วานนี้ (6 มกราคม 2568) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และบริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ Teepol ลงนามความร่วมมือในโครงการ “การพัฒนากับดักราแมลงกำจัดปลวก”
โครงการดังกล่าวมุ่งวิจัยราแมลงและพัฒนากับดักสำหรับกำจัดปลวกในที่อยู่อาศัย โดยใช้วิธีชีวภาพ (Biocontrol) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ภายใต้การสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) สวทช. โดยตั้งเป้าสร้างกับดักปลวกชีวภาพ 100% ด้วยการใช้ราแมลงแทนสารเคมี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า จากข้อได้เปรียบเรื่องทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพสูงของไทย สวทช. โดยศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) ได้รวบรวมจัดทำคลังจุลินทรีย์ของประเทศ ซึ่งมีทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ เป็นจำนวนมาก โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค ได้มุ่งค้นหาและศึกษาจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นชีวภัณฑ์ด้านการเกษตรที่โดดเด่นจาก TBRC ปัจจุบันสามารถถ่ายทอดออกสู่ภาคเอกชน และผลักดันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชเพื่อใช้ในการเกษตรหลายชนิด อาทิ ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) สำหรับควบคุมแมลงกลุ่มเพลี้ย ราเมตาไรเซียม (Metarhizium) สำหรับควบคุมไรแดง เป็นต้น ดังนั้น จึงมีความต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ดังเช่นในการลงนามริเริ่มโครงการ “การพัฒนากับดักราแมลงกำจัดปลวก” ในครั้งนี้ เพื่อขยายผลสู่แมลงรบกวน ที่เป็นปัญหาสำคัญในครัวเรือน
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า ITAP เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ได้ร่วมให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการกับ บริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถผลักดัน “กับดักราแมลงกำจัดปลวก” ให้สามารถใช้งานได้ดีและเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ เพื่อจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยต่อไป
ด้าน ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันมนุษย์ให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมการเป็นอยู่ที่ปลอดภัย จึงหันมาเลือกใช้สิ่งของอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ลดสารเคมีลง ชีวภัณฑ์จึงเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้ควบคุมศัตรูพืชต่าง ๆ ที่มีความยั่งยืน นำไปสู่การศึกษาประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ราแมลงที่มีความสามารถในการฆ่าแมลงที่จำเพาะเจาะจงในปลวก Coptotermes gestroi สำหรับพัฒนาเป็นกับดักปลวกแบบชีวภาพ (100% organic) โดยใช้ราแมลงทดแทนสารเคมีกำจัดแมลงได้ในอนาคต
ในการศึกษาวิจัยด้านการใช้ชีวภัณฑ์ราแมลง เพื่อกำจัดปลวกบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากปลวกบ้าน (Coptotermes gestroi) เป็นศัตรูสำคัญและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างอาคารและบ้านเรือน ปัจจุบันวิธีที่ใช้อยู่คือสารเคมี การใช้ราแมลงมาควบคุมเป็นแนวทางใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ในการจัดการปลวกบ้านแบบธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การลดหรือทดแทนสารเคมีได้ในอนาคต
ทั้งนี้ “ปลวกบ้าน” เป็นหนึ่งในศัตรูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก สามารถกัดกินวัสดุและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างไม้ทุกที่ทั้งอาคารบ้านเรือน สำนักงาน โรงเรียน และสถานที่ราชการ เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยหรือใช้งาน การใช้สารเคมีป้องกัน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน สัตว์เลี้ยง ตามมามากมาย การใช้ชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมปลวกบ้าน จึงนับเป็นแนวทางเพื่อลดใช้สารเคมี และส่งเสริมสุขภาพของคน สัตว์เลี้ยง และรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ส่วน “ราแมลง” คือ ราที่ก่อโรคในแมลงและแมง โดยราจะเข้าไปอาศัยในตัวแมลงเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร ราจะค่อยๆ เจริญเติบโตจนแมลงเจ้าบ้านตายในที่สุด และจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสปอร์งอกบนซากของแมลง สปอร์ราที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้วก็พร้อมเข้าทำลายแมลงเจ้าบ้านตัวใหม่ต่อไป ราแมลงสามารถพบได้ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่การเกษตรที่ปลอดสารเคมี จัดว่าเป็นการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ควบคุมแมลงได้ดีขึ้น ไม่มีสารพิษตกค้าง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค