xs
xsm
sm
md
lg

รีไซเคิลยาก-มลพิษตกค้าง !! ชี้เหตุ อย. เร่งใช้ “ขวดน้ำไร้ฉลาก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รู้หรือไม่ ! ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มยอดนิยม ที่วางขายตามร้านค้าในปัจจุบัน เป็นขวดพลาสติกแบบใส เรียกว่าขวดเพ็ท (PET) สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% (แต่ส่วนมากใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง) นั่นทำให้คนจำนวนหนึ่ง (ส่วนน้อย) เก็บรวบรวมเอาไว้ขายให้ซาเล้ง หรือร้านรับซื้อขยะ

แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ! ขั้นต่อไปของการรีไซเคิลขวดเพ็ท นอกจากล้างขวดให้สะอาด ตากให้แห้ง ยังต้องคัดแยกฝาขวด และแกะฉลากพลาสติกบนขวดแยกออก เพราะใช้พลาสติกคนละประเภท


โดยเฉพาะพลาสติกฉลากขวดน้ำ หรือ Water Bottle Label มักเป็นคำถามยอดฮิตว่า สามารถทำการรีไซเคิลได้หรือไม่ ?


เมื่อต้นเดือนม.ค.68 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดคุณภาพมาตรฐานและหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการในการกำกับดูแลอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อเสนอแนะการออกประกาศฯ ต่อคณะกรรมการอาหารโดยมีนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานคณะอนุกรรมการ และเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (น้ำขวด)เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล

นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาร่างประกาศฯปรับปรุงมาตรฐานของน้ำดื่มบรรจุขวดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรฐานเกี่ยวกับสารปนเปื้อนและประเภทของน้ำขวด พร้อมทั้งปรับแก้ไขข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากให้สามารถแสดงข้อมูลเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ชื่ออาหาร หรือตรา หรือเครื่องหมายการค้า รวมทั้งเลขสารบบอาหาร ปริมาณอาหารและวันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน แก่ผู้บริโภคบนภาชนะบรรจุด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่นการปั๊มนูน หรือการแกะสลัก แทนการพิมพ์ด้วยหมึก

และให้แสดงข้อมูลอื่นผ่าน “ฉลากดิจิทัล” เช่น รหัสคิวอาร์บนฝา เพื่อลดปัญหาขยะจากวัสดุทำฉลาก ลดความยุ่งยากของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ลดต้นทุนราคาเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ตลอดจนลดโอกาสการปนเปื้อนของหมึกและกาวในเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยการปรับแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากนี้จะครอบคลุมถึงน้ำแร่ธรรมชาติและน้ำโซดาด้วย

“การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมลดปัญหาขยะพลาสติกและส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Guidelines) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” นพ.สุรโชคกล่าว


ฉลากบนขวดน้ำดื่ม รีไซเคิลยาก อันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม

ด้านโครงการวน โดยบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)ให้คำตอบผ่านเพจเฟซบุ๊ก Won ว่า

📍 ฉลากขวดน้ำ ส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติกประเภทโพลีไวนิลคลอไรด์หรือ PVC วัสดุแบบเดียวกับท่อ PVC ที่เรารู้จักนั่นแหละ แต่การขึ้นรูปต่างกันฉลากขวดน้ำเลยออกมาเป็นแผ่นนิ่มๆ บางๆ ที่เขานิยมใช้ PVC ก็เพราะว่ามีต้นทุนราคาที่ถูกกว่าการใช้พลาสติกประเภทโพลีเอทิลีนหรือ PE (เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว พลาสติกหุ้มขวดน้ำแบบแพค)

❌ แต่รู้หรือไม่ ว่า PVC นั้นจัดการยากมากจึงไม่นิยมนำมารีไซเคิล เพราะสารประกอบใน PVC ก่อให้เกิดมลพิษเมื่อได้รับความร้อนและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้น PVC ต่างๆ จึงต้องได้รับการจัดการที่เหมาะสม ไม่สามารถนำมารีไซเคิลรวมกับพลาสติกประเภทอื่นได้ ❌

👉👉 ดังนั้นฉลากพันรอบขวดน้ำ ไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็แล้วแต่ ทางโครงการวนไม่รับมารีไซเคิล อย่าลืมคัดแยกก่อนนำมาส่ง ♻♻




กำลังโหลดความคิดเห็น