ความลึกล้ำสุดจินตนาการของปรัชญาจีนที่ว่า “ความอ่อนชนะ ความแข็งได้ ดังที่กระแสน้ำ ค่อยๆกัดเซาะและบ่อนทำลายหินผาที่แข็งแกร่งจนพังทลายลงได้ กำลังน้อยชนะกำลังมากได้ คนอ่อนแอชนะคนแข็งแรงได้ และผู้ใช้ปัญญาสามารถเอาชนะผู้ที่เฉลียวฉลาดเป็นเลิศได้"
ชัยชนะที่เกิดขึ้นในบรรดาสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นชัยชนะเพื่อตัวของมันเอง (for itself) หากแต่เป็นไปเพียงเพื่อสร้างความสมดุลย์ใหม่ให้แก่ธรรมชาติ สังคมและโลกเท่านั้นเอง ซึ่งโดยเนื้อแท้ของมันแล้วก็เป็นไปเพื่อสร้างสังคมและโลกที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม ที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม และที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โลกก็เป็นเช่นนี้เอง
ปรัชญาจีนเมื่อนำไปสนธิเข้ากับหลักคุณธรรมที่ค้ำจุนให้มนุษย์และโลกน่าอยู่ บวกกับความขยันขันแข็งด้วยการทำงานอย่างหนักของคนจีนจึงเป็นที่มาของการทำให้โลกทั้งโลกต้องตื่นตะลึงกับโอเพ่นเอไอระดับโลกที่ Deepseek ของจีน บรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นของขวัญชิ้นงามให้แก่มนุษยชาติ ทั่วโลก
มีคำถาม มีการตีความ และการประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของเอไอตัวใหม่เกิดขึ้นมากมาย ผู้รู้บางท่านชี้ว่าการมาถึงเอไอตัวใหม่ของจีนถือเป็นการปิดฉากการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลงแล้ว อย่างสมบูรณ์ และจีนเป็นฝ่ายมีชัยเหนือสหรัฐฯ ผมคิดว่าการมาถึงของเอไอตัวใหม่ของจีน มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงความสมดุลย์ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก นับจากนี้เป็นต้นไปพลังทางด้านเศรษฐกิจและพลังทางด้านการทหารของจีนจะค่อยๆก้าวขึ้นทัดเทียมกับสหรัฐฯทีละเล็ก ทีละน้อยจนทำให้ดุลย์อำนาจระหว่างสหรัฐกับจีน หรือระหว่างตะวันตกกับตะวันออกกลับเข้าสู่ความสมดุลย์ใหม่ ตามธรรมชาติอีกครั้ง และจะช่วยให้โลกโดยรวมมีความโน้มเอี่ยงที่จะเกิดสันติภาพได้มากขึ้น และลดความกระหายที่จะก่อสงครามโลกครั้งใหม่ของสหรัฐลงไปได้มาก
สิ่งที่น่าชื่นชม Deepseek คือการที่คนจีนใช้ปรัชญาจีนไปสร้างแรงบันดาลใจในการคิดและการทำงานอย่างหนัก ไปแปรเปลี่ยนปรัชญาที่เป็นสิ่ง นามธรรมให้กลายเป็นเอไอใหม่ที่เป็นรูปธรรม ไปออกแบบการทำงานให้เกิดระบบที่ยืดหยุ่น และพลิกแพลงไปเอาชนะขีดจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์และการคว่ำบาตรของสหรัฐได้สำเร็จ ที่สำคัญคือการใช้หลักคุณธรรมและจิตใจที่สูงส่งเป็นปรัชญา แนวคิดและแนวทางในการทำธุรกิจการค้าสมัยใหม่ได้ด้วย
Deepseek เป็นบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ ของจีนที่ใช้การลงทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ของอเมริกัน ใช้เวลาคิดค้นสั้นๆ ลดต้นทุนได้ระหว่าง 20 - 50 เท่า และใช้ชิปที่มีความสามารถต่ำในการพัฒนา กระบวนการทำงานของ Deepseek เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่สตาร์ทอัพทั่วโลกได้ แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือหัวใจสำคัญของปรัชญาในการทำธุรกิจของเขาคือไม่โลภ ไม่เอากำไรเป็นตัวตั้งตั้งแต่เริ่มต้น หากมีความโลภ เห็นแก่ได้ เห็นแก่เงินตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้วก็จะไม่มีวันสร้างสิ่งที่ดีกว่า Deepseek ขึ้นได้ในอนาคต
ผมมองว่าปรัชญาการสร้าง Deepseek ของคุณเหลียง เหวินเฟิง แตกต่างจากปรัชญาของบรรดานักคิดด้านเอไอส่วนใหญ่ในโลกนี้ คนทั่วไปมองดู Deepseek จากผลลัพธ์ของเอไอตัวใหม่ แต่กลับไม่ใคร่สนใจปรัชญาของคนคิดว่าเขามีปรัชญาอย่างไรในการคิดเอไอตัวใหม่นี้
เอไอตัวใหม่นี้มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การใช้ปรัชญาจีน จานมีคุณธรรมและเมตตาจิตของผู้ประกอบการ ความขยันขันแข็งและความพากเพียรพยายาม ทุน ส่วนสิ่งสุดท้ายคือความรู้และทักษะ การมีแต่ทุน ความรู้และทักษะจะสามารถสร้างเอไอแบบเก่าได้ แต่จะสร้างเอไอแบบใหม่ไม่ได้
ผมมองคุณเหลียง เหวินเฟิง ที่คิดเรื่องโอเพ่นเอไอนี้ว่าต้องเป็นคนที่มีใจกว้างดั่งมหาสมุทร เลยทีเดียว เขาต้องเป็นคนใจใหญ่มากๆ เป็นคนที่มีความคิดเป็นสาธารณะ และที่สำคัญคือต้องมีเมตตาจิตสูงมาก เพราะสิ่งที่เขาคิดได้แล้ว คนอื่นสามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย เอาความรู้ของเขาที่ทำไว้ให้ไปต่อยอดได้ฟรีๆ ระบบของเขาเรียกว่า “โอเพ่นซอส“ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่เปิดเผยโค้ดต้นฉบับให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างอิสระ ผู้ใช้สามารถดู แก้ไข ปรับปรุงและแจกจ่ายซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้ตามต้องการ ซึ่งแตกต่างจากซอฟต์แวร์ปิดที่เป็นของบริษัทใหญ่ๆที่ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขหรือเผยแพร่โค้ คนที่มีความคิดจิตใจแบบนี้ได้ ต้องมีความคิดและจิตสาธารณะที่ยิ่งใหญ่และดีงามมากดั่งมหาบุรุษก็ไม่ปาน
ปรัชญาของเจ้าของ Deepseek ได้เปิดเผยว่า เขาเริ่มต้นคิดเรื่องนี้โดยไม่เอาผลกำไรเป็นที่ตั้ง เหมือนกับที่คนทั่วไปคิด แต่เขาเริ่มต้นคิดจากนึกถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญ นักเรียน นักศึกษา ธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม ทั้งในโลกทุนนิยมและโลกสังคมนิยมที่สมควรจะได้รับประโยชน์จากผลงานของ เขา
สิ่งที่ Deepseek คิดและทำตั้งแต่เริ่มต้นจนกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก ทำให้เกิดเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเอไอเก่ากับโอเพ่นเอไอของเขา ในขณะที่เอไอทั่วไปของบริษัท ยักษ์ใหญ่ของโลกเป็น “นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี” แต่โอเพ่นเอไอของเขาเป็น “นวัตกรรมเพื่อสังคม” หรือ “นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสังคมหรือเพื่อสาธารณชน” ดังนั้นนวัตกรรมใหม่ของ Deepseek จึงถูกคิด ถูกสร้าง และถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไป หรือเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
เมื่อ Deepseek ใช้ต้นทุนในการลงทุนต่ำ บริษัทก็ทำธุรกิจโดยไม่คิดเอาเปรียบลูกค้า เพราะธุรกิจของเขาคิดค่าบริการต่ำกว่าบริษัทเอไอทั่วไปอย่างมากมาย
โอเพ่นซอร์สได้รับความนิยมในหมู่นักวิจัยรุ่นใหม่ของจีน และนักวิจัยจากทั่วโลก เพราะช่วยให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถต่อยอดเทคโนโลยีได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์
คนที่มีความคิดและจิตใจสาธารณะแบบเหลียง เหวินเฟิง เจ้าของ Deepseek มีอยู่เป็นจำนวนไม่ใช่น้อยในโลกใบนี้ตลอดช่วง 300 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป รัสเซีย จีน และจากทุกทวีป พวกเขามีทั้งที่เป็นนักเรียน นักศึกษา นักคิด ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน กวี นักประพันธ์ คนงาน เกษตรกร รัชกาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง และเจ้าของธุรกิจการค้า บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักสังคมนิยมอุดมคติ บ้างก็เป็นนักปฏิรูปและนักปฏิวัติ ความคิดของกลุ่มคนนี้เกิดจากการมองเห็นสิ่งที่เลวร้ายของโลกทุนนิยม ระบบที่ทำให้มนุษย์มีความไม่เท่าเทียมกัน พวกเขาจึงฝันถึงโลก และสังคมที่น่าอยู่ เช่นสังคมการเกษตรที่มนุษย์พึ่งพาตนเองได้ โลกที่มนุษย์อยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง และมีความเท่าเทียมกัน แต่ความฝันที่เป็นอุดมคตินี้ แม้ไม่เคยประสบความสำเร็จในโลกที่เป็นจริง แต่คนกลุ่มที่มีความคิดแบบนี้ก็ยังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ความฝันของพวกเขาปรากฏเป็นจริงขึ้นในโลกมนุษย์ใบนี้
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มีประเทศทางยุโรปตอนเหนือหลายประเทศได้พยามทดลองผสมผสาน ปรัชญา แนวคิดและทฤษฎีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกับสังคมนิยมเข้าด้วยกัน เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์และเยอรมัน เป็นต้น ความพยายามของผู้คนที่มีความฝันถึงโลกและสังคมที่สวยงาม ทั้งที่เป็นนักสังคมนิยมและไม่ใช่นักสังคมนิยม ช่วยให้โลกและสังคมสวยงามขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย
ประเทศเยอรมันเป็นประเทศหนึ่งที่กล้าริเริ่มจัดความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกับสังคมนิยม โดประธานาธิบดี Konrad Adenauer ของพรรคคริสเตียนเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมและไม่ใช่นักสังคมนิยม ที่เรียกกันว่า “ระบบเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม“ หรือ “ระบบทุนนิยมเพื่อสังคม”
ระบบแบบนี้รับเอาจุดแข็งของทุนนิยมในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตกับจุดแข็งของระบบสังคมนิยมคือเรื่องของสวัสดิการ เช่น การศึกษา และการประกันสังคมมาผสมผสานกัน ส่วนในทางเศรษฐกิจส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและมีความเข้มแข็งจนกลายเป็นเสาหลักของประเทศเยอรมันไป ผลที่ตามมาคือคนเยอรมันได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั้งประเทศ นอกจากนี้คนเยอรมันได้รับหลักประกันทางด้านสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก ที่สำคัญคือระบบนี้ช่วยแก้จุดอ่อนของทุนนิยม แบบดั้งเดิมได้สำเร็จ คือ สังคมเยอรมันมีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น
ประเทศจีนในยุคเติ้ง เสี่ยวผิงเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ได้ใช้ความกล้าหาญในการนำเอา ระบบทุนนิยมเข้ามาผสมผสานกับระบบสังคมนิยมของจีน ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์อย่างรวดเร็ว ระบบธุรกิจแบบทุนนิยมของจีน เจริญรุ่งเรืองมาก แต่ทุนนิยมของจีนแตกต่างจากทุนนิยมทั่วไป เช่นในสหรัฐอเมริกา กล่าวคือทุนนิยมของจีนเน้นความรักชาติ รักประชาชน การทำธุรกิจการค้าต้องยึดมั่น คุณธรรม การทำธุรกิจจะถือแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไม่ได้ ในขณะเดียวกัน นโยบายด้านสังคมนิยมของจีนคือเน้นเรื่องการศึกษา ที่เน้นเรื่องคุณธรรม ความกตัญญู ความรักชาติ ควบคู่ไปกับความรู้สมัยใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์อย่างครอบคลุมและทั่วถึงคนจีนทุกคน การสาธารณสุขที่ทั่วถึง และการขจัดความยากจนข้นแค้นในหมู่คนจนชาวจีนจนหมดสิ้นไปจากประเทศจีนได้สำเร็จเป็นประเทศแรกและประเทศเดียว ของโลกใบนี้
ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ของจีนที่เอื้ออำนวยให้สร้างธุรกิจที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของมนุษยชาติได้ แทนที่จะเป็นธุรกิจเพื่อผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว ธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่เพียง ต่อสู้ดิ้นรนไห้ตัวมันเองอยู่รอดได้เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดอีกด้านหนึ่งของมัน คือการมานะพยายามสร้างความสมดุลย์ใหม่ให้แก่โลกใบนี้ทีละน้อย ๆ โลกที่ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้นและที่สวยงามมากขึ้นกว่าเดิมอีกเล็กน้อย
บทความโดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา