อย.ยกร่างประกาศฯ ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพิ่มหลักเกณฑ์ “ขวดน้ำดื่มใสไร้ฉลากพลาสติก” ด้วยการแสดง “ฉลากดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมคนไทยนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลง่ายขึ้น และลดปัญหาสารปนเปื้อนจากขยะฉลากพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม
รู้หรือไม่ ! ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มยอดนิยม ที่วางขายตามร้านค้า ณ ปัจจุบัน เป็นพลาสติกแบบใส เรียกว่าขวดเพ็ท (PET) ซึ่งหลายคนทราบดีว่า ขวด PET สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง (แต่ส่วนมากใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง) รีไซเคิลได้ 100% คนส่วนหนึ่งจึงเก็บเอาไว้ขายให้ซาเล้ง หรือร้านรับซื้อขยะ
แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือ ขั้นตอนของการรีไซเคิลขวดเพ็ท นอกจากล้างขวดให้สะอาด ตากให้แห้ง ยังต้องคัดแยกฝาขวด แกะฉลากพลาสติกบนขวดแยกออก เพราะเป็นพลาสติกคนละประเภท
“ฉลากดิจิทัล” หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน-ก้าวสู่มาตรฐานสากล
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดคุณภาพมาตรฐานและหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการในการกำกับดูแลอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อเสนอแนะการออกประกาศฯ ต่อคณะกรรมการอาหารโดยมีนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานคณะอนุกรรมการ และเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (น้ำขวด)เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาร่างประกาศฯปรับปรุงมาตรฐานของน้ำดื่มบรรจุขวดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรฐานเกี่ยวกับสารปนเปื้อนและประเภทของน้ำขวด พร้อมทั้งปรับแก้ไขข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากให้สามารถแสดงข้อมูลเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ชื่ออาหาร หรือตรา หรือเครื่องหมายการค้า รวมทั้งเลขสารบบอาหาร ปริมาณอาหารและวันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน แก่ผู้บริโภคบนภาชนะบรรจุด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่นการปั๊มนูน หรือการแกะสลัก แทนการพิมพ์ด้วยหมึก
และให้แสดงข้อมูลอื่นผ่าน “ฉลากดิจิทัล” เช่น รหัสคิวอาร์บนฝา เพื่อลดปัญหาขยะจากวัสดุทำฉลาก ลดความยุ่งยากของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ลดต้นทุนราคาเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ตลอดจนลดโอกาสการปนเปื้อนของหมึกและกาวในเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยการปรับแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากนี้จะครอบคลุมถึงน้ำแร่ธรรมชาติและน้ำโซดาด้วย
การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมลดปัญหาขยะพลาสติกและส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Guidelines) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
กล่าวได้ว่าเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ ตามโรดแมป การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 เป้าหมายระยะที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 (ค.ศ.2027) โดยมีมาตรการจัดการขยะพลาสติก 3 ด้านด้วยกัน คือ
1.มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด
2.มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค
3.มาตรการจัดการขยะพลาสติก หลังการบริโภค
ทางออกดีที่สุด “ขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง”
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึง “ปัญหาขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโลกและระดับภูมิภาค รวมทั้งของประเทศไทย ว่าเราเคยถูกจัดอับดับหนึ่งในสิบของประเทศต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะในทะเล โดยประเทศไทยมีพลาสติกใช้แล้วประมาณ 2 ล้านตันต่อปี หรือสัดส่วนของพลาสติกใช้แล้วประมาณ 20 % ของขยะทั้งหมด แต่เราจัดการได้อย่างถูกต้องโดยการสามารถนำมารีไซเคิลได้เพียง 5 แสนตัน หรือคิดเป็น 25% ส่วนอีก 75% ใช้การฝังกลบ เผา หรือจัดการไม่ถูกต้อง แล้วอาจหลุดลอดลงคลอง แม่น้ำและออกสู่ทะเลต่อไป พลาสติกจากชิ้นใหญ่ถูกย่อยเป็นชิ้นเล็กและอยู่ในทะเลกว่าสี่ร้อยปี”
“แต่ในชีวิตประจำวัน เราเลิกใช้พลาสติกได้ไหม ? ตอบได้เลยว่าไม่ได้ เราจำเป็นต้องใช้พลาสติก แต่ก็ต้องสร้างระบบความคิดที่ว่า เราจะใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร เริ่มต้นจากพฤติกรรมการบริโภค สำรวจตัวเองว่าพลาสติกแบบไหนที่จำเป็นต้องใช้งาน ลดการใช้งานพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวให้ได้มากที่สุด และในเรื่องการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ระบบจัดเก็บและระบบรวบรวมที่เป็นมาตรฐาน ทำอย่างไรให้พลาสติกสะอาดกลับเข้าสู่ระบบได้มากที่สุด ส่วนพลาสติกสกปรกก็สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานได้ เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่ประยุกต์ใช้กับการใช้งานและการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน”
คนไทย ใช้ขวดน้ำพลาสติก มากเป็นที่ 2
ปีที่ผ่านมา กรมอนามัยสำรวจ "อนามัยโพล" หัวข้อ "พฤติกรรมการใช้พลาสติก" เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 402 คน สรุปผลดังนี้
ใน 1 วัน คุณใช้พลาสติกชนิดใดบ้าง ? พบว่า ใช้พลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว มากที่สุด ร้อยละ 72.64 รองลงมาคือขวดน้ำพลาสติก ร้อยละ 57.71 และหลอดพลาสติก ร้อยละ 43.53 ตามลำดับ ในขณะที่มีผู้ที่ตอบว่าใน 1 วัน ไม่ได้ใช้พลาสติกประเภทใดเลย เพียงร้อยละ 4.23
ปริมาณพลาสติกที่ใช้ใน 1 วัน ? พบว่า ส่วนใหญ่ที่ 1-2 ชิ้น/วัน ร้อยละ 49.32 รองลงมาคือ 3-4 ชิ้น/วัน ร้อยละ 26.83 และ 5-6 ชิ้น/วัน ร้อยละ 17.07 และ 7 ชิ้น/วันขึ้นไป ร้อยละ 6.77 ตามลำดับ
รับภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวจากแหล่งใดบ้าง? ส่วนใหญ่ ตอบว่ารับภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว จากร้านสะดวกซื้อมากที่สุด ร้อยละ 42.79 รองลงมาคือ ร้านอาหาร ร้อยละ 42.04 ร้านกาแฟ และตลาด/รถพุ่มพวง มากเท่ากันที่ร้อยละ 33.83 ตามลำดับ ในขณะที่รับพลาสติกจากห้างสรรพสินค้า/ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพียงร้อยละ 17.66
เมื่อใช้พลาสติกเสร็จแล้ว คุณจัดการกับพลาสติกเหล่านั้นอย่างไร? ส่วนใหญ่ ตอบว่าเมื่อใช้พลาสติกเสร็จแล้ว มีการจัดการพลาสติก โดยเก็บไว้ใช้/ขาย มากที่สุด ร้อยละ 63.43 รองลงมาคือ แยกทิ้งในถังที่จัดไว้ให้ ร้อยละ 39.30 ตามลำดับ ในขณะที่พบมีผู้ตอบว่าทิ้งรวมกับถังขยะทั่วไป ร้อยละ 28.86 และกำจัดด้วยการเผาบริเวณบ้าน ร้อยละ 3.73
คุณช่วยลดขยะพลาสติกในแต่ละวันอย่างไรบ้าง? ส่วนใหญ่ ตอบว่าได้มีส่วนช่วยลดขยะพลาสติก โดยการใช้ถุงผ้าใส่ของเมื่อไปตลาด ร้านค้า มากที่สุด ร้อยละ 66.92 รองลงมาคือ ใช้แก้วน้ำ ภาชนะส่วนตัวแทนการใช้พลาสติก ร้อยละ 64.68 และคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 60.20 ตามลำดับ
“พลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกเดือด" จริงหรือไม่ ? พบส่วนใหญ่ ตอบว่าพลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกเดือด จริง ร้อยละ 97.26 ขณะที่มีผู้คิดว่า “ไม่จริง” เพียงร้อยละ 2.74