xs
xsm
sm
md
lg

“วีระศักดิ์” ชี้แนวทาง 30×30 ความหวังของมนุษยชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘วีระศักดิ์’ เผยแนวทาง 30×30 เป็นความหวังของมนุษยชาติ จะรอไม่ได้อีกแล้ว! หลังทั่วโลกต้องร่วมกันกำหนดพื้นที่พื้นดินและมหาสมุทรร้อยละ 30 ของโลกให้เป็นพื้นที่คุ้มครองภายในปี 2030 ก่อนที่วงจรทางชีววิทยาทางธรรมชาติจะขาดสะบั้นลง

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ (Breathe Bangkok) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงอีกประเด็นสำคัญทางระบบนิเวศของโลก หลังได้รับเชิญให้ไปร่วมวงสนทนาที่ สำนักงาน IUCN (เอเชีย) เมื่อวันที่7 ม.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เคลื่อนไหวในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยจำเป็นที่จะทำให้เกิดพื้นที่ 30×30 เกิดขึ้นให้ได้ทันเวลา ก่อนที่วงจรทางชีววิทยาทางธรรมชาติจะขาดสะบั้นลง

"หากยังไม่มีการปกป้องวงจรทางชีววิทยาในธรรมชาติอย่างจริงจัง จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพันธุกรรมในพืช ในสัตว์ ในแมลง ฯลฯ ซึ่งห่วงโซ่สารพัดที่ควบคุมกันและกันในธรรมชาติเสียสมดุลอย่างร้ายแรงได้"

เนื่องจากหลายความโยงใยในนิเวศนั้น มนุษย์ก็ยังแยกแยะได้ไม่ครบ การสูญพันธุ์ไปของพืช หรือสัตว์ใด ในพื้นที่ใด อาจหมายถึงการล้มลงอย่างระเนระนาดของระบบใดหรือหลายระบบแทบจะในทันทีได้ เช่นถ้าผึ้งหายไป การผสมเกสรติดดอกออกผลของพืชอาหารของโลกก็จะพังทลายตามมาเป็นวงกว้าง

นายวีระศักดิ์ ย้ำว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญในการส่งสารถึงทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญอย่างปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่าและการเผา ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ หากเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟป่าได้ ความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมาอาจสูญเปล่า

แนวทาง 30×30 คืออะไร?

จากรายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่าทั่วโลกปกป้องพื้นที่ทางบกและน่านน้ำในประเทศประมาณ 17% และพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งน้อยกว่า 8%

ดังนั้นคำมั่นสัญญา 30×30 จึงมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการปกป้องพื้นที่ทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น เช่น สวนสาธารณะ ทะเล ป่าไม้ และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า (wilderness) ให้ได้เพิ่มถึง 30% ของโลก ทั้งบนบก ในทะเล ให้ได้ก่อนถึงปี 2030

ข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) พื้นที่คุ้มครอง หมายถึง พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนของพื้นดิน หรือมหาสมุทรที่จะได้รับการอนุรักษ์ในระยะยาว เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ ผลประโยชน์ทางธรรมชาติที่ได้รับ และคุณค่าทางวัฒนธรรม




การเสวนาครั้งนี้ได้หารือกันในหลายประเด็นสำคัญ ดังนี้

• ติดตามความคืบหน้าของโครงการ Act30 และเครือข่าย 30x30 ประเทศไทย: ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นถึงความสำเร็จต่างๆ ที่เครือข่ายและพันธมิตรได้ร่วมกันผลักดัน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์พื้นที่ 30%

• ร่วมมือกันหาวิธีอนุรักษ์พื้นที่อื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ (OECMs): การเสวนาครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ IUCN Asia, WWF ประเทศไทย, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย, มูลนิธิโลกสีเขียว และพันธมิตรอื่นๆ ในไทย ได้ร่วมมือกับเครือข่ายฯ เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ นอกเหนือจากอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสำคัญมากต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

• หาแหล่งเงินทุนสนับสนุนการอนุรักษ์: ผู้เข้าร่วมได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องแหล่งทุนใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและยังได้ต้อนรับการเป็นพันธมิตรกับ ECCA Family Foundation อีกด้วย

• สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์: ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารเรื่อง 30x30 และความหลากหลายทางชีวภาพให้เข้าใจง่าย ตรงจุด เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เยาวชน และชุมชนท้องถิ่น โดยควรร่วมร่วมมือกับ Influencer โรงเรียน มหาวิทยาลัย และเอกชนต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างความตระหนักรู้และลงมือทำจริง

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือและคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ และเป็นหน้าที่ของทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น