สถาบันไทยพัฒน์ จัดตั้งศูนย์ ‘อุณหภิบาล’ สนับสนุนภาคธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเครื่องมือบริหารมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 (Scope 3) ที่ตอบโจทย์ทั้งการจัดการความเสี่ยงและสร้างโอกาสผ่านห่วงโซ่การผลิต พร้อมตัวช่วยเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานที่เป็นสากล
ศูนย์อุณหภิบาล หรือ Climate-Aligned Governance Center (CAG Center) ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดตั้งขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์หลักที่จะพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือเพื่อช่วยองค์กรธุรกิจในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางกฎระเบียบ มาตรฐานและกรอบการดำเนินงานที่เป็นทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยเน้นที่การกำกับดูแลให้กิจการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคคาร์บอนต่ำ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า
จากรายงานของ CDP (Carbon Disclosure Project) เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ได้ทำการสำรวจกิจการทั่วโลกกว่า 23,000 แห่ง ผ่านการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายประมาณการที่บริษัทต้องใช้เผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่อุปทานมียอดรวมอยู่ที่ 1.62 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 2.9 เท่า เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจำนวน 5.6 หมื่นล้านเหรียญ ที่บริษัทใช้ในการจัดการหรือป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า หากบริษัทมีกลยุทธ์เพื่อจัดการหรือป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ จะประหยัดงบประมาณได้มากกว่าจำนวนที่ต้องใช้จ่ายเพื่อเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ ความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลกระทบทางการเงินสูง ได้แก่ กฎระเบียบด้านภูมิอากาศที่ออกใหม่ ส่วนปัจจัยความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทางการเงิน ได้แก่ กลไกราคาคาร์บอน (29%) พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป (22%) ข้อบังคับและกฎเกณฑ์ในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่จำหน่าย (22%)
ขณะที่ ตัวเลขยอดลงทุนของกิจการที่ถูกสำรวจจำนวน 1.97 หมื่นล้านเหรียญ สามารถสร้างให้เกิดโอกาสเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในห่วงโซ่อุปทานที่มูลค่าประมาณ 1.65 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 8.4 เท่า เมื่อเทียบกับยอดเงินที่ลงทุนไป
นอกจากนี้ ในบรรดากิจการที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศกับ CDP มีกิจการจำนวน 56% ที่ระบุถึงความริเริ่มในการลดมลอากาศของกิจการ ซึ่งมียอดเงินรวมที่ประหยัดได้ราว 3.22 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่มีกิจการจำนวน 15% ที่ระบุเจาะจงถึงการลดมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า แต่ยอดเงินรวมที่ประหยัดได้กลับมีสูงถึง 1.36 หมื่นล้านเหรียญ แสดงให้เห็นว่า โครงการลดมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 ตามข้อมูลที่กิจการรายงาน สามารถช่วยลดรายจ่ายในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับยอดเงินรวมที่ประหยัดได้จากความริเริ่มทั้งหมด
ศูนย์อุณหภิบาล (CAG Center) ที่ตั้งขึ้น จะเน้นพัฒนาขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจในการรวบรวมข้อมูลมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 เพื่อนำไปสู่การบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นความท้าทายของกิจการส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าเกี่ยวพันกับคู่ค้าที่ซึ่งกิจการไม่มีอำนาจควบคุมหรือไม่มีความเป็นเจ้าของในการสั่งการ อีกทั้งต้นทุนในการรวบรวมข้อมูลมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการดำเนินกิจกรรมการลดมลอากาศของตัวกิจการเอง
การบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า จะช่วยให้กิจการประหยัดงบประมาณได้มากกว่าจำนวนที่ต้องใช้จ่ายเพื่อเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เช่น กฎระเบียบด้านภูมิอากาศที่ออกใหม่ อีกทั้งยังสามารถสร้างให้เกิดโอกาสเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก เช่น การเข้าถึงตลาดใหม่จากความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
สำหรับกิจการที่มีความริเริ่มหรือโครงการลดมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 ก้าวหน้าระดับหนึ่งแล้ว ศูนย์อุณหภิบาลจะเน้นเพิ่มศักยภาพการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมทั้งในมิติสังคมและมิติสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เป็นสากล องค์กรธุรกิจที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 และเพิ่มศักยภาพการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานสากล สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและเข้าเป็นแนวร่วมอุณหภิบาลกับสถาบันไทยพัฒน์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ./