาดหวังแทบไม่ได้เลยว่าในระบบอำนาจรัฐปัจจุบัน ความสุจริตและความโปร่งใส ของนักการเมืองอยู่ที่ไหน

บทความโดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา



กำลังโหลดความคิดเห็น