xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มไทยรุ่งเรือง รณรงค์ต่อเนื่อง หนุนชาวไร่ "ตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้" ด้วย GETS Farming

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การประชุม GETS Farming
กลุ่มไทยรุ่งเรือง หรือ TRR Group ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย เดินหน้าผลักดันความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ผ่านการรณรงค์ "ตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้" ร่วมกับภาคเกษตรกร ชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเผาอ้อย และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาตัดอ้อยสด ซึ่งเป็นแนวทางการเพาะปลูกที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานภายใต้โครงการ GETS Farming ที่เป็นเสมือนโครงการที่มีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยบรรลุเป้าหมาย

นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า กลุ่มไทยรุ่งเรืองให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ด้วยแนวคิดที่ว่า "สิ่งแวดล้อมที่ดีจะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ดี" โครงการ GETS Farming จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพ และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้นการตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดิน รักษาตออ้อยให้สามารถให้ผลผลิตได้นาน และการใช้ปุ๋ยและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตมีกำไรมากขึ้น โดยช่วยลดต้นทุนลงได้ 10-20%

 นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มไทยรุ่งเรือง  และนางสาวณิชา อัษฎาธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำตาลและอาหาร กลุ่มไทยรุ่งเรือง
"ปัจจุบันโครงการ GETS Farming มีสมาชิกโครงการเข้าร่วมมากกว่า 600 คน และมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยกว่า 42,000 ไร่ โดยเป็นสมาชิกจากเกษตรกรไร่อ้อยจาก 3 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากเกษตรกร และสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างน่าชื่นชม โดยมีผลลัพธ์ที่โดดเด่น คือ เกษตรกรชาวไร่อ้อยในโครงการมีผลผลิตอ้อยสดคุณภาพสูง กว่า 95% ส่งอ้อยเข้าหีบเป็นอ้อยสด แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดการเผาอ้อย และหันมาใช้การตัดอ้อยสด ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"

กลุ่มไทยรุ่งเรืองยังให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่เทคนิคการตัดอ้อยสด การจัดการดินและน้ำ การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการควบคุมศัตรูพืช รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน โดยโครงการ GETS Farming มี 4 แนวทางสำคัญ ที่เป็นกรอบความคิดในการปฏิบัติเพื่อผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน คือ 1. Green ลดปริมาณการใช้สารเคมีในแปลงอ้อย ตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และลดการระเหยของน้ำในดิน 2. Efficiency เพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการไร่อ้อย ไว้ตออ้อยได้มากกว่า 4 ปี ประหยัดต้นทุน เน้นการลงทุนต่ำ แต่ผลผลิตงอกงาม 3. Technology นําเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เหมาะสมมาใช้ในโครงการ เพื่อวัดผล จัดเก็บข้อมูลการเพาะปลูก เพื่อความแม่นยำในการเพิ่มคุณภาพอ้อยอย่างสูงสุด 4. Sustainable สร้างความยั่งยืนทางภูมิศาสตร์ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ รักษาอินทรียวัตถุในดินได้อย่างยั่งยืน สร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง

แอปพลิเคชัน TRR Green
นางสาวณิชา อัษฎาธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำตาลและอาหาร กลุ่มไทยรุ่งเรือง กล่าวเสริมว่า การตัดอ้อยสด เป็นหัวใจสำคัญของการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของเกษตรกร" โครงการ GETS Farming มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรแบบเดิม ๆ ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการ GETS Farming ไม่เพียงแต่ให้ความรู้เรื่องการตัดอ้อยสดเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการจัดการดิน การใช้ปุ๋ย การให้น้ำ และการควบคุมศัตรูพืช แบบองค์รวม เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุน และมีรายได้ที่มั่นคง โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“ในปีนี้กลุ่มไทยรุ่งเรืองยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการ GETS Farming อย่างต่อเนื่อง โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชัน TRR Green ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะ เพื่อให้ชาวไร่ในสังกัดได้ใช้งานในการจดบันทึกข้อมูล รับข้อมูลข่าวสาร ติดต่อเจ้าหน้าที่ และรับบริการต่าง ๆ จากทางกลุ่มไทยรุ่งเรือง แอปพลิเคชัน TRR Green มีฟังก์ชันที่ให้บริการข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำไร่อ้อย เช่น พยากรณ์อากาศ รายงานปริมาณน้ำฝน และแจ้งคิวอ้อย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบรายแปลง และมีฟังก์ชันบันทึกกิจกรรมการผลิตที่ให้ชาวไร่บันทึกข้อมูลต้นทุนการทำไร่ของตนเองและนำมาวิเคราะห์ร่วมกับรายได้จากอ้อย สรุปและรายงานแสดงต้นทุน รายได้ และผลกำไรอย่างง่าย จึงสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการปลูกและจัดการแปลงอ้อยได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีฟังก์ชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานและติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอ้อย เช่น การแจ้งรายได้จากการส่งอ้อย (e-bill) รายชื่อผู้รับเหมาที่ทำกิจกรรมในไร่ที่ได้รับการรับรองจากทางโครงการ พิกัดแปลงอ้อย และข้อมูลผลผลิตย้อนหลัง เป็นต้น แอปพลิเคชัน TRR Green พร้อมเปิดให้ใช้งานในฤดูหีบอ้อย ปีการผลิต 2567/2568 โดยมีเจ้าหน้าที่ของโครงการคอยให้คำแนะนำการใช้งานและติดตามการใช้งานอย่างใกล้ชิด

กลุ่มไทยรุ่งเรือง ร่วมรณรงค์ ตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้
“กลุ่มไทยรุ่งเรือง มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้เปลี่ยนมาตัดอ้อยสด อย่างเข้าใจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ในระยะยาว เราเชื่อว่า การเกษตรแบบยั่งยืน จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร ชุมชน และประเทศชาติ รวมถึงช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม" นางสาวณิชา กล่าวทิ้งท้าย