ภาวะโลกรวน กระทบ “ข้าวไทย” แข่งขันในตลาดโลกรุนแรงขึ้น ผนวกกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากเกษตรกรไม่ปรับตัวรับมือให้เท่าทัน ท้ายสุด ขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกจะดิ่งลง ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะสร้าง“เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ”
สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกิดจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน เพราะฝีมือมนุษย์ เช่น การตัดไม่ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ จากการขนส่ง การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการผลิตและการค้าภาคเกษตร กิจกรรมเหล่านี้ทำให้แสงอาทิตย์ส่องทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมาสู่พื้นโลกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันที่เรียกว่า สภาวะเรือนกระจก
ทั้งนี้ภาคเกษตรไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 หรือ 15.23 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงาน ที่มีสัดส่วน 69.96% เฉพาะการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีสัดส่วนถึง 50.58 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สร้างความเสียหายโดยตรงต่อภาคเกษตรไทยที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก มีผลผลิตลดลง ปัญหา Climate Change มีความแปรปรวนชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จากก่อนหน้านี้อาจจะเกิดยาวนานขึ้นต่อรอบ เช่น ระยะเวลาการเกิดเอลนีโญตั้งแต่ปี 2559 กินเวลายาวนาน 10-19 เดือนต่อรอบ จากเพียง 5-9 เดือนต่อรอบในช่วงก่อนปี 2559 ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็ปรับสูงขึ้นด้วยเป็น 1 องศาเซลเซียส จาก 0.7 องศาเซลเซียส
ผลจาก Climate Change ที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเป็นหลักได้รับผลกระทบและกดดันต่อภาพรวมผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงในปี 2559-2566 มาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 108 จากเฉลี่ยที่ระดับ 117 ในปี 2551-2558
ปลูกข้าวภาคอีสานได้รับผลกระทบมากที่สุด
ข้าวที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดกว่า 44% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานถึง 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 34.6 ล้านตัน เป็น 31.5 ล้านตัน
ทั้งนี้พื้นที่ปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 43% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ ตามด้วยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
หากเทียบช่วงเวลาก่อนและหลังปี 2559 พบว่า Climate Change ที่รุนแรงขึ้นทำให้ผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงมากที่สุดเฉลี่ยถึง 1.5 ล้านตันต่อปี หรือลดลงกว่า 9.8% เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานที่ปลูกข้าวนาปีเป็นหลัก จึงต้องพึ่งพาน้ำฝน ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลางได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งยังสามารถพึ่งพาน้ำในเขื่อนได้ ทำให้ผลผลิตข้าวภาคเหนือลดลง 9.5% และภาคกลางลดลงที่ 8.4%
ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2567) องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) หน่วยงานหลักด้านสภาพภูมิอากาศได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่า Climate Change จะมีความรุนแรงขึ้นอีกจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน ซึ่งก็เกิดจริง ปรากฏการณ์เอนโซ่ (เอลนีโญและลานีญาในปีเดียวกัน) ทำให้เกิดน้ำแล้งและน้ำท่วมในปีเดียวกัน จากการเผชิญทั้งเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งในราวครึ่งปีแรก และในครึ่งปีหลังก็พัฒนาเกิดเป็นลานีญาจนทำให้เกิดฝนตกชุก รวมถึงได้รับอิทธิพลจากลมพายุหมุนเขตร้อนหลายลูกจนทำให้เกิดฝนตกหนัก/น้ำท่วมฉับพลันทั้งในภาคเหนือและภาคใต้
ส่งผลให้ผลผลิตข้าวของไทยทั้ง 3 ภาคลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุด ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลางคงมีความเสียหายรองลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกัน
อากาศเปลี่ยนแปลง ชีวิตเกษตรกรเปลี่ยนไป
มีข้อมูลวิจัยในปี ค.ศ.2050 “ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทย” มีแนวโน้มลดลง 10-14% เมื่อเทียบกับ ค.ศ.1992-2016 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภาคอีสานจะค่อนข้างหนักพอสมควร
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัย ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวว่าภาระงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้งบประมาณใช้จ่ายเพื่อการลงทุนยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาครัฐมีแนวโน้มลดลง ท้ายสุด ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกจะลดลง ส่งผลกระทบเชิงลบย้อนกลับมาสู่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการขั้นกลางน้ำและปลายน้ำที่ต้องพึ่งพาผลผลิตจากเกษตรกรจะมีความเสี่ยงด้านต้นทุนมากขึ้น และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
ที่จริงๆ มีสิ่งควรทำหลายประเด็น แต่ที่สำคัญที่สุดคือควรปรับลดนโยบายที่ให้การช่วยเหลือแบบเยียวยาให้เปล่าและเพิ่มนโยบายที่ให้การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในการปรับตัวมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลดีกับเกษตรกรและภาคเกษตรไทยในระยะยาวและยั่งยืน ตัวอย่างเช่น นโยบายประกันรายได้หรือประกันราคาควรดำเนินการแบบชั่วคราวและมาพร้อมเงื่อนไขในการปรับตัวเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า และลดความเสี่ยงในการผลิตและการตลาด เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การไม่เผาเมื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลง ปลูกพืชตามความเหมาะสมของดินและน้ำ การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดหรือท่อนพันธุ์ทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง การอบรมและฝึกทดลองการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
“โจทย์หลักคือการสร้างความตระหนักรู้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำคือการปรับตัว และนำไปสู่ความยุติธรรมข้ามรุ่น ข้ามวัย คนรุ่นอนาคตต้องมาแบกรับ ถึงเวลาที่ต้องมานั่งคิด ไม่ให้รุ่นลูกหลาน กลับมาด่าเราได้”
“เมื่อเป็นแบบนี้ “จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร” อยากเสนอแนะว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” ควรเร่งกระบวนการผลิตต้นน้ำ “นโยบายเกษตร” ต้องเปลี่ยนไม่ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าไม่มีเงื่อนไข เพราะไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับตัว และไม่สร้างภูมิคุ้มกันในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะนี้"
สร้างเกษตรยุคใหม่ “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ”
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอีกหนึ่ง “มรสุม” ที่ชาวนาจะต้องเผชิญ แม้ว่าที่ผ่านมาชาวนาบางส่วนพยายามที่จะ “ปรับตัว” โดยตลอด ทั้งการปลูกพืชผสมผสาน ปรับปฏิทินเพาะปลูก การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ รวมถึงการหารายได้นอกภาคเกษตร แต่ก็ยังไม่สามารถตั้งรับกับอากาศในยุคโลกรวนนี้ได้
ที่ผ่านมา ประเทศผู้ผลิตข้าวชั้นนำ อย่างญี่ปุ่น ประสบปัญหาจากผลกระทบโลกร้อน จนทำให้ข้าวพันธุ์ดี “โคชิ” แตกและได้รสชาติไม่เหมือนเดิม หรือที่อินโดนีเซีย เคยประสบเหตุน้ำท่วมหนักและเกิดภัยแล้งซ้ำจนข้าวขาดแคลน
ขณะนี้งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นำเสนอแนวคิดสำคัญเพื่อแก้ปัญหานี้ คือ “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” โดยเกษตรกรยุคใหม่ควรปรับตัว 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. กระจายการผลิต ไม่ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ปลูกพืชอื่นๆ ผสมผสาน 2. ปรับปฏิทินเพาะปลูกเกษตรกรต้องรู้ว่าควรปลูกและเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ถึงให้ผลผลิตดีที่สุด โดยมีการทดลองที่สุพรรณบุรี ผลผลิตเกิน 1 ตันต่อไร่ พอเทียบกับการไม่ปรับ ผลผลิตไม่ถึง 900 กก.ต่อไร่ 3.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพโดยการส่งน้ำทางท่อแบบน้ำหยด และ 4. หารายได้นอกภาคเกษตรกรซึ่งแนวทางนี้สอดล้องกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยน เพื่อการเพิ่มผลิตภาพ ลดความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
“หน่วยงานรัฐควรสนับหนุน การพยากรณ์ที่แม่นยำ และการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากต่อเกษตรกร ปัจจุบันการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของต่างประเทศอย่างยุโรปและจีนเขาเริ่มแล้วโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพสังเคราะห์แสงโดยการใส่ยีนข้าวโพดในข้าว การเพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำโดยการใส่ยีนกล้วยไม้ในข้าว ส่วนบ้านเราการปรับพันธุ์ข้าวที่ทนน้ำท่วม มีเยอะที่ผ่านรับรอง ส่วนพันธุ์ข้าวทนสภาพแล้ง ยังทำน้อยและไม่ผ่านรับรอง ส่วนพันธุ์ทนอุณหภูมิสูง ยังไม่มี”