xs
xsm
sm
md
lg

สหราชอาณาจักร จัดสรรเงินทุน 337 ล้านปอนด์ ผ่านกองทุน ISPF หนุนไทยพัฒนาวิทยาศาสตร์ - นวัตกรรม รับมือความท้าทายระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โลกกำลังเผชิญความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความเป็นอยู่ของมนุษย์ ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารจากการเติบโตของประชากรและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงวิกฤตด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การระบาดของโรคติดต่อ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกัน และต้องการความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อแสวงหาทางออกที่ยั่งยืน เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ สหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ซึ่งเป็นกรอบการทำงานระดับโลกเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคนภายในปี 2573

วิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะนำไปสู่การค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาการผลิตอาหารเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร หรือ การคิดค้นยา และวัคซีนใหม่ๆ

สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ห้าของโลกในดัชนีนวัตกรรมโลก(Global Innovation Index) ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักรครอบคลุมหลากหลายสาขา ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีควอนตัม สหราชอาณาจักรแม้จะมีประชากรเพียง 0.9% ของโลก แต่กลับผลิตงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดถึง 14% ของทั่วโลก ซึ่งทำให้สหราชอาณาจักรครองอันดับหนึ่งในเรื่องของผลกระทบจากงานวิจัยในกลุ่มประเทศ G7 ตั้งแต่ปี 2007 นอกจากนี้ 38% ของผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่เคยศึกษาต่างประเทศทั้งหมดเคยศึกษาที่สหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักรมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดมายาวนานในด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ความร่วมมือนี้จะช่วยผลักดันนวัตกรรมโลก ด้วยความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักร ผนวกกับศักยภาพการวิจัยที่กำลังเติบโตของไทย และตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน

ประเทศไทยก็กำลังเติบโตเป็นกำลังสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์โลก ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยตีพิมพ์งานวิจัยมากถึง 28,673 ฉบับ ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่มีผลงานวิจัยสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 94% ของผลงานวิจัยทั้งหมดในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์จากประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ. 2565
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตนี้คือเงินทุนสนับสนุนวิจัย เช่น กองทุนนิวตัน (Newton Fund) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม นอกจากนี้แล้วยังมีบริติช เคานซิล เป็นอีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัยโดยทางองค์กรได้มีผลงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพสูงในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ

นายแดนนี ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย
นายแดนนี ไวท์เฮด ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า “ความท้าทายที่โลกเผชิญอยู่นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะแก้ไขได้เพียงลำพัง ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในรับมือกับปัญหาโลก บริติช เคานซิล จึงมุ่งเน้นการเชื่อมโยงผู้คน โดยการทำงานร่วมกับประเทศไทยเปิดโอกาสให้สหราชอาณาจักรได้เรียนรู้มุมมอง และความเชี่ยวชาญใหม่ๆ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยและนักวิชาการที่จะช่วยสรรค์สร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์”

“เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ สหราชอาณาจักรได้จัดสรรเงินทุน 337 ล้านปอนด์ผ่านกองทุนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (ISPF) โดย 2.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 108 ล้านบาท) จะนำมาใช้ในโครงการร่วมกับบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนนักวิจัย ส่งเสริมนวัตกรรม และพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างสองประเทศ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาท้าทายสำคัญระดับโลกในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์”

นายแดนนี่กล่าวเสริมว่า นักศึกษาไทยมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในการศึกษา และได้รับวุฒิการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ผ่านโครงการความร่วมมือทางการศึกษากับมหาวิทยาลัยไทยในหลากหลายสาขา อีกทั้งยังแสดงความภาคภูมิใจที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ศาสตราจารย์เชิดชัย โพธิ์ศรี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม
ศาสตราจารย์เชิดชัย โพธิ์ศรี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนจากทั้งกองทุน ISPF และกองทุนนิวตัน เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างสหราชอาณาจักรและไทย โดยศาสตราจารย์เชิดชัยเชิดชัยได้ดำเนินงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาทำนาข้าวในจังหวัดนครพนม โดยการพัฒนาเทคนิคใหม่ที่ใช้แบคทีเรียในดินพื้นเมือง เพื่อปรับปรุงสุขภาพดิน เพิ่มผลผลิต และลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี งานวิจัยนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งในจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญแต่ต้องเผชิญกับภัยแล้งและดินเสื่อมโทรม งานวิจัยนี้ไม่ได้แค่สร้างผลลัพธ์ที่ดี แต่ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่ม Young Smart Farmer ให้สามารถนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารพร้อมกับเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์เชิดชัย กล่าวว่า "การทำงานร่วมกับสหราชอาณาจักรเปิดโอกาสให้นักวิจัยของเราได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์อันล้ำค่า ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือนี้ยังมีประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้พวกเขาสู่เส้นทางอาชีพที่ประสบความสำเร็จและการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องในโลกยุคโลกาภิวัตน์"


กำลังโหลดความคิดเห็น