ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องความแตกต่างของข้อมูลความยั่งยืนที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยกันอยู่ในเวลานี้ เราในฐานะผู้ใช้ข้อมูลความยั่งยืนดังกล่าว ควรต้องทราบความแตกต่างระหว่างรายงานทางการเงิน (Financial Statement) รายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability-related Financial Disclosure) และรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นพื้นฐานก่อน
รายงานทางการเงิน หรืองบการเงิน เป็นการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายรับ และรายจ่ายของกิจการ ในรอบระยะเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินกิจการที่ผ่านมาแล้วในอดีต
รายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เป็นการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่อยู่นอกเหนือข้อมูลที่ปรากฏในงบการเงิน ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียเห็นภาพรวมของปัจจัยความยั่งยืนอันส่งผลทางการเงิน (Financial Effect) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยปัจจัยดังกล่าวเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาสของกิจการ (เป็นข้อมูลความยั่งยืนฝั่งขาเข้า หรือ Outside-in)
รายงานความยั่งยืน เป็นการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานของกิจการ ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (เป็นข้อมูลความยั่งยืนฝั่งขาออก หรือ Inside-out)
สารัตถภาพหรือความเป็นสาระสำคัญ (Materiality) ของข้อมูลในงบการเงิน และในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ต่างกันตรงที่ ประการแรก หากกิจการเห็นว่ามีความเสี่ยงและโอกาสที่สามารถส่งผลทางการเงิน จะถือว่าข้อมูลนั้นมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ขณะที่ข้อมูลชุดเดียวกันนั้น ยังไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์สาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในงบการเงิน (เพราะเหตุการณ์นั้น ๆ ยังไม่ได้เกิดขึ้น)
ความแตกต่างประการที่สอง คือ ความเสี่ยงและโอกาสที่สามารถส่งผลทางการเงินต่อกิจการ อาจเกิดขึ้นโดยความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เช่น จากคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่าทั้งฝั่งต้นน้ำและฝั่งปลายน้ำ ที่ยังคงนับว่าข้อมูลนั้นมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ขณะที่ข้อมูลชุดเดียวกันนั้น ไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์สาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในงบการเงิน (เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการ)
ข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่สามารถส่งผลทางการเงินต่อกิจการ และมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมเรียกว่า ข้อมูลที่มี “สารัตถภาพเชิงการเงิน” (Financial Materiality)
ส่วนข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ ทั้งจากสถานประกอบการที่กิจการเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม จากห่วงโซ่คุณค่าทั้งฝั่งต้นน้ำและฝั่งปลายน้ำ จากผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดถึงจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจ จะถือว่ามีสาระสำคัญเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ความรุนแรง (Severity) ที่ส่งผลต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม โดยที่มีกิจการเป็นต้นเหตุ (Caused) มีส่วนสนับสนุน (Contribute) หรือเกี่ยวโยงโดยตรง (Directly linked)
ข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ และมีสาระสำคัญที่ต้องเปิดเผยในรายงานความยั่งยืน เรียกว่า ข้อมูลที่มี “สารัตถภาพเชิงผลกระทบ” (Impact Materiality)
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ ยังสามารถเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและโอกาสของกิจการที่มีสาระสำคัญซึ่งสามารถส่งผลกระทบทางการเงินได้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กิจการจะต้องเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากผลกระทบดังกล่าวในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย
การวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยง (Risks) และโอกาส (Opportunities) ที่สามารถส่งผลทางการเงินต่อกิจการ ควบคู่กับข้อมูลผลกระทบ (Impacts) ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ เพื่อประเมินความเป็นสาระสำคัญของข้อมูลสำหรับการรายงาน เรียกว่า สาระสำคัญสองนัย (Double Materiality) หรือใช้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ทวิสารัตถภาพ”
ทวิสารัตถภาพ เป็นหลักการที่ถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) ที่กำหนดให้กิจการซึ่งอยู่ในข่าย ต้องดำเนินการประเมินประเด็นที่เป็นสาระสำคัญทั้งนัยทางการเงินและนัยของผลกระทบ โดยไม่ต้องการให้จำกัดเฉพาะการประเมินสารัตถภาพที่คำนึงถึงแต่ตัวกิจการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืนของกิจการผ่านตัวชี้วัดที่ส่งผลทางการเงิน และความยั่งยืนของส่วนรวมผ่านตัวชี้วัดที่ส่งผลกระทบสู่ภายนอก ควบคู่ไปพร้อมกัน
สำหรับองค์กรที่มีความคุ้นเคยกับการประเมินสาระสองนัย หรือทวิสารัตถภาพอยู่แล้ว จะนิยมใช้มาตรฐาน IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับอ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เป็นความเสี่ยงและโอกาสทางการเงินในรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และใช้มาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) สำหรับอ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินงานของกิจการในรายงานความยั่งยืน
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์