xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มทิสโก้ เดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืน ก้าวผ่านความท้าทายในปี 2568

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 (จากซ้าย) นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มทิสโก้  ,  นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มทิสโก้ และ
กลุ่มทิสโก้ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Focus) พร้อมจัดทัพรับความท้าทายปี 2568 ด้วยการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งด้านคุณภาพสินเชื่อ การบริหารจัดการหนี้และดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ไปจนถึงการยกระดับบริการที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวางแผนทางการเงินที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เพื่อให้ลูกค้ามี Wealth Span ที่สอดคล้องกับ Health Span อย่างยั่งยืน ขณะที่ผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิ 6,901 ล้านบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มทิสโก้
เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้ให้ความสำคัญกับการเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจจากลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมเติบโตเคียงข้างกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ในปี 2568 กลุ่มทิสโก้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3% จากแรงสนับสนุนด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าวยังคงเปราะบางและเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อาทิ นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และคุณภาพลูกหนี้ที่ถดถอย แม้ว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและมาตรการแก้หนี้ "คุณสู้ เราช่วย" จะมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แต่ยังไม่สามารถช่วยสร้างการเติบโตที่มั่นคงในวงกว้าง

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้บริบทของการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทายสูงและต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในทุกมิติ ดังนั้น ในปี 2568 กลุ่มทิสโก้จะเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Focus) ได้แก่ 1) Financial Solution for Better Living สร้างโซลูชันทางการเงินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกค้า สังคม และเศรษฐกิจ 2) Corporate Governance for Sustainable Growth กำกับดูแลกิจการเพื่อหารเติบโตที่ยั่งยืน 3) Mobilization of Green Financing สร้างโอกาสในเศรษฐกิจสีเขียว เพื่ออนาคตที่สมดุลและยั่งยืน 4) Social Well-Being with Financial Freedom สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่สังคม โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่

1.กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ

ธุรกิจสินเชื่อรายย่อย มีสัดส่วนราว 70% ของสินเชื่อรวม โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง รถจักรยานยนต์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภท ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ในปีนี้จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานของสาขา โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพทางเครดิต และให้ความช่วยเหลือดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดกรองลูกค้า พร้อมขยายบริการสินเชื่อบ้านและที่ดินแลกเงินไปยังสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ เพื่อตอบสนองความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้บริการเฉพาะสาขาธนาคาร

ธุรกิจสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ (Corporate Banking) จะมุ่งเน้นเติบโตในกลุ่มที่ทิสโก้มีความชำนาญ รวมถึงขยายไปยังกลุ่มธุรกิจกระแสใหม่ เช่น พลังงานสะอาด เป็นต้น ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่นเดียวกับ ธุรกิจสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) จะขยายวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (Floor Plan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้า พร้อมมองหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ

“ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน สิ่งที่เราทำได้คือการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและพิจารณาความเสี่ยงอย่างเหมาะสม พร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ และการช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมด้วยขยายบริการไปยังสินเชื่อบ้านและที่ดินแลกเงิน โดยใช้บ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน เพื่อตอบสนองความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเดินหน้าหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ จากกลุ่มธุรกิจที่ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตสูง” นายศักดิ์ชัย กล่าว

2. การเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

กลุุ่มทิสโก้ ยังคงเดินหน้ายกระดับการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวางโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร ให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูล (Data Analytics) ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เข้าใจพฤติกรรมและโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงสร้างนวัตกรรมที่จะยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตรงจุด สะดวก เข้าใจง่าย และครบวงจร

นอกจากนี้ จะเร่งภารกิจ Culture of Innovation โดยพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเงิน การลงทุน และก้าวทันเทคโนโลยี นำไปสู่เป้าหมายและผลสัมฤทธ์ที่เกิดขึ้นจริงและวัดผลได้ นั่นคือ การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมศักยภาพการให้บริการได้ดียิ่งขึ้น

3.กลยุทธ์เพิ่มฐานลูกค้าและการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม

นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ธุรกิจธนบดีและตลาดทุน จะมุ่งเน้นการให้คำปรึกษาทางการเงินแบบองค์รวม (Holistic Financial Advisory) ครอบคลุมทั้งบริการที่ปรึกษาการเงิน การลงทุน ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเหมาะสมกับความต้องการตลอดช่วงชีวิตของลูกค้า

ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มุ่งเน้นยกระดับบริการการวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยจับมือกับพันธมิตรชั้นนำ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 14 แห่ง และบริษัทประกัน 11 แห่ง เพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายโดยไม่จำกัดค่าย ควบคู่กับการให้คำแนะนำที่ผสานระหว่างที่ปรึกษาทางการเงินและโปรแกรมวางแผนการเงิน TISCO My Goal

ธุรกิจบริหารจัดการกองทุน (Asset Management) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอแก่ลูกค้า พร้อมขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และ Agent Network รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการไปในกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

ธุรกิจหลักทรัพย์ (Securities Brokerage) เพิ่มโอกาสการลงทุนที่ง่ายและสะดวกให้กับลูกค้า พร้อมกระจายรายได้จากการให้บริการใหม่ ๆ โดยนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ ร่วมกับการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ลูกค้า

ธุรกิจประกันภัย (Bancassurance) มุ่งพัฒนาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในเชิงลึก ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทพันธมิตรประกันภัยชั้นนำ โดยที่บริษัทจะคำนึงถึงความเหมาะสมกับความเสี่ยงและสถานะทางการเงินของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด สามารถช่วยลูกค้าบริหารความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

ด้านผลการดำเนินงานปี 2567 นายชาตรี จันทรงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยงกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ในปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 6,901 ล้านบาท อ่อนตัวลง 5.5% จากปีก่อน เนื่องจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss - ECL) ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ขณะที่รายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.3% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากปีก่อนหน้า จากการบริหารผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ แม้ในภาวะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 30% ก็ตาม ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 8.4% จากการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน การขยายตัวของธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยเฉพาะธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรายได้ธุรกิจวาณิชธนกิจจากการเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO

อย่างไรก็ดี ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลง ผลจากรายได้นายหน้าประกันภัยที่ลดลงตามยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ อีกทั้ง ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์อ่อนตัวลง จากปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ซบเซา ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 0.9% จากการลดลงของค่าใช้จ่ายพนักงาน ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE)
งวดปี 2567 อยู่ที่ 16.1%

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีจำนวน 232,200 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ซึ่งเป็นไปตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวลงกว่า 27% ในขณะที่บริษัทยังคงนโยบายการขยายสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อยที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ พร้อมด้วยเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 2.35% ของสินเชื่อรวม ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมุ่งเน้นการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ด้วยระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 155.3%

ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.5% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.7% และ 1.8% ตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น